คืนรถให้ไฟแนนซ์ เพราะผ่อนรถต่อไม่ไหว ทำอย่างไรให้เสียประโยชน์น้อยที่สุด
การคืนรถให้ไฟแนนซ์ เมื่อผ่อนรถต่อไปไม่ไหว ไม่สามารถแบกรับภาระค่างวด ค่าผ่อนรถได้ มีขั้นตอนอย่างไร จะติดต่อบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อรถกับธนาคาร หรือสถาบันการเงินอย่างไร ให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด มาดูกัน
ในปัจจุบันวิกฤตการณ์และสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซา น่าจะส่งผลกระทบถึงการใช้ชีวิตของหลาย ๆ คน ทำให้ต้องขาดรายได้ประจำ หรือบางคนถึงขั้นต้องว่างงาน และนั่นคงเป็นปัญหาที่หนักหนาอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่เป็นเจ้าของรถยนต์แล้วยังต้องมีภาระผ่อนรถอยู่

แน่นอนว่าในสถานการณ์แบบนี้ไม่ว่าจะยากดีมีจนก็ต้องดิ้นรนต่อสู้กันไป และหากมาถึงจุดที่ไม่อาจไปต่อ แบกรับภาระ ค่างวด ค่าผ่อนรถ ต่อไปไม่ไหว การตัดสินใจขายรถเพื่อตัดค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ในแต่ละเดือน แล้วแลกเป็นเงินทุนมาหมุนเวียนต่อชีวิตก่อนน่าจะเป็นทางออกที่ดี
แต่ในกรณีที่ไม่อาจจะหาผู้มารับช่วงซื้อรถต่อได้ หนทางสุดท้ายก็ต้องไปถึงการขอยกเลิกสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กับธนาคารหรือสถาบันการเงิน หรือการคืนรถให้ไฟแนนซ์ ซึ่งนับเป็นทางออกที่ดีกว่าปล่อยให้รถถูกยึดหรือถูกฟ้องร้อง โดยมีรายละเอียดขั้นตอนที่ควรทำความเข้าใจก่อน ดังนี้
สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการคืนรถให้ไฟแนนซ์
ต้องเข้าใจก่อนว่า ไฟแนนซ์ หรือสถาบันการเงินทั้งหลาย คือบริษัทที่ประกอบธุรกิจการกู้ยืมเงิน และในการซื้อรถยนต์นั้นอธิบายได้ว่าบริษัทไฟแนนซ์เป็นฝ่ายให้ผู้ซื้อยืมเงินมาชำระค่ารถทั้งหมดก่อน แล้วค่อยผ่อนชำระให้ครบจำนวนทุกงวดพร้อมกับดอกเบี้ยตามที่ระบุในสัญญา ดังนั้น การนำรถยนต์ไปคืนย่อมไม่ได้ก่อให้เกิดผลประโยชน์ใด ๆ ต่อไฟแนนซ์ ทว่าก็ถือเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ตามกฎหมาย
2. คืนรถแล้วอาจต้องใช้หนี้ต่อ
เมื่อมีการคืนรถเกิดขึ้นแล้ว ไฟแนนซ์จะนำรถไปขายทอดตลาดทันทีเพื่อตีมูลค่าออกมาว่าสามารถหักลบกลบหนี้ได้หรือไม่ เช่น ผู้ซื้อซึ่งถึงตอนนี้ถือเป็นผู้ครอบครองรถ หรือผู้ใช้รถเหลือค่างวดรถยนต์ที่ต้องผ่อนอยู่ รวมแล้วประมาณ 300,000 บาท ไฟแนนซ์นำรถยนต์ไปขายได้ 200,000 บาท ส่วนต่าง 100,000 บาท ที่เหลือผู้ซื้อต้องเป็นผู้รับผิดชอบ หมายความว่านอกจากจะไม่มีรถใช้และต้องจ่ายหนี้ที่เหลือต่อไป

