เกียร์ หรือระบบส่งกำลังของรถยนต์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้รถสามารถขับเคลื่อนได้ เกียร์รถยนต์จะทำหน้าที่ส่งกำลังจากเครื่องยนต์ไปยังเพลาและล้อรถยนต์ ช่วยเพิ่มหรือลดความเร็ว และเปลี่ยนทิศทางของรถ เช่น เดินหน้า-ถอยหลัง
แรกเริ่มเดิมทีจะมีเพียงแค่เกียร์ธรรมดา หรือเกียร์กระปุกเท่านั้น ก่อนจะมีการพัฒนาเรื่อยมาจนมีเกียร์อัตโนมัติ หรือเกียร์ออโต้ ที่ใช้งานได้ง่ายและสะดวกสบายกว่าออกมา แต่เกียร์รถยนต์ในปัจจุบันก็ไม่ได้มีแค่เพียงเกียร์ธรรมดากับเกียร์ออโต้เท่านั้น เพราะเกียร์ยังถูกแบ่งออกเป็นอีกหลายชนิด โดยเฉพาะเกียร์อัตโนมัติที่หากจำแนกตามระบบการทำงานแล้วมีถึง 4 ชนิดด้วยกัน เราลองมาทำความรู้จักกับเกียร์รถยนต์แต่ละแบบกันว่ามีวิธีการทำงานแตกต่างกันอย่างไรบ้าง และมีข้อดี-ข้อเสีย รวมถึงข้อควรระวังในการใช้งานต่าง ๆ เพื่อช่วยยืดอายุการใช้งานของเกียร์รถยนต์ให้ยาวนานขึ้นกัน
เกียร์ธรรมดา
สำหรับนักขับมือใหม่ปัจจุบันอาจมองว่าการใช้เกียร์ธรรมดาเป็นเรื่องยุ่งยาก แต่ข้อดีคือ ด้วยกลไกที่เรียบง่ายทำให้ซ