ต่อภาษีรถยนต์ออนไลน์ รถเกิน 7 ปี ทำได้ง่าย ๆ อยู่ที่ไหนก็ทำได้ ไม่ยุ่งยาก ในไม่กี่ขั้นตอน
ในการต่อภาษีรถยนต์ประจำปี เมื่อก่อนนั้นรถยนต์ที่อายุเกิน 7 ปี จะไม่สามารถยื่นชำระภาษีรถยนต์ประจำปีทางออนไลน์ได้ แต่ล่าสุดนี้ทางกรมการขนส่งทางบกอนุญาตให้รถยนต์ที่มีอายุเกิน 7 ปี (นับตั้งแต่วันที่จดทะเบียนครั้งแรก) รวมถึงรถมอเตอร์ไซค์ที่มีอายุเกิน 5 ปี สามารถยื่นชำระภาษีประจำปีผ่านช่องทางออนไลน์ได้แล้ว อีกทั้งยังมีวิธีการยื่นที่ไม่ยากและวุ่นวาย อยู่ที่ไหนก็สามารถทำได้ ส่วนจะมีขั้นตอนแบบไหน และจะต้องทำอย่างไรบ้าง ไปดูกันเลย
ต่อภาษีรถยนต์ออนไลน์ รถเกิน 7 ปี จะต้องเตรียมอะไรบ้าง
ก่อนที่จะยื่นต่อภาษีรถยนต์ออนไลน์ รถเกิน 7 ปี ต้องนำรถยนต์ที่มีอายุเกิน 7 ปี นับตั้งแต่วันที่จดทะเบียนครั้งแรก ไปตรวจสภาพรถที่ ตรอ. หรือสถานตรวจสภาพรถเอกชน ให้เรียบร้อยเสียก่อน ซึ่งในการตรวจสภาพควรเตรียมสมุดเล่มทะเบียนรถหรือสำเนาเล่มทะเบียนรถไปด้วย เพื่อเช็กข้อมูลและนำส่งไปยังกรมการขนส่งทางบกเมื่อตรวจสภาพเรียบร้อยจาก ตรอ. จะได้ใบรับรองการตรวจสภาพรถตามแบบที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด นอกจากนั้นควรจะต้องต่อ พ.ร.บ.ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัย ของปีนั้นให้เรียบร้อย ซึ่งสามารถทำที่ ตรอ. นั้น ๆ ได้เลย หรือจะมาทำการซื้อในขณะที่กำลังทำรายการต่อภาษีออนไลน์บนเว็บไซต์ของกรมการขนส่งทางบกก็ได้เช่นกัน
ตรวจสภาพรถยนต์ ตรวจอะไรบ้าง ราคาเท่าไหร่ ?
ในการตรวจสภาพรถยนต์นั้น ทาง ตรอ. จะตรวจให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งตัวรถต้องมีสภาพที่มั่นคง แข็งแรง มีลักษณะ ขนาด และเครื่องอุปกรณ์ส่วนควบของรถถูกต้องตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ส่วนค่าตรวจสภาพนั้นจะอยู่ที่ 200 บาท สำหรับรถยนต์ที่มีน้ำหนักรถเปล่าไม่เกิน 2,000 กิโลกรัม ส่วนรถยนต์ที่มีน้ำหนักรถเปล่าเกิน 2,000 กิโลกรัม จะเสียค่าตรวจสภาพคันละ 300 บาท โดยรายละเอียดในการตรวจจะมีดังนี้
-
ตรวจสอบความถูกต้องข้อมูลของรถ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นป้ายทะเบียนรถ ลักษณะรถ หมายเลขตัวถัง เลขเครื่องยนต์
-
ตรวจสภาพของตัวรถ ไม่ว่าจะเป็นตัวถัง สี อุปกรณ์เกี่ยวกับความปลอดภัย พวงมาลัย ที่ปัดน้ำฝน ว่าพร้อมใช้งานมากน้อยขนาดไหน
-
ตรวจสอบระบบบังคับเลี้ยว ระบบเบรก ว่ายังใช้งานได้ปกติหรือไม่
-
ทดสอบประสิทธิภาพการเบรก โดยตรวจสอบอุปกรณ์ทุกชิ้นให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน
-
ตรวจสอบวัดโคมไฟหน้า ทิศทางการเบี่ยงเบนของแสง และวัดค่าความเข้มของแสง
-
ตรวจสอบวัดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) และก๊าซไฮโดรคาร์บอน (HC) ของรถยนต์ส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง
-
รถยนต์เครื่องดีเซล ต้องตรวจควันดำ โดยระบบการกรองต้องไม่เกินร้อยละ 50 และระบบความทึบแสงต้องไม่เกินร้อยละ 45