สำหรับกรณีนี้มักเกิดจากการที่ไฟแนนซ์ได้ดำเนินการยึดรถคืน และดำเนินคดีฟ้องร้องเรียกเอาเงินส่วนต่างที่เกิดขึ้น ซึ่งถือได้ว่าผู้ใช้รถต้องเป็นฝ่ายเสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา และยังเสียเครดิตอีกด้วย
3. ผู้ค้ำประกันต้องระวังให้ดี
มีบางกรณีที่ผู้ใช้รถนำรถไปคืนให้กับไฟแนนซ์ เมื่อขายทอดตลาดแล้วเกิดส่วนต่างขึ้นกลับไม่รับผิดชอบ จนเวลาผ่านไปมีการติดตามหนี้สินกับผู้ค้ำประกัน สร้างความเดือดร้อนจนทำให้มีการฟ้องร้องเกิดขึ้น แม้จะประนีประนอมได้ในชั้นศาล แต่ผู้ค้ำก็ต้องรับผิดชอบในหนี้ส่วนที่เหลืออยู่ดี
ฉะนั้น ประเด็นสำคัญในการคืนรถให้ไฟแนนซ์คือ แม้จะคืนรถแล้วแต่ก็อาจจะยังมีหนี้สินส่วนต่างที่ต้องเป็นภาระชดใช้ต่อไปอีก จึงกล่าวได้ว่านี่ควรจะเป็นทางเลือกสุดท้ายสำหรับการปลดภาระหนี้สินรถยนต์ ซึ่งก่อนจะมาถึงกระบวนการนี้ อาจจะยังมีทางออกอื่น ๆ ที่ควรพิจารณาก่อนดังต่อไปนี้
วิธีการแก้ปัญหาก่อนตัดสินใจคืนรถให้ไฟแนนซ์
1. ปรึกษากับบริษัทไฟแนนซ์เพื่อปรับโครงสร้างหนี้รถยนต์
กระบวนการนี้คล้ายกับการรีไฟแนนซ์ กล่าวคือเมื่อประสบปัญหาจริง ๆ ควรมีการพูดคุยเรื่องค่างวดให้ผ่อนน้อยลง หรือผ่อนให้นานขึ้นได้ ซึ่งตามที่กล่าวไปก่อนแล้วว่าบริษัทไฟแนนซ์ย่อมต้องการได้รับผลตอบแทนเป็นเงินต้นและดอกเบี้ยมากกว่าการได้เป็นรถยนต์คืนอยู่แล้ว แม้จะต้องยืดเวลาออกไปนานกว่าที่ระบุในสัญญาเดิมก็ตาม

2. ขายรถต่อให้คนอื่นด้วยตัวเอง
เมื่อพิจารณาแล้วว่าผ่อนรถต่อไม่ไหวจริง ๆ ควรเลือกวิธีขายรถให้ผู้อื่น ไม่ว่าจะด้วยการประกาศขายทางออนไลน์และสื่อโซเชียลต่าง ๆ โดยยังไม่ต้องคิดถึงเรื่องของการขาดทุน จากนั้นประสานกับผู้ซื้อรถต่อจากเรา ให้ไปดำเนินการเปลี่ยนสัญญาเช่าซื้อกับบริษัทไฟแนนซ์ วิธีนี้อาจจะมีขั้นตอนที่ต้องรอให้ไฟแนนซ์อนุมัติเงินกู้ให้กับผู้ซื้อรถรายใหม่ แต่แน่นอนว่านี่คือวิธีที่อาจะทำให้ได้เงินคืนมาบ้าง หรืออย่างน้อยก็ไม่ต้องเสียเงินส่วนต่างและไม่เสียเครดิตอีกด้วย
3. ยกรถให้ญาติสนิทหรือเพื่อนสนิทไปผ่อนต่อ
ในกรณีนี้แนะนำว่าควรเป็นญาติสนิทหรือเพื่อนสนิทที่ไว้ใจได้จริง ๆ เพราะวิธีนี้เท่ากับเป็นการยกรถให้ผู้อื่นแบบฟรี ๆ โดยที่ให้ญาติหรือเพื่อนคนนั้นมาผ่อนรถเราต่อ และเมื่อตกลงกันเรียบร้อยแล้ว อย่าลืมว่าจำเป็นต้องดำเนินการเปลี่ยนสัญญาเช่าซื้อที่บริษัทไฟแนนซ์ให้เรียบร้อย โดยเราเป็นคนออกค่าใช้จ่ายรายการดำเนินการนิดหน่อย ข้อดีของวิธีนี้คือคุ้มค่ากว่าการนำรถไปคืนหรือปล่อยให้รถถูกยึดแน่นอน
อย่างไรก็ตาม หากวิธีอื่น ๆ ยังไม่สามารถนำไปสู่ทางออกได้ การคืนรถให้ไฟแนนซ์คงเป็นทางเลือกสุดท้าย ซึ่งมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
วิธีการคืนรถให้ไฟแนนซ์ ให้เสียประโยชน์น้อยที่สุด
1. อย่าผิดนัดชำระโดยเด็ดขาด
โดยส่วนใหญ่ เมื่อมีการทำสัญญาเช่าซื้อกับไฟแนนซ์รถยนต์แล้วผ่อนไม่ไหว ผู้เช่าซื้อหรือผู้ใช้รถบางคนมักเลือกที่จะหยุดส่ง หรือขาดส่งงวดรถ แบบที่เรียกกันว่า ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย ติดต่อกันไปเรื่อย ๆ จนเกิน 3 งวด และรอให้ไฟแนนซ์มายึดรถเอง การกระทำเช่นนี้เป็นวิธีที่ไม่แนะนำเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้เสียเครดิต เกิดการฟ้องร้อง รถที่ยึดได้นำไปขายทอดตลาด เงินที่ได้มาไม่เพียงพอต่อมูลหนี้ตามสัญญา ผู้ใช้รถซึ่งทำผิดสัญญาจะโดนไล่เบี้ยให้รับผิดชอบส่วนต่างที่ยังขาดอยู่ต่อไป
2. เป็นฝ่ายคุยกับไฟแนนซ์ก่อน
ในทางกลับกันจากข้อ 1 หากผู้เช่าซื้อรถยนต์ เป็นฝ่ายติดต่อเพื่อนำรถไปคืนไฟแนนซ์เสียเองก่อนที่จะมีการผิดนัดชำระครบ 3 งวด (ทางที่ดีไม่ควรผิดนัดเลยแม้แต่งวดเดียว) หากไฟแนนซ์ยอมรับรถยนต์คืน ตามกฎหมายจะถือว่าสัญญาเช่าซื้อระงับสิ้นสุดลงเพราะคู่สัญญาสมัครใจเลิกสัญญากันเองด้วยการส่งมอบรถยนต์กลับคืนเจ้าของ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 573
ข้อดีของวิธีนี้คือ เมื่อสัญญาเช่าซื้อถูกบอกเลิกโดยที่ผู้ใช้รถไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา หรือไฟแนนซ์ไม่ได้มายึดรถยนต์กลับไปเอง เมื่อเข้าสู่กระบวนการนำรถไปขายทอดตลาด หากมูลค่าที่ขายได้ไม่เพียงพอกับยอดหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อ ฝ่ายผู้ใช้รถจะไม่ต้องรับผิดชอบใด ๆ ทั้งสิ้น (ต้องไม่มีการเซ็นเอกสารยอมรับภาระหนี้ส่วนต่าง)
อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้วโอกาสที่ไฟแนนซ์จะยอมรับรถคืนแล้วบอกเลิกสัญญาจบกันไปแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย แม้ว่าจะมีกฎหมายคุ้มครองก็ตาม และกล่าวได้ว่าเลยว่าผู้ใช้รถอาจจะต้องเตรียมตัวเข้าสู่กระบวนการในชั้นศาล ซึ่งจะกล่าวถึงในข้อต่อ ๆ ไป
3. ตรวจสภาพรถก่อนส่งมอบ
เมื่อตัดสินใจจะคืนรถแล้ว ควรตรวจสภาพรถก่อนส่งมอบ ถ่ายรูปทุกมุมของรถไว้เป็นหลักฐาน จากนั้นขับรถไปที่บริษัทไฟแนนซ์และเจรจาขอให้บริษัทออกหลักฐานการส่งมอบรถคืน ทำการตกลงเรื่องค่าเสียหายที่ต้องจ่ายเพิ่มเติมให้เรียบร้อย

