รถยนต์มีกี่ประเภทและแตกต่างกันอย่างไร วันนี้เราจะพาไปหาคำตอบพร้อมจุดสังเกตง่าย ๆ ของรถแต่ละแบบที่รู้แล้วต้องร้องอ๋อ...
ในโลกของอุตสาหกรรมยานยนต์ การแบ่งประเภทรถไม่ได้มีเพียงแค่คำเรียกที่เราคุ้นชิน เช่น รถเก๋ง รถกระบะ หรือรถตู้ เท่านั้น เพราะจริง ๆ แล้วรถยนต์แต่ละประเภทก็มีหลายรูปแบบออกไปอีก ไม่แตกต่างจากรถมอเตอร์ไซค์ ที่มีการแยกสไตล์ตัวถังสำหรับการใช้งานต่างกัน ซึ่งวันนี้เราจะพาเพื่อน ๆ ไปทำความรู้จักกันให้มากขึ้น เผื่อว่าวันไหนมีโอกาสได้ใช้หรือต้องการซื้อรถใหม่ จะได้เรียกและเลือกได้ตรงกับความต้องการของตัวเองมากที่สุด
ประเภทของรถยนต์และลักษณะที่ควรรู้
1. ซีดาน (Sedan)
เป็นหนึ่งในรูปแบบตัวถังที่คุ้นชินและเคยเป็นที่นิยมมากที่สุดแบบหนึ่งในฐานะรถครอบครัว โดยจุดเด่นของรถรุ่นนี้ คือ การเป็นรถทรง 3 กล่อง มีส่วนหัว ห้องโดยสาร และท้ายรถแยกออกจากกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นรถ 4 ประตู ขณะที่ขนาดตัวถังจะมีขนาดหลากหลายตั้งแต่เล็กถึงใหญ่ อีกทั้งยังครอบคลุมทั้งรถธรรมดาทั่วไปจนถึงรถหรู ซึ่งคนไทยจะเรียกรถประเภทนี้ว่ารถเก๋ง ตัวอย่างของรถซีดาน อาทิ Honda City, Honda Civic, Toyota Camry และ Honda Accord เป็นต้น
2. แฮตช์แบ็ก (Hatchback)
เป็นรถยนต์นั่งทรง 2 กล่อง มีแค่ส่วนห้องเครื่องกับห้องโดยสาร โดยไม่มีท้ายรถยืนออกมาแบบซีดาน หรือนิยมเรียกกันว่าท้ายตัด บานฝาท้ายเปิดยกขึ้นด้านบนเหมือนเปลือกหอย อันเป็นที่มาของชื่อแฮตช์แบ็ก (Hatchback) มีทั้งแบบ 3 ประตู และ 5 ประตู ซึ่งรวมจำนวนฝาท้ายเข้าไปด้วย ส่วนประโยชน์ของรถแฮตช์แบ็ก คือ ขนาดกะทัดรัด นอกจากนี้การเปิดฝาท้ายแบบแฮตช์แบ็กทำให้ใส่ของที่มีขนาดใหญ่หรือมีความสูงได้สะดวกกว่าแบบซีดาน ซึ่งมักมาพร้อมกับฟังก์ชันพับเบาะหลังเพื่อเพิ่มพื้นที่ขนของได้ด้วย เช่น Toyota Yaris, หรือ Honda City Hatchback
3. สเตชั่นแวกอน (Station Wagon)
เป็นรถที่มีความคล้ายกับรถแฮตช์แบ็ก แต่จะมีส่วนท้ายที่ยื่นยาวมากกว่า และอาจใช้ชื่อแตกต่างกันไปตามภูมิภาค หรือผู้ผลิต เช่น Station Wagon, Estate, Touring, Break หรือ Combi เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดออกแบบมาเพื่อประโยชน์ใช้สอยในเรื่องของพื้นที่สัมภาระหรืออุปกรณ์ได้ครั้งละมาก ๆ จึงได้รับความนิยมในฐานะรถของครอบครัว ก่อนที่รถประเภท SUV จะเกิดขึ้นและครองตลาดจากความสามารถในการขับขี่ได้ทุกสภาพถนน โดยตัวอย่างรถในกลุ่มนี้จะมี MG ES, Volvo V60 Recharge เป็นต้น
4. คูเป้ (Coupe)
นิยามเดิมในอดีตของรถประเภทนี้จะเป็นรถ 2 ประตู แนวหลังคาเตี้ยและเสา C เอนลาด ส่วนภายในจะมีแบบ 2 ถึง 5 ที่นั่ง ตามขนาดตัวถัง แต่ปัจจุบันคำนิยามของคูเป้ (ถ้าเป็นอเมริกันจะเรียกคู้ป) ได้ขยายขอบเขตไปถึงรถซีดานตัวถัง 4 ประตู รวมถึงรถ Crossover SUV ที่มีแนวหลังคาเตี้ยหรือเอียงลาดมากเป็นพิเศษ ส่วนตัวอย่างของรถคูเป้ 2 ประตู ได้แก่ Subaru BRZ หรือ Audi A5 Coupe
