ขายรถติดไฟแนนซ์ หรือรถที่ยังผ่อนไม่หมด ซึ่งไฟแนนซ์ยังเป็นเจ้าของรถอยู่สามารถทำได้ไหม ผิดกฎหมายหรือเปล่า และถ้ามีความจำเป็นต้องขายจริง ๆ ควรทำอย่างไรดี เพราะคืนรถก็อาจไม่คุ้ม
ขายรถติดไฟแนนซ์ทำได้ไหม หากมีความจำเป็นต้องขายรถยนต์โดยที่ยังผ่อนไม่หมดไม่ว่าจะเหลืออยู่กี่งวดก็ตาม เพราะเจ้าของรถ หรือผู้ครอบครองตัวจริงคือไฟแนนซ์ถือว่าเป็นเจ้าของรถตัวจริงเพราะจ่ายเงินค่ารถให้เราไปก่อนทั้งหมด เราจึงตกอยู่ในฐานะผู้เช่าซื้อ หรือผู้ครอบครอง ดังนั้น การจะขายรถที่ตัวเองยังไม่ได้เป็นเจ้าของ ซึ่งอาจเรียกว่ารถติดไฟแนนซ์ ในรูปแบบขายดาวน์ ยกให้ฟรีไปเปลี่ยนสัญญาผ่อนต่อ จริง ๆ แล้วผิดกฎหมายหรือเปล่า และถ้ามีความจำเป็นต้องขายจริง ๆ ควรทำอย่างไร
ขายรถติดไฟแนนซ์ ผิดกฎหมายหรือไม่?
การขายรถติดไฟแนนซ์ หรือรถที่ยังผ่อนไม่หมด ซึ่งเราเป็นเพียงแค่ผู้ครอบครอง ไม่ใช่เจ้าของตามกฎหมาย (ผู้ถือกรรมสิทธิ์) ในทางเทคนิคแล้วไม่สามารถนำไปขายต่อได้อย่างถูกกฎหมายโดยสิ้นเชิง ยกเว้นกรณีที่ไฟแนนซ์เป็นผู้ยินยอมให้ขายได้เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม การขายรถติดไฟแนนซ์ โดยที่ไฟแนนซ์ไม่ยินยอมเป็นไปได้ยาก เพราะจะไม่สามารถโอนได้ แต่ถ้าบังเอิญมีคนรับซื้อ ผู้ขายก็จะมีความผิดอาญาฐานยักยอกทรัพย์ และความผิดทางแพ่งหากชำระค่างวดไม่ครบ ส่วนผู้ที่ซื้อรถต่อก็จะมีความผิดเช่นกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 “ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ขายรถติดไฟแนนซ์ ต้องทําอย่างไร ?
หากรถติดไฟแนนซ์ของสถาบันทางการเงินไหนก็ตาม เจ้าของรถไม่มีสิทธิ์นำไปขายโดยพลการ แต่ถ้าต้องการขายจริง ๆ สามารถทำได้อย่างถูกต้อง ดังนี้
1. จ่ายเงินสดปิดไฟแนนซ์ก่อนขายรถ ซึ่งจะทำให้คุณกลายเป็นเจ้าของรถ 100% และสามารถนำรถไปใช้ต่อหรือขายได้ แต่ปัญหาคือต้องมีเงินสดไปปิดยอดเสียก่อน ถ้าไม่สามารถทำได้ก็ต้องใช้วิธีขายดาวน์
2. ขายเป็นเงินสด ให้ผู้ซื้อปิดยอด หากไม่สามารถปิดยอดค้างกับไฟแนนซ์ได้เอง ก็ต้องอาศัยผู้อื่นปิดยอดให้ ด้วยการประกาศขายเป็นเงินสด และให้ผู้ซื้อไปปิดยอดกับไฟแนนซ์โดยตรง ซึ่งกรณีนี้จะทำได้ก็ต่อเมื่อยอดค้างชำระไม่สูงไปกว่าราคาตัวรถ หรือถ้าเกินเราอาจต้องช่วยเติมส่วนที่เกินเพื่อให้หมดภาระ แต่ถ้าราคาขายสูงกว่าค่างวดที่เหลือก็จะได้เงินส่วนต่าง
3. ขายดาวน์แบบเปลี่ยนสัญญาให้ไปผ่อนต่อ ถ้าหาผู้ซื้อไม่สะดวกจ่ายเป็นเงินสด จะขายดาวน์แล้วให้ผู้ซื้อไปทำเรื่องเปลี่ยนสัญญากับไฟแนนซ์ก็ได้ แต่ต้องให้ไฟแนนซ์อนุมัติเสียก่อน สำหรับวิธีนี้ ถ้าผ่อนมาไม่นาน อาจต้องยกรถให้ฟรี ๆ หรือช่วยออกเงินบางส่วนเพื่อปิดยอด หากค่างวดที่เหลือรวมดอกแล้วสูงกว่าราคารถ ซื้อแล้วไม่คุ้ม ย่อมไม่มีใครอยากซื้อ
4. ขายผ่านเต็นท์มือสอง ในกรณีที่ผู้ขายรถต้องการรีบขายด่วน แต่ไม่สามารถหาผู้ซื้อได้ การขายผ่านเต๊นท์รถมือสองก็เป็นอีกทางเลือกที่รวดเร็ว โดยทางเต๊นท์สามารถทำหน้าที่ติดต่อประสานงานกับทางไฟแนนซ์ได้โดยตรง และสามารถจ่ายปิดไฟแนนซ์ได้ทันที แต่เต๊นท์มักรับซื้อในราคาต่ำ (ตามกลไกลของธุรกิจ) ปัญหาที่จะเจอคือ ราคารับซื้ออาจไม่พอปิดยอด
แต่สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการขายรถติดไฟไฟแนนซ์ไม่ว่าจะเป็นวิธีใด ๆ ที่กล่าวไปเบื้องต้นแล้วนั้น คุณต้องอย่าลืมตรวจเช็กสัญญาซื้อขาย หรือสัญญาการผ่อนชำระค่างวดรถว่าไม่มีชื่อคุณเป็นผู้รับผิดชอบแล้ว มิฉะนั้นหากผู้ซื้อต่อ เกิดเบี้ยวไม่จ่ายค่างวด เราเองจะต้องมานั่งแบกภาระผ่อนรถต่อ โดยไม่มีรถขับ
ขอบคุณข้อมูลจาก : deka.in.th, oic.go.th, goget.com.au, carsguide.com.au