4. เตรียมตัวขึ้นศาล
ตามที่กล่าวไว้ในข้างต้นว่าบริษัทไฟแนนซ์ย่อมต้องการเงินคืนมากกว่ารถ เมื่อผู้ใช้รถขอทำเรื่องคืนรถ บริษัทไฟแนนซ์ก็จะนำรถไปดำเนินการขายต่อเพื่อให้ได้เงินคืนมา ซึ่งรถยนต์นั้นถือเป็นสินทรัพย์เสื่อมราคา ดังนั้นจึงมีโอกาสน้อยมากที่จะสามารถขายได้เงินมาสามารถหักลบกลบหนี้ได้
เมื่อจำนวนเงินที่ขายรถไปไม่เพียงพอกับการชำระหนี้ที่เหลืออยู่ ไฟแนนซ์จึงต้องมาไล่เบี้ยเรียกร้องให้ผู้คืนรถชดใช้ส่วนต่างรวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ซึ่งกระบวนการก็อาจจะมาสิ้นสุดในขั้นตอนนี้หากสามารถตกลงจ่ายเงินชดเชยกันได้ แต่หากไม่เป็นไปตามนั้น ขั้นตอนต่อไปก็จะไปถึงการฟ้องร้องต่อศาล

อย่างไรก็ตาม ต้องบอกไว้ก่อนว่าการต้องขึ้นศาลในกระบวนการนี้ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด และถือเป็นขั้นตอนปกติ ซึ่งศาลจะให้ความยุติธรรมในการไกล่เกลี่ยค่าเสียหายให้คู่กรณีพอใจมากที่สุดในการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 573
การบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ ขอคืนรถให้ไฟแนนซ์นั้น แม้จะเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ แต่ก็คงไม่ใช่สิ่งที่ใครจะอยากให้เกิดขึ้นกับตัวเอง ดังนั้นหากย้อนกลับมาถึงช่วงเวลาก่อนตัดสินใจซื้อรถควรคิดถึงสภาพคล่องทางการเงินและความสามารถในการชำระหนี้ล่วงหน้าไปอีก 5 ปีด้วย และในกรณีที่ผ่อนไม่ไหวต้องบอกเลิกคืนรถจริง ๆ ก็ควรดำเนินการในขั้นตอนต่าง ๆ ให้ถูกต้องเพื่อที่จะเกิดการเสียประโยชน์ให้น้อยที่สุด
ขอบคุณข้อมูลจาก aommoney, closelawyer, moneyhub