การเช็กระยะรถ ต้องตรวจสอบและเปลี่ยนอะไรบ้าง และถ้าหากไม่นำรถเข้าเช็กระยะเวลาที่ผู้ผลิตกำหนด จะมีผลเสียตามมาไหมหรือไม่
อย่างที่รู้กันว่ารถยนต์ทุกคัน เมื่อผ่านการใช้งานมาระยะหนึ่งแล้ว จำเป็นต้องนำรถเข้าไปตรวจเช็กตามจุดต่าง ๆ ที่ผู้ผลิตรถกำหนดเพื่อให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน หรือนิยมเรียกกันว่า การเช็กระยะ เพราะชิ้นส่วน อุปกรณ์ ของเหลว ถึงกำหนดที่จะต้องเปลี่ยนตามรอบอายุ มากน้อยก็ขึ้นอยู่กับการใช้งาน ซึ่งผู้ใช้รถบางส่วนอาจมองข้าม หรือละเลย เพราะยังใช้งานได้ตามปกติ และเข้าใจว่าไม่เป็นไร โดยเฉพาะเมื่อหมดระยะการรับประกัน แต่รู้หรือไม่ว่าการไม่นำรถเข้าเช็กระยะตามเวลาที่กำหนดนั้นส่งผลเสียได้มากกว่าที่คิด
เช็กระยะรถยนต์ คืออะไร
การเช็กระยะรถยนต์ เป็นการบำรุงรักษาและป้องกัน หรือหลีกเลี่ยงปัญหาจากการเสื่อมสภาพของส่วนต่าง ๆ ของรถหลังจากการใช้งานตามรอบเวลาที่ได้รับการคำนวณไว้แล้วโดยผู้ผลิต ซึ่งจะกำหนดไว้อย่างชัดเจนในกรณีของศูนย์บริการว่าต้องตรวจสอบในจุดใดบ้างในแต่ละครั้ง
สำหรับช่วงที่ต้องนำรถยนต์เข้าไปเช็กระยะนั้น จะแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ นับจากระยะเวลา (เริ่มนับตั้งแต่วันออกรถ) หรือดูจากระยะทาง (เลขไมล์ที่วิ่งใช้งานไป) ซึ่งหากคุณมีการใช้รถน้อยก็ให้คิดจากระยะเวลา แต่ถ้าหากใช้รถเป็นประจำก็ให้คิดตามระยะทางที่ใช้งาน
เช็กระยะรถยนต์ เช็กอะไรบ้าง
การเช็กระยะรถยนต์แต่ละครั้งนั้นจะทำการตรวจสอบและปรับเปลี่ยนอะไหล่ต่าง ๆ เพื่อให้รถอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ เหมาะกับการใช้งานมากที่สุด โดยสิ่งที่ต้องตรวจสอบมีดังนี้
- เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เป็นสิ่งแรกที่ต้องทำในการตรวจเช็กระยะแต่ละครั้ง ซึ่งการเปลี่ยนน้ำมันเครื่องตรงตามกำหนดจะช่วยให้เครื่องยนต์สะอาด ลดการสึกหรอและช่วยหล่อลื่นการทำงานของชิ้นส่วนต่าง ๆ ให้ทำงานได้อย่างราบรื่น
- เช็กไส้กรองระบบต่าง ๆ การตรวจสอบสภาพไส้กรอง ไม่ว่าจะเป็นไส้กรองอากาศ กรองอากาศแอร์ กรองน้ำมันเชื้อเพลิง ควรเปลี่ยนตามระยะที่กำหนด โดยรถในแต่ละรุ่นนั้นจะมีระยะเวลาที่ไม่เท่ากัน แต่ถ้าปรับเปลี่ยนแล้วจะช่วยให้เครื่องยนต์ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ลดอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง
- ตรวจสอบระดับของเหลวต่าง ๆ ระดับของเหลวที่อยู่ในระบบของเครื่องยนต์นั้นควรจะอยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่มากและน้อยเกินไป ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันเกียร์ น้ำมันเฟืองท้าย น้ำมันเบรก น้ำมันพวงมาลัยเพาเวอร์ น้ำยาหม้อน้ำ น้ำยาฉีดล้างกระจก
- ยางปัดน้ำฝนอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน เวลาที่เปิดใช้งานที่ปัดน้ำฝน ใบยางที่ก้านนั้นต้องรีดน้ำบนกระจกได้อย่างสะอาด เพราะถ้าชำรุดจะทำให้รีดน้ำไม่ดี ส่งผลต่อทัศนวิสัยในการมองเห็นของคนขับ จึงควรเปลี่ยนยางปัดน้ำฝนอย่างน้อยปีละครั้ง
