การตรวจลมยางควรตรวจเมื่อใด และต้องเช็กลมยางบ่อยแค่ไหน รวมถึงถ้าหากปล่อยให้ลมยางอยู่ในระดับที่ไม่เหมาะสมจะส่งผลเสียตามมาอย่างไรบ้าง
การตรวจเช็กลมยางรถยนต์อาจเป็นสิ่งที่หลายคนหลงลืมและไม่ค่อยได้ใส่ใจมากนัก ตราบเท่าที่ยังสามารถขับขี่ใช้งานได้ หรือดูเหมือนไม่มีความผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้นจนผิดสังเกต แต่ลมยางสามารถรั่วซึมได้ทั้งในขณะขับขี่ แม้กระทั่งจอดรถอยู่เฉย ๆ ดังนั้นการตรวจลมยางรถยนต์อย่างสม่ำเสมอจึงมีความจำเป็นมาก แต่การตรวจลมยางควรตรวจเมื่อใด และบ่อยแค่ไหน หรือหากปล่อยไว้จะมีผลเสียได้มากแค่ไหนบ้าง
การตรวจลมยางควรตรวจเมื่อใด
การตรวจสอบลมยางรถยนต์ที่ถูกต้องและเหมาะสมที่สุดคือ ควรเช็กลมยางในขณะที่ยางรถเย็น เมื่อไม่ได้ขับเกินกว่า 3 ชั่วโมง หรืออย่างน้อยวิ่งในระยะทางต่ำกว่า 1.6 กิโลเมตร เพราะการเติมลมยางในช่วงที่ยางร้อน ลมที่อยู่ในยางจะมีการขยายตัว ทำให้มีแรงดันสูงกว่าปกติ และทำให้อ่านค่าผิดพลาด ไม่แม่นยำเท่ากับตอนที่ยางรถยนต์ยังไม่ร้อน
ควรเช็กลมยางบ่อยแค่ไหน
ควรตรวจสอบแรงดันลมยางอย่างน้อยเดือนละครั้ง เพราะโดยเฉลี่ยทุก 1 เดือน แรงดันลมยางจะลดลงประมาณ 1 PSI ซึ่งการเติมลมยางนั้นเสียเวลาไม่มากและไม่ยุ่งยาก สามารถทำได้ทั้งเติมฟรีในปั๊มน้ำมันที่ใช้บริการหรือขับผ่าน ขณะที่ผู้ใช้รถบางส่วนอาจซื้อที่เติมลมติดรถไว้ในยามฉุกเฉิน รวมถึงเติมลมเองได้ที่บ้าน
ลมยางรถยนต์ควรเติมเท่าไหร่
รถยนต์ที่ผลิตจากโรงงานจะระบุค่าแรงดันลมยางที่เหมาะสมของรถรุ่นนั้น ๆ ทั้งในคู่มือ และบริเวณขอบประตูฝั่งคนขับด้านในเพื่อให้สะดวกต่อการมองเห็น ซึ่งรถแต่ละรุ่นอาจใช้แรงดันลมยางแตกต่างกัน โดยหน่วยวัดที่บ้านเรานิยมใช้เรียกกันคือ ปอนด์ต่อตารางนิ้ว หรือ PSI ที่ย่อมาจาก Pound-force/Square Inch เช่น 32 PSI เป็นต้น
ลมยางรถยนต์อ่อนมีผลเสียอย่างไร
ยางรถยนต์ทุกเส้นจำเป็นต้องอาศัยลมยางถึงจะใช้งานได้ ดังนั้น การปล่อยให้แรงดันลมยางอ่อน ต่ำกว่าระดับที่กำหนดไว้ ย่อมส่งผลเสียตามมาไม่มากก็น้อย เช่น เกิดการสึกหรอของยางอย่างรวดเร็ว รวมถึงโครงสร้างยางเสียหายเนื่องจากมีแรงกดมากกว่าปกติ กินน้ำมันมากขึ้น ชิ้นส่วนต่าง ๆ ของระบบกันสะเทือนทำงานหนักขึ้น เสื่อมสภาพไว รวมถึงตัวของยางรถยนต์เองด้วยเช่นกัน
อย่างที่ทุกคนทราบ การเติมลมยางรถยนต์ให้อยู่ในระดับเหมาะสมมีความสำคัญและไม่ใช่เรื่องยาก แต่หลายคนอาจปล่อยปละละเลย ซึ่งอาจส่งผลเสียตามมามากกว่าที่คิด รวมถึงก่อให้เกิดอันตราย เช่น ยางรถยนต์ระเบิด ได้
บทความที่เกี่ยวข้องกับยางรถยนต์
ขอบคุณข้อมูลจาก : rxmechanic.com และ michelin.com.au