วิธีต่อภาษีรถออนไลน์ 2567 สำหรับรถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์ ต้องเริ่มต้นยังไง มีกี่ช่องทาง แล้วต้องใช้เอกสารแบบไหนสำหรับการต่อภาษีออนไลน์ ใครยังไม่เคยลองไปดูกันเลย
ปัจจุบันการ ต่อภาษีรถยนต์ ต่อภาษีมอเตอร์ไซค์ประจำปี สามารถทำได้หลายวิธี และการต่อภาษีรถออนไลน์เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะสะดวกต่อผู้ใช้รถทุกประเภท สามารถทำได้ทั้งรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ โดยกรมการขนส่งทางบกเปิดให้บริการชำระภาษีรถประจำปี ผ่านเว็บไซต์ eservice.dlt.go.th รวมถึงช่องทางอื่นอย่างแอปพลิเคชัน และจุดบริการเคาน์เตอร์เซอร์วิส
เงื่อนไขรถที่สามารถต่อภาษีรถออนไลน์ได้
- รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน, รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน, รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล และรถจักรยานยนต์
- รถยนต์อายุไม่เกิน 7 ปี (ถ้าเกิน 7 ปี ต้องทำการตรวจสภาพที่สถานตรวจสภาพรถ หรือ ตรอ. ให้เรียบร้อยก่อน)
- รถจักรยานยนต์อายุรถไม่เกิน 5 ปี (ถ้าเกิน 5 ปี ต้องทำการตรวจสภาพที่สถานตรวจสภาพรถ หรือ ตรอ. ให้เรียบร้อยก่อน)
- รถค้างชำระภาษีไม่เกิน 1 ปี
- รถยนต์ติดแก๊ส ต้องยื่นเอกสารรับรองการติดแก๊สที่ถูกต้อง พร้อมใบตรวจสภาพจากวิศวกร
- รถทุกจังหวัดที่มีสถานะทะเบียนปกติ หรือไม่ถูกระงับทะเบียนเนื่องจากค้างชำระภาษีประจำปี ติดต่อกันครบ 3 ปี
- รถที่ไม่ได้รับการยกเว้นภาษี/ไม่ใช่รถของหน่วยงานราชการ
- รถที่ไม่ถูกอายัด
- สามารถชำระภาษีรถล่วงหน้าก่อนสิ้นอายุภาษีได้ไม่เกิน 90 วัน
เอกสารในการขอต่อภาษีรถยนต์ออนไลน์
- พ.ร.บ รถยนต์
- สำเนาทะเบียนรถยนต์ (กรณีรถติดไฟแนนซ์ให้ใช้สำเนาทะเบียนจากสถานบันการเงิน)
- ใบตรวจสภาพรถยนต์ สำหรับรถยนต์ที่เกิน 7 ปี
- รถยนต์ติดแก๊ส ต้องยื่นเอกสารรับรองการติดแก๊สที่ถูกต้อง พร้อมใบตรวจสภาพจากวิศวกร
ขั้นตอนการต่อภาษีรถยนต์ออนไลน์
1. ไปที่เว็บไซต์ https://eservice.dlt.go.th
2. Log-in เข้าสู่ระบบโดยใช้เลขบัตรประชาชน พร้อมใส่รหัสผ่าน หากใครที่เพิ่งเข้ามาใช้งานครั้งแรกให้ลงทะเบียนสมาชิกใหม่ก่อน
3. เมื่อเข้าสู่ระบบเรียบร้อยแล้วไปที่หัวข้อ บริการ เลือก ชำระภาษีรถประจำปี และ ชำระภาษีรถประจำปีผ่านอินเตอร์เน็ต
4. ลงทะเบียนรถที่จะชำระภาษีรถประจำปี กรอกข้อมูลประเภทรถ จังหวัดตามป้ายทะเบียน เลขตามทะเบียนรถ และชื่อผู้ครอบครอง หากเคยใช้งานแล้วสามารถเลือกรายชื่อรถที่ต้องการชำระภาษีรถประจำปีด้านล่างได้เลย
5. กรอกข้อมูลต่าง ๆ ให้ครบถ้วน หากยังไม่มี พ.ร.บ. สามารถซื้อในขั้นตอนนี้ได้เลย
6. กรอกที่อยู่ในการจัดส่งเอกสาร
7. เลือกรูปแบบวิธีการชำระเงิน โดยจะมีให้เลือก 3 รูปแบบได้แก่
- ชำระเงินโดยหักจากบัญชีเงินฝากธนาคาร ปัจจุบันมีธนาคารที่รองรับ 3 ธนาคาร คือ ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และ ธนาคารยูโอบี
- ชำระเงินโดยบัตรเครดิต
- ชำระเงินผ่านเคาน์เตอร์บริการต่าง ๆ ตู้ ATM มีที่ร่วมโครงการ ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารธนชาต, ธนาคาร ธ.ก.ส, ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารไทยธนชาต, ธนาคารยูโอบี, ธนาคารไทยพาณิชย์, เคาน์เตอร์เซอร์วิ, ทรู มันนี่ เซอร์วิส และเทสโก้ โลตัส
8. ตรวจสอบการชำระเงินและสถานะการจัดส่งได้ที่หัวข้อ ตรวจสอบผลการชำระภาษี/เปลี่ยนช่องทางชำระเงิน
ต่อภาษีรถออนไลน์ จะได้รับเอกสารภายในกี่วัน ?
สามารถรอรับเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีและใบเสร็จรับเงินทางไปรษณีย์ได้ภายใน 5 วันทำการนับจากวันชำระเงิน
อย่างไรก็ตาม หากไม่สะดวกต่อภาษีรถออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ eservice.dlt.go.th สามารถเลือกต่อภาษีออนไลน์ผ่านช่องทางอื่นได้ เช่น แอปพลิชัน DLT Vehicle Tax, mPAY และ Truemoney Wallet บนสมาร์ตโฟนได้ทั้ง iOS และ Android หรือที่ จุดบริการเคาน์เตอร์เซอร์วิส และรอรับเครื่องหมายการเสียภาษีและใบเสร็จรับเงินทางไปรษณีย์ภายใน 5 วันทำการนับจากวันชำระเงินเช่นกัน
บทความที่เกี่ยวข้องกับเรื่องต่อภาษี
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก : กรมการขนส่งทางบก