- ระบบไฟส่องสว่างต้องพร้อม เช็กระบบไฟส่องสว่างว่ายังใช้งานได้ดีไหม เพราะการทำงานของสัญญาณไฟต่าง ๆ ถ้ามีความพร้อมในการใช้งาน จะทำให้การขับขี่ราบรื่นและปลอดภัยมากขึ้น
- กำลังไฟในแบตเตอรี่ต้องเต็ม แบตเตอรี่จะถูกเปลี่ยนเมื่อสตาร์ตรถไม่ติด แต่สามารถตรวจสอบได้ว่าแบตเตอรี่มีกำลังไฟที่อ่อนหรือไม่ โดยใช้เครื่องมือทดสอบเพื่อประเมินสภาพของแบตเตอรี่ว่าถึงกำหนดเวลาเปลี่ยนแล้วหรือไม่
- สายพานต้องไม่หย่อนและยาน สานพานของเครื่องยนต์นั้นมีการเสื่อมสภาพไปตามระยะทางที่ใช้งาน ซึ่งอาจทำให้เกิดเสียงดังหรือขาดระหว่างการขับขี่ จึงต้องได้รับการตรวจสอบสภาพ พร้อมทั้งความตึงก็ต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสม
- เช็กระบบเบรก เพื่อตรวจสภาพและความหนาของผ้าเบรกว่าใกล้หมดอายุแล้วหรือไม่ ในการตรวจสอบนั้นผ้าเบรกควรเปลี่ยนเมื่อความหนาของผ้าเบรกอยู่ที่ 3 มิลลิเมตร หรือต่ำกว่านั้น นอกจากนี้จะมีการตรวจสอบรอยรั่วซึมของท่อทางน้ำมันเบรก ชิ้นส่วนต่าง ๆ รวมถึงสภาพของจานเบรกว่ามีรอยสึกหรือไม่
- ยางรถยนต์ต้องอยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ยางรถยนต์นั้นจะต้องมีความลึกของร่องดอกยางมากกว่า 3 มม. เนื้อยางต้องไม่มีร่องรอยการฉีกขาด และควรปรับแรงดันลมยางตามมาตรฐานกำหนด
- ทำการสลับยางและถ่วงล้อ ในการสลับยาง ต้องสลับยางจากด้านหน้าไปไว้ด้านหลัง และปรับความสมดุลของล้อและยางด้วยการถ่วงล้อ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยยืดอายุการใช้งานของยางให้นานขึ้น การสึกหรอจากการใช้งานจะมีความสม่ำเสมอกัน
- ตรวจเช็กช่วงล่างและระบบบังคับเลี้ยว โดยช่างจะทำการตรวจสอบการรั่วซึมของระบบช่วงล่าง ทั้งในส่วนของโช้คอัพ ลูกหมาก ลูกปืนล้อ ยางหุ้มเพลา
เช็กระยะรถยนต์ แต่ละช่วงต้องเปลี่ยนอะไรบ้าง
การตรวจเช็กระยะรถยนต์จะมีคู่มือกำกับไว้ว่าเมื่อไหร่ต้องนำรถไปตรวจสภาพ ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ดังนั้นลองมาดูข้อมูลและรายละเอียดในแต่ละช่วงระยะเวลากันว่าจะต้องเปลี่ยนอะไรบ้าง โดยการนำรถเข้าไปเช็กนั้นจะเข้าตามหลักกิโลเมตร หรือตามระยะเวลาก็ได้ ขึ้นอยู่ที่ว่าแบบไหนถึงก่อนกัน
- ระยะเวลาประมาณ 1-6 เดือน หรือทุก ๆ 5,000 กิโลเมตร
ตรวจเช็กเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องและไส้กรอง พร้อมกับตรวจเช็กยางรถยนต์ ระบบจานเบรกและผ้าเบรก
- ระยะเวลาประมาณ 6-12 เดือน หรือทุก ๆ 10,000 กิโลเมตร
ตรวจเช็กเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องพร้อมไส้กรอง การสลับยางพร้อมถ่วงล้อ ตรวจความเสื่อมสภาพของที่ปัดน้ำฝน และที่ฉีดน้ำยาล้างกระจก ตรวจเช็กระบบเบรก ระบบคลัตช์ พร้อมตรวจดูการรั่วซึมของท่อและสายน้ำมันคลัตช์ ระบบช่วงล่างทั้งโช้คอัพหน้า-หลัง
- ระยะเวลาประมาณ 12-24 เดือน หรือทุก ๆ 20,000 กิโลเมตร
เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ไส้กรองและน้ำมันเกียร์ พร้อมดูความตึงและหย่อนของสายพานขับและสายพานเครื่องยนต์ เช็กระบบช่วงล่างไล่มาตั้งแต่ระบบบังคับเลี้ยว ระบบคันชัก-คันส่ง ลูกหมาก
- ระยะเวลาประมาณ 12-24 เดือน หรือทุก ๆ 40,000 กิโลเมตร
เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องและไส้กรอง เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเบรก น้ำมันคลัตช์ น้ำมันพวงมาลัย น้ำมันเกียร์ออโต้ และน้ำหล่อเย็นเครื่องยนต์ รวมทั้งจะมีการเปลี่ยนสายพานขับปั๊ม สายพานแอร์ และใบปัดน้ำฝน
- ระยะไม่เกิน 36 เดือน หรือ 60,000 กิโลเมตร
เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องและไส้กรอง อุปกรณ์บางอย่างก็ถึงกำหนดที่จะต้องเปลี่ยนใหม่ เพราะด้วยการใช้งานที่ผ่านมาหลายปี อันดับแรกที่ต้องตรวจเช็กคือแบตเตอรี่ ซึ่งการเปลี่ยนแบตเตอรี่นั้นส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับการใช้งานและวิธีการขับรถของเรา โดยทั่วไปแบตเตอรี่รถยนต์จะสามารถใช้งานประมาณ 1 ปีครึ่ง - 2 ปี รวมถึงเปลี่ยนสายหัวเทียน เปลี่ยนกรองน้ำมันเชื้อเพลิง และระบบที่เกี่ยวข้องกับหม้อน้ำ
- ระยะไม่เกิน 60 เดือน (5 ปี) หรือ 100,000 กิโลเมตรขึ้นไป
อายุการรับประกันของรถยนต์ในปัจจุบันที่มาพร้อมกับรถใหม่ป้ายแดงส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 3 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร (หรือขึ้นอยู่กับผู้ผลิตแต่ละราย) ด้วยระยะทางดังกล่าวถือว่ารถคันนั้นผ่านการใช้งานมาพอสมควร อะไหล่ชิ้นส่วนต่าง ๆ ย่อมมีการสึกหรอชำรุด สิ่งที่ควรต้องตรวจเช็กเป็นพิเศษจะเป็นยางล้อรถยนต์
ซึ่งปกติแล้วเฉลี่ยอายุการใช้งานของยางล้อจะอยู่ที่ 70,000-100,000 กิโลเมตร ควรจะต้องมีการปรับเปลี่ยนใหม่ยกชุด พร้อมตรวจเช็กและระบบของเหลวในรถทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นระบบการทำงานของหม้อน้ำทั้งระบบ ท่อยางหม้อน้ำบน-ล่าง เนื่องจากต้องทำงานกับอุณหภูมิที่ร้อนและมีแรงดันสูง จึงทำให้มีการชำรุดกรอบได้ง่าย
เช็กระยะรถยนต์ เกินเวลาที่กำหนดจะมีผลอย่างไร
การเช็กระยะรถยนต์ ตามปกติแล้วขึ้นอยู่กับทางผู้จำหน่ายกำหนด รวมถึงประเภทของรถยนต์ โดยเริ่มตั้งแต่ 1,000 กิโลเมตรแรก (สำหรับรถออกใหม่) และทุก ๆ 10,000 กิโลเมตร หรือ 15,000 กิโลเมตร ไปจนกระทั่ง 100,000 กิโลเมตร จึงสิ้นสุดการประกัน สำหรับรถใช้งานปกติ
ดังนั้น การเข้ารับบริการตรวจเช็กไม่ควรเกินระยะที่กำหนดไว้ตามคู่มือ หรือตามที่ศูนย์บริการนัดหมาย หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ควรเกินกว่า 100-200 กิโลเมตร แต่สามารถเข้าตรวจเช็กได้ก่อน ทั้งนี้ ระยะในการตรวจที่เกินกำหนดจะมีผลต่อเครื่องยนต์ เบรก และส่วนอื่น ๆ โดยตรง และที่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าการหลีกเลี่ยงหรือไม่นำรถเข้ารับการเช็กระยะตามกำหนด ผู้จำหน่ายมีสิทธิ์ไม่รับประกันหากรถเกิดเสียหายระหว่างใช้งาน โดยเฉพาะถ้าเกิดกับเรื่องของเหลว
มาถึงตรงนี้คงจะทราบกันดีแล้วว่า “การตรวจเช็กระยะรถยนต์ตามกำหนด” สำคัญขนาดไหน และเป็นเรื่องที่ผู้ใช้รถทุกท่านควรใส่ใจ เพราะหากละเลยหรือปล่อยนาน ๆ อาจต้องควักกระเป๋าจ่ายเงินค่าซ่อมแพงกว่าค่าบำรุงตามระยะก็เป็นได้
ขอบคุณข้อมูล : caranddriver.com, goldeagle.com, honda.co.th