ของเหลวในรถยนต์ เปลี่ยนตอนไหนดี ? ตรวจเช็กเองได้ รู้ไว้ก่อนเครื่องพัง

ชวนมาทำความรู้จักระบบของเหลวในรถยนต์ ว่ามีอะไรบ้าง ควรเปลี่ยนเมื่อไหร่ และต้องเช็กอย่างไร เพราะหากเพิกเฉยอาจสร้างความเสียหายกับรถคู่ใจของเราได้มากมายอย่างที่คาดไม่ถึง

ระบบของเหลวในรถยนต์

ของเหลวในรถยนต์ เช่น น้ำมันเครื่อง น้ำมันเบรก น้ำมันเกียร์ น้ำยาหล่อเย็น น้ำมันเฟืองท้าย ล้วนเป็นส่วนสำคัญต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ ในรถยนต์ ที่มีการกำหนดระยะเวลาในการเปลี่ยนถ่าย ซึ่งผู้ใช้รถยนต์ต้องหมั่นดูแลรักษาและคอยเช็กให้อยู่ในสถานะที่สมบูรณ์ ไม่ว่าจะในแง่ของปริมาณ หรือสภาพของของเหลว เพราะมีผลต่อประสิทธิภาพ รวมถึงอายุการใช้งานของระบบต่าง ๆ ตลอดจนความปลอดภัยในการขับขี่ทั้งสิ้น แต่ของเหลวแต่ละอย่างเหล่านั้นมีอายุเท่าไหร่ ต้องเปลี่ยนตอนไหน สำคัญยังไง สำหรับใครที่ยังไม่ทราบลองมาติดตามกันเลย

1. น้ำมันเครื่อง

ระบบของเหลวในรถยนต์

น้ำมันเครื่องถือเป็นของเหลวที่ต้องเปลี่ยนบ่อยมากที่สุด เพราะมีหน้าที่หล่อลื่น ลดการเสียดสี และความร้อนของเครื่องยนต์ การเปลี่ยนตามกำหนดเวลาจึงช่วยยืดอายุการใช้งานของเครื่องยนต์โดยตรง ซึ่งโดยในรถยนต์รุ่นใหม่มักกำหนดให้เปลี่ยนทุก ๆ 8,000-10,000 กิโลเมตร หรือทุก ๆ 6 เดือน (แล้วแต่อันไหนถึงก่อน) ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันเครื่องเกรดธรรมดา กึ่งสังเคราะห์ และสังเคราะห์ 100% ถึงแม้ไม่ได้ใช้งานก็ควรเปลี่ยนตามระยะเวลาเช่นกัน เพราะตัวน้ำมันเครื่องก็จะเสื่อมสภาพ ความหนืดอาจลดน้อยลง

2. น้ำมันเพาเวอร์

ระบบของเหลวในรถยนต์

น้ำมันเพาเวอร์ หรือน้ำมันสำหรับระบบพวงมาลัยเพาเวอร์ ช่วยให้หมุนพวงมาลัยได้อย่างเบาแรง ยกเว้นในรถรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไปใช้พวงมาลัยไฟฟ้า ควรหมั่นตรวจเช็กและเติมให้อยู่ในระดับปกติเสมอ ไม่ควรเติมมากเกินไป เพราะจะขยายตัวเพิ่มเมื่อได้รับความร้อน และควรเปลี่ยนทุก ๆ 80,000 กิโลเมตร (หรือตามระยะที่กำหนดในคู่มือแต่ละรุ่น) นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องเลือกใช้น้ำมันให้ตรงตามสเปกที่ผู้ผลิตกำหนดเสมอ

3. น้ำมันเบรก

ระบบของเหลวในรถยนต์

เบรกมีหน้าที่ในการชะลอความเร็วหรือหยุุดรถ ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเบรกเมื่อถึงเวลาที่กำหนด โดยปกติแล้วน้ำมันเบรกควรเปลี่ยนถ่ายทุก ๆ 40,000 กิโลเมตร หรือหากใช้รถน้อยก็เปลี่ยนทุก ๆ 1 ปี ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วน้ำมันเบรกจะมีอายุได้ถึง 80,000 กิโลเมตร หรือประมาณ 3 ปี ซึ่งผู้ใช้รถควรหมั่นตรวจสอบให้น้ำมันเบรกอยู่ที่ระดับปกติเสมอ หากพบว่าน้ำมันเบรกน้อยลงกว่าปกติควรนำรถเข้าศูนย์บริการใกล้บ้านทันที

4. น้ำยาเติมหม้อน้ำ หรือน้ำยาหล่อเย็น

ระบบของเหลวในรถยนต์

โดยทั่วไปแล้วควรเช็กระดับน้ำเป็นประจำทุกสัปดาห์ หากพบว่าระดับน้ำลดลง ควรเติมน้ำยาหล่อเย็นลงไปแทนน้ำเปล่า เพราะมีจุดเดือดสูงกว่าและช่วยลดการเกิดสนิมในระบบ อย่างไรก็ตามการเลือกใช้น้ำหล่อเย็น จะมีทั้งแบบสูตรผสมน้ำและไม่ต้องผสมน้ำให้เลือก โดยแบบไม่ต้องผสมน้ำ (ผสมมาแล้ว) สามารถใช้ได้ทันที แต่สำหรับแบบที่ต้องผสมน้ำสามารถศึกษาได้จากรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ และควรล้างหรือเปลี่ยนถ่ายทุก ๆ 6-9 เดือน หรือ 50,000 กิโลเมตร เพื่อประสิทธิภาพในการใช้งานสูงสุด