-
การตรวจวัดเสียงรถ ต้องไม่เกิน 100 เดซิเบล
-
สำหรับรถใช้แก๊สนั้นจะต้องมีการตรวจเพิ่มเติมคือ การตรวจทดสอบ เช็กตามข้อต่อ ตลอดจนท่อและอุปกรณ์แก๊สทั้งระบบ ว่ามีความสมบูรณ์พร้อมใช้งานหรือไม่ โดยถังแก๊สต้องมีอายุไม่เกิน 10 ปี
-
สำหรับรถที่ติดถังแก๊สที่มีอายุเกิน 10 ปี จะมีการตรวจสอบว่ายังใช้งานได้ต่ออีกหรือไม่ โดยจะพิจารณาจากอุปกรณ์ที่ติดตั้งว่ามีความสมบูรณ์พร้อมใช้งานมากน้อยขนาดไหน ซึ่งถ้าตรวจสอบแล้วก็จะออกใบรับรองเพื่อยืดอายุการใช้งานต่อได้อีก 5 ปี ตามกฎหมาย
ซึ่งหลังจากการตรวจสภาพผ่านแล้วทาง ตรอ. จะออกใบรายงานผลการตรวจสภาพรถตามกฎหมาย ส่วนข้อมูลของตัวรถที่ได้รับการตรวจสภาพผ่านแล้วนั้นจะถูกส่งเข้าไปยังขนส่งแบบอัตโนมัติ
เงื่อนไขรถที่สามารถต่อภาษีรถออนไลน์รถเกิน 7 ปี
-
รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน, รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน, รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล และรถจักรยานยนต์
-
รถเกิน 7 ปี ต้องทำการตรวจสภาพรถก่อน
-
รถค้างชำระภาษีไม่เกิน 1 ปี
-
รถยนต์ที่ไม่ใช้เชื้อเพลิงแก๊สทุกชนิด
-
รถทุกจังหวัดที่มีสถานะทะเบียนปกติ หรือไม่ถูกระงับทะเบียนเนื่องจากค้างชำระภาษีประจำปีติดต่อกันครบ 3 ปี
-
รถที่ไม่ได้รับการยกเว้นภาษี/ไม่ใช่รถของหน่วยงานราชการ
-
รถที่ไม่ถูกอายัด
-
สามารถชำระภาษีรถล่วงหน้าก่อนสิ้นอายุภาษีได้ไม่เกิน 90 วัน
ขั้นตอนการต่อภาษีออนไลน์รถเกิน 7 ปี
1. หลังจากที่มีข้อมูลครบถ้วนแล้วไม่ว่าจะเป็นการตรวจสภาพที่ผ่านมาตรฐาน รวมถึงได้ต่อ พ.ร.บ.ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัย ก็เข้าไปที่เว็บไซต์ E-Service ของกรมการขนส่งทางบก eservice.dlt.go.th
2. หลังจากนั้นให้ Log-in เข้าสู่ระบบโดยใช้เลขบัตรประชาชน พร้อมใส่รหัสผ่าน หากใครที่เพิ่งเข้ามาใช้งานครั้งแรกและยังไม่เคยยื่นชำระภาษีออนไลน์ ให้ลงทะเบียนสมาชิกใหม่ก่อนให้เรียบร้อย
3. สำหรับผู้ที่ไม่เคยลงทะเบียนให้กรอกข้อมูลส่วนตัว บัตรประชาชน ที่อยู่ปัจจุบันหรือที่อยู่ส่งเอกสาร พร้อมเบอร์โทรศัพท์มือถือ อีเมล และตั้งรหัสผ่าน
4. หลังจากลงทะเบียนเรียบร้อย และล็อกอินเข้าระบบ ให้มาที่ช่องบริการ เลือกชำระภาษีรถประจำปีผ่านอินเทอร์เน็ต
5. กรอกรายละเอียดประเภทรถ และทะเบียนรถ จังหวัดตามป้ายทะเบียน และชื่อผู้ครอบครองรถ เมื่อกรอกข้อมูลทั้งหมดเสร็จจะปรากฏที่ช่องรายการข้อมูลทะเบียนรถ โดย 1 ยูสเซอร์ในการลงทะเบียนนั้นสามารถยื่นภาษีออนไลน์ให้หลาย ๆ คนได้ เพียงกรอกข้อมูลประเภทรถเพิ่มลงไป
6. หลังจากนั้นให้ไปกดที่ช่องยื่นชำระภาษี แต่สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้ตรวจสภาพรถจะไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ แต่ถ้าได้รับการตรวจสภาพผ่านเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทางขนส่งจะได้รับข้อมูลจากทาง ตรอ.