5. ครอสโอเวอร์ (Crossover)
เมื่อพูดถึงรถ Crossover ส่วนใหญ่จะนึกถึงรถ Crossover SUV ซึ่งได้รับความนิยมสูงสุด หรือบางครั้งอาจเรียก CUV ที่ย่อมาจาก Crossover Utility Vehicle รวมถึงผู้ผลิตบางรายก็นิยามศัพท์ใหม่ขึ้นเป็นของตัวเองตามลักษณะการใช้งาน เช่น SAV (Sport Activity Vehicle) โดยรถกลุ่มนี้จะใช้พื้นฐานร่วมกับรถยนต์นั่ง พร้อมเพิ่มความสามารถในการขับขี่ได้ทุกสภาพถนน แต่ไม่ถึงขั้นออฟโรด รวมถึงอรรถประโยชน์ของรถสเตชั่น แวกอน อันเป็นที่มาของคำว่า Crossover ที่รวมข้อดีของรถแต่ละแบบให้อยู่ในรถคันเดียว ไม่ต้องมีรถหลายคันเพื่อการใช้งานที่ต่างกันออกไปอีก ตัวอย่างเช่น Honda WR-V หรือ Toyota Corolla Cross
6. รถเอสยูวี (SUV)
รถอเนกประสงค์ SUV หรือ Sport Utility Vehicle ซึ่งความหมายตรงตัว คือ รถอเนกประสงค์สำหรับกิจกรรมสันทนาการ เป็นคำที่กว้างกว่า Crossover SUV เนื่องจากหลายรุ่นไม่ได้ใช้พื้นฐานร่วมกับรถยนต์นั่ง บางรุ่นใช้ตัวถัง Monocouqe และบางรุ่นอาจเป็นตัวถังวางบนแชสซีส์ หรือ Body on Frame ก็ได้ไม่มีข้อกำหนดตายตัว แต่ทั้งหมดจะเป็นรถอเนกประสงค์ยกสูงที่มาพร้อมความสามารถในการบุกลุย ส่วนจะมากน้อยขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยขึ้นอยู่กับผู้ผลิต รวมถึงขนาดก็มีได้หลากหลาย เช่น Suzuki Jimny หรือ Tank 300 เป็นต้น
6. รถพีพีวี (PPV)
รถพีพีวี (PPV) หรือ Pick-Up Passanger Vehicle เป็นคำนิยามที่ใช้เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น เพื่อแบ่งแยกกลุ่มรถกระบะดัดแปลง (หรือใช้พื้นฐานของรถกระบะที่ผลิตในไทย) ออกจาก SUV ทำให้เสียภาษีสรรพสามิตต่ำลง แต่จริง ๆ แล้ว PPV คือ รถ SUV รูปแบบหนึ่ง ซึ่งในต่างประเทศก็จัดกลุ่ม Toyota Fortuner หรือ Ford Everest ว่าเป็น SUV เช่นกัน
7. รถกระบะ (Pickup)
รถกระบะ หรือรถปิกอัพ ค่อนข้างมีความชัดเจนในเรื่องของการแบ่งแยกประเภทรถ เพราะมีส่วนโดยสารกับกระบะด้านท้าย ส่วนจะเป็นแบบตอนเดี่ยว 2 ประตู 2 ที่นั่ง ตอนครึ่ง 2 ประตู (แค็บ) 2 ที่นั่ง หรือสองตอน 4 ประตู (ดับเบิ้ลแค็บ) ก็แบ่งกันไปตามลักษณะการใช้งาน เพราะปัจจุบันรถกระบะไม่ได้ถูกนำมาใช้เพื่อการพาณิชย์เพียงอย่างเดียว แต่รถกระบะได้รับการออกแบบให้สามารถใช้แทนรถเก๋งเป็นรถโดยสารส่วนบุคคลอย่างแพร่หลาย โดยมีข้อดี คือ ในราคาเดียวกับรถเก๋ง จะได้รถขนาดใหญ่กว่า สมรรถนะสูงกว่า ประหยัดน้ำมัน ขนของได้ โดยสารได้ กำลังสูง ทนทาน แต่ต้องแลกกับความเทอะทะ ความนุ่มนวลขณะเดินทาง และปล่อยมลพิษสูงกว่า เป็นต้น ส่วนตัวอย่างรถกลุ่มนี้ก็ คือ Isuzu D-Max, Toyota Hilux Revo และ Ford Ranger
8. รถเอ็มพีวี (MPV)
รถเอ็มพีวี หรือ MPV ย่อมาจากคำว่า Multi Purpose Vehicle เดิมหมายถึงรถที่มีพื้นที่ภายในอเนกประสงค์เป็นส่วนเดียวทะลุถึงกันทั้งหมดแบบ Mono Space จะมีกี่ที่นั่งก็ได้ แต่ปัจจุบันซึ่งมีเงื่อนไขในแง่ของความปลอดภัยรวมถึงค่านิยมที่เปลี่ยนแปลง รถ MPV หลายรุ่นจึงถูกออกแบบให้เป็นทรง 2 กล่อง แทนกล่องเดียว โดยมีห้องเครื่ออยู่ด้านหน้ามีผนังแยกจากห้องโดยสารชัดเจน ขณะที่ขนาดมีความหลากหลายดีไซน์ลำลอง มีความเป็นรถส่วนบุคคลมากกว่ารถตู้ เช่น Toyota Veloz, Mitsubishi Xpander หรือรถขนาดใหญ่อย่าง Toyota Alphard รวมถึง Kia Carnival และ Hyundai Staria
9. รถแวน (Van)
รถแวน (Van) รถประเภทนี้จะเป็นรถทรงกล่องเดียวเน้นการใช้งานเชิงพาณิชย์เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นแบบตู้โดยสาร หรือตุ้ทึบสำหรับขนของ ส่วนใหญ่ไม่เน้นความหรูหรา ไม่เน้นใช้งานเป็นรถส่วนบุคคลเท่าไรนัก ตัวอย่างของรถกลุ่มนี้ คือ Toyota Hiace, Toyota Commuter
10. รถเปิดประทุน (Cabrio)
รถเปิดประทุน หรือเรียกอีกอย่างว่า Carbriolet และ Convertible แต่ก็จะมีผู้ผลิตเรียกด้วยชื่อเฉพาะด้วยเช่นกัน อย่าง Droped Head หรือ Volante ซึ่งจะมีทั้งแบบหลังคาแข็งและหลังคาผ้าใบขึ้นอยู่กับการออกแบบด้วยข้อดีที่ต่างกัน แต่ชุดหลังคาจะพับลงได้ทั้งหมดไม่ว่าจะทำงานด้วยไฟฟ้าหรือใช้มือก็ตามที เช่น Audi TT Roadster หรือ MINI Convertible หากเปิดได้เพียงบางส่วน ก็จะเรียก Targa หรือ Retractable Roof ขึ้นอยู่กับผู้ผลิตแต่ละราย โดยจะเหลือเสา B แบบตายตัว เช่น Mazda MX-5 RF
11. สปอร์ตคาร์ (Sportcar)
ในอดีตความหมายรถสปอร์ต หรือ Sport Car คือ รถแข่ง รถเพื่อการแข่งขัน (Sport) และต่อยอดมาสู่รถถนน ดังนั้น นิยามของรถสปอร์ตในระดับสากล จึงต้องมีหลายองค์ประกอบ คือ สวย กำลังสูง คล่องแคล่ว ขับสนุก และรถเพียวสปอร์ตมักจะถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นรถสปอร์ตตั้งแต่ต้น ไม่ใช้พื้นฐานร่วมกับรถยนต์ซีดาน แต่นิยามของรถสปอร์ตก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัย รวมถึงอาจไม่จำเป็นต้องมีครบทั้งหมดก็ได้ เช่น Toyota GR 86 หรือ Mazda MX-5 RF ซึ่งเป็นรถสปอร์ตที่เน้นการขับขี่ แต่กำลังไม่สูงมากนัก ขณะที่รถกำลังสูงอาจไม่ใช่รถสปอร์ต ซึ่งจะแยกนิยามออกไปว่าเป็นรถสมรรถนะสูง หรือ Performance Car โดยมุ่งเน้นการทำเวลาเป็นหลัก
ทั้งหมดนี้คือประเภทหลัก ๆ ของรถยนต์ที่น่ารู้ ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีความหลากหลายและมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป รู้อย่างนี้แล้วต่อไปไม่เรียกผิดแน่นอน คอนเฟิร์ม !
บทความที่เกี่ยวข้องที่น่าสนใจเกี่ยวกับรถยนต์
ขอบคุณข้อมูลจาก : acko.com, caranddriver.com, nationwidevehiclecontracts.co.uk, autosimple.com