5. น้ำมันเกียร์ น้ำมันเฟืองท้าย

ระบบของเหลวในรถยนต์

เกียร์และเฟืองท้ายเป็นชิ้นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนรถ เพราะต้องทำหน้าที่ถ่ายทอดกำลังจากเครื่องยนต์ไปยังล้อ และจำเป็นต้องมีน้ำมันเกียร์หรือน้ำมันเฟืองท้ายในระบบ เพื่อลดแรงเสียดทาน ชะล้างสิ่งสกปรก และลดการสึกหรอของเกียร์ ทั้งเกียร์ธรรมดาและเกียร์ออโต้  ซึ่งควรเปลี่ยนทุก ๆ 30,000-40,000 กิโลเมตร แต่ถ้าเป็นรถที่ต้องเปลี่ยนเกียร์บ่อย ๆ เช่น ขับในกรุงเทพฯ ควรเปลี่ยนที่ระยะทาง 10,000-20,000 กิโลเมตร หรือประมาณปีละครั้ง ซึ่งถือเป็นระยะเหมาะสมที่สุด

6. น้ำมันคลัตช์

ระบบของเหลวในรถยนต์

ส่วนใหญ่ผู้ใช้รถจะได้รับคำแนะนำให้เปลี่ยนน้ำมันคลัตช์พร้อมกับน้ำมันเบรก เนื่องจากมีระยะการใช้งานที่พอ ๆ กัน อยู่ที่ประมาณ 6-8 เดือน ซึ่งในน้ำมันคลัตช์จะมีส่วนผสมของน้ำเพิ่มขึ้นจากที่ถูกใช้งานเป็นเวลานาน ซึ่งอาจทำให้ชิ้นส่วนภายในเป็นสนิมได้ จึงควรเปลี่ยนตามคำแนะนำของศูนย์บริการเพื่อให้เหมาะสมกับเครื่องยนต์ของรถเรา

7. น้ำฉีดกระจก

ระบบของเหลวในรถยนต์

สำหรับคนที่ใช้รถยนต์อยู่ประจำควรหมั่นตรวจเช็กให้น้ำฉีดกระจกอยู่ในปริมาณที่พร้อมใช้งานตลอดเวลา หรืออย่างน้อยตรวจเช็กสัปดาห์ละครั้ง เพราะในขณะที่อยู่บนท้องถนน อาจจะพบเจอกับสถานการณ์ที่ต้องใช้น้ำฉีดกระจกชะล้างเพื่อทัศนวิสัยที่ดีและสามารถทำให้ขับขี่ได้อย่างปลอดภัย ทั้งนี้ น้ำฉีดกระจกนั้นเราสามารถใช้ได้ทั้งน้ำเปล่าธรรมดา หรือจะผสมน้ำยาล้างรถ น้ำยาทำความสะอาดอื่น ๆ ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องนำรถเข้าศูนย์บริการ

8. น้ำกลั่นแบตเตอรี่

ระบบของเหลวในรถยนต์

แบตเตอรี่ คือ ส่วนประกอบในรถยนต์อันดับต้น ๆ ที่ผู้ใช้รถต้องคอยดูแลและบำรุงรักษาเป็นประจำ และต้องเข้าใจว่าแบตเตอรี่ นั้นมีอยู่ 4 ประเภท คือ แบตเตอรี่ธรรมดา, แบตเตอรี่กึ่งแห้ง, แบตเตอรี่แห้ง และแบตเตอรี่ไฮบริด ซึ่งตัวแบตเตอรี่ธรรมดา กับแบตเตอรี่กึ่งแห้ง ยังมีการใช้น้ำกลั่นเป็นส่วนประกอบ ควรตรวจสอบระดับน้ำกลั่นทุกสัปดาห์ เติมให้ท่วมแผ่นธาตุเล็กน้อย (แบตเตอรี่กึ่งแห้งบางรุ่นจะซีลป้องกันไม่สามารถเติมได้ ควรใช้บริการร้านแบตเตอรี่) แต่หากเป็นแบตเตอรี่ชนิดอื่นไม่จำเป็นต้องเติมน้ำกลั่น โดยทั่วไปแล้วแบตเตอรี่รถยนต์ส่วนใหญ่จะมีอายุการใช้งาน 2-3 ปี หากเริ่มพบอาการผิดปกติอย่างเช่น รถเริ่มสตาร์ตติดยาก, ดวงไฟต่าง ๆ ไม่สว่างเท่าเดิม, กระจกไฟฟ้าเลื่อนขึ้น-ลงช้ากว่าปกติ นั่นเป็นการส่งสัญญาณเตือนเราในเบื้องต้นแล้วว่าใกล้ได้เวลาเปลี่ยนแบตเตอรี่ลูกใหม่แล้วนั่นเอง

รู้อย่างนี้แล้วอย่าลืมหมั่นเช็กระบบของเหลวในรถยนต์เบื้องต้นด้วยตัวเองกันบ่อย ๆ นอกจากจะช่วยทำให้รถคันโปรดอยู่กับเราได้นานขึ้นแล้ว การดูแลรักษาเป็นประจำและสังเกตความผิดปกติอยู่เสมอ ก็จะช่วยลดความเสียหายที่อาจนำไปสู่ค่าซ่อมบำรุงที่สูงลิบเลยก็เป็นได้

บทความที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรถยนต์

ขอบคุณข้อมูลจาก valvoline.co.thtoyota.co.thkmotors.co.th, realtimecarmagazine.com,

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ของเหลวในรถยนต์ เปลี่ยนตอนไหนดี ? ตรวจเช็กเองได้ รู้ไว้ก่อนเครื่องพัง อัปเดตล่าสุด 7 สิงหาคม 2566 เวลา 14:55:34 39,409 อ่าน
TOP
x close