7. กรอกข้อมูล พ.ร.บ. ที่ได้ทำการซื้อมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเลขกรมธรรม์ บริษัทที่ซื้อ พ.ร.บ. แต่ถ้าหากว่าใครยังไม่มี พ.ร.บ. ก็สามารถซื้อแบบออนไลน์ได้เลย
8. กรอกชื่อ-ที่อยู่ส่งเอกสาร โดยใส่ข้อมูลให้ครบถ้วน
9. เสร็จแล้วให้เลือก ช่องทางการชำระเงิน โดยระบบจะมีให้เลือกหลายช่องทาง ทั้งหักบัญชีธนาคาร, ชำระผ่านบัตรเครดิต, ชำระผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส พร้อมกับตรวจสอบข้อมูลการชำระเงิน และตรวจสอบข้อมูลที่อยู่ในการจัดส่งเอกสาร
10. ในกรณีที่จะชำระเงินผ่านเคาน์เตอร์บริการ ให้พิมพ์ใบแจ้งชำระภาษีรถ แล้วนำในส่วนนี้ไปจ่ายที่เคาน์เตอร์เซอร์วิสทุกแห่ง หรือเคาร์เตอร์ธนาคารและตู้ ATM
11. หลังจากทำรายการเสร็จทุกขั้นตอนให้กลับมาที่หน้ายื่นชำระภาษีที่หน้าแรก เพื่อตรวจสอบผลการชำระภาษี ซึ่งจะมีรายละเอียดทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นวันที่ยื่นชำระ, วันสิ้นสุดอายุภาษี, วันสุดท้ายที่สามารถจะชำระเงินได้ พร้อมกับบอกถึงสถานะการชำระเงินว่าอยู่ในขั้นตอนไหน อีกทั้งยังสามารถเลือกเปลี่ยนช่องทางชำระเงินใหม่ได้
ต่อภาษีรถออนไลน์รถเกิน 7 ปี จะได้รับเอกสารภายในกี่วัน ?
หลังจากที่ชำระเงินเรียบร้อยแล้ว ทางกรมการขนส่งทางบกจะส่งเอกสารมาตามที่เราเลือกช่องทางเอาไว้ โดยจะได้รับเอกสารทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีและใบเสร็จรับเงิน ภายใน 3-5 วันทำการ
ในการยื่นชำระภาษีไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ที่ไม่เกิน 7 ปี และรถยนต์ที่มีอายุเกิน 7 ปี สามารถยื่นชำระล่วงหน้าได้ไม่เกิน 90 วัน ก่อนวันครบกำหนดชำระภาษี ทั้งนี้ สำหรับรถติดตั้งแก๊ส และรถที่ค้างชำระภาษีรถเกิน 3 ปี จะไม่สามารถยื่นชำระภาษีผ่านระบบออนไลน์ได้ โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ดำเนินการชำระภาษีรถประจำปีติดต่อกันเกิน 3 ปี จะทำให้ทะเบียนรถของท่านนั้นถูกระงับ ทำให้ไม่สามารถดำเนินการทางทะเบียนรถได้ในทุกกรณี ไม่ว่าจะเป็นการโอนรถ เปลี่ยนชื่อ แก้ไขรายการคู่มือรถ เป็นต้น
ทั้งนี้ การต่อภาษีรถออนไลน์ ถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่กรมการขนส่งทางบกเปิดขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน เจ้าของรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ ในการต่อภาษีโดยไม่ต้องเดินทางมาที่สำนักงาน สามารถต่อภาษีจากที่ไหนก็ได้ พร้อมรอรับเอกสาร หรือป้ายภาษีอยู่ที่บ้านได้เลย
บทความที่เกี่ยวข้องกับการต่อภาษีรถยนต์และมอเตอร์ไซค์
ขอบคุณข้อมูลจาก : eservice.dlt.go.th, กรมการขนส่งทางบก