x close

ไฟแนนซ์ยึดรถ รับมืออย่างไรไม่ให้โดนเอาเปรียบ

หากไฟแนนซ์ยึดรถแต่เราไม่ยินยอมสามารถทำได้ไหม หรือควรจะต้องรับมืออย่างไรโดยที่ไม่ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ 

ไฟแนนซ์ยึดรถ

เป็นหนี้ก็ต้องใช้ แต่ทำยังไงไม่ให้โดนเอาเปรียบ เมื่อไฟแนนซ์ยึดรถ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ เมื่อการเงินไม่เป็นใจ ปัญหานี้อาจเกิดขึ้นกับใครในวันใดวันหนึ่งก็ได้ และเราควรรู้ว่าควรต้องรับมือกับเหตุการณ์นี้อย่างไร ถึงแม้จะเป็นผู้ผิดสัญญาการชำระค่างวดและไฟแนนซ์มีสิทธิ์ยึดรถ แต่ในอีกมุมหนึ่ง ผู้เช่าซื้อนั้นก็มีสิทธิ์ตามกฎหมายอื่นที่ดีกว่าการปล่อยให้ไฟแนนซ์ยึดรถด้วยเช่นกัน ส่วนเราสามารถทำอะไรได้บ้าง รวมถึงคำถามอื่นที่คาใจ ต้องรู้ไว้อย่าให้ใครมาเอาเปรียบ

ไฟแนนซ์ยึดรถได้ตอนไหน

เมื่อผู้เช่าซื้อค้างชำระค่างวดติดต่อกัน 3 เดือนขึ้นไป หรืออีกกรณีคือมีคำสั่งจากศาลเท่านั้น ไฟแนนซ์ถึงมีสิทธิ์ยึดรถได้ และไม่สามารถยึดได้ก่อนครบ 3 เดือน เพราะจะผิด พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522

ไฟแนนซ์ยึดรถ แต่เราไม่ยินยอมผิดไหม

  หากค้างชำระค่างวดติดต่อกัน 3 เดือนขึ้นไป ไฟแนนซ์มีสิทธิ์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและสามารถยึดรถกลับไปได้ แต่…จะมายึดเอารถยนต์ไปโดยพลการ หรือผู้เช่าซื้อไม่ยินยอมไม่ได้ ดังนั้น สิ่งที่ไฟแนนซ์ทำได้คือ ต้องนำคดีไปฟ้องร้องต่อศาล โดยอาศัยคำพิพากษา คำบังคับและหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีบทบัญญัติของกฎหมายเท่านั้น

ถ้ามีเจ้าหน้าที่ไฟแนนซ์ข่มขู่ บังคับยึดรถ ด้วยการยึดกุญแจ ใช้กุญแจสำรอง ไล่เราลงจากรถ เพื่อเอารถไป  ถือว่าทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 กรณีใช้อาวุธหรือร่วมกระทำความผิดด้วยกัน ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งหากเราพบว่าเจ้าหน้าที่ไฟแนนซ์มีแนวโน้มจะทำพฤติกรรมดังกล่าว ควรใช้มือถือบันทึกวิดีโอ หรือบันทึกเสียงไว้เป็นหลักฐานนำไปแจ้งความดำเนินคดีอาญาได้เลย หากเราไม่ต้องการที่จะคืนรถ

ทำไมถึงไม่ควรให้ไฟแนนซ์ยึดรถทั้งที่ค้างชำระ

เพราะเมื่อไฟแนนซ์ยึดรถเราไปแล้ว จะเอารถเราไปขายทอดตลาดผ่านการประมูลหรือช่องทางอื่น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ขายได้ในราคาต่ำมากและไม่เพียงพอชำระหนี้ที่เหลือ หลังจากนั้น ไฟแนนซ์จะดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลให้เราชำระหนี้

อย่างไรก็ตาม การไม่คืนรถ ไม่ได้แปลว่าจะไม่ต้องใช้หนี้ เพียงแต่เมื่อเราไม่ยินยอมให้ไฟแนนซ์ยึดรถ ปล่อยให้ไฟแนนซ์ไปฟ้องร้องต่อศาลและรอให้ศาลเป็นผู้ตัดสินเพื่อให้เราชดใช้จะดีกว่า แม้ต้องมีปัญหาเรื่องติดแบล็กลิสต์ก็ตาม เพราะเมื่อเราไม่มีความสามารถในการชำระแล้วปล่อยให้ไฟแนนซ์ยึดไปจะไม่สามารถต่อรองอะไรได้อีกเลย รวมถึงไฟแนนซ์ต้องมีการเรียกเก็บค่าส่วนต่างหรือค่าเสียหายต่ออีกอยู่ดี และเราก็อาจจะไม่มีจ่ายเช่นเดิม

ไฟแนนซ์ยึดรถไปแล้วเรียกค่าส่วนต่างเกินกว่าเหตุ

กรณีหากปล่อยให้ไฟแนนซ์ยึดรถไปแล้ว มีการเรียกค่าส่วนต่าง หรือหนี้ส่วนที่เหลือ ไม่ต้องตกใจ ควรหาทนายเพื่อสู้คดี เนื่องจากไฟแนนซ์จะให้ชดใช้ในจำนวนเงินที่มากอยู่แล้ว การให้ศาลเป็นผู้ตัดสินจะให้ความยุติธรรมกับทั้งสองฝ่ายมากที่สุด และไม่ต้องกลัวติดคุกเพราะเป็นคดีแพ่ง

ไฟแนนซ์ยึดรถ

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าเมื่อเราค้างชำระค่างวดรถเกิน 3 เดือน แล้วมีไฟแนนซ์มายึดรถ เราจะมีสิทธิ์ปฏิเสธโดยให้ไฟแนนซ์ไปฟ้องร้องต่อศาลเป็นผู้สั่งยึดทรัพย์และชำระหนี้ตามความเหมาะสมได้ แต่การไม่ให้ไฟแนนซ์ยึดรถได้นั้นเราก็ไม่มีสิทธิ์นำรถไปจำนอง หรือขายโดยพลการ อันนี้ ทำไม่ได้และผิดกฎหมายคดีอาญา ซึ่งสุดท้ายแล้วเป็นหนี้ก็ต้องใช้ เพียงแต่ไม่ควรมีใครต้องโดนเอาเปรียบเท่านั้น  

บทความที่เกี่ยวข้องกับเรื่องน่ารู้รถยนต์

ขอบคุณข้อมูลจาก : krisdika.go.th, ratchakitcha.soc.go.th และกรมประชาสัมพันธ์

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไฟแนนซ์ยึดรถ รับมืออย่างไรไม่ให้โดนเอาเปรียบ อัปเดตล่าสุด 13 ธันวาคม 2566 เวลา 09:23:05 37,472 อ่าน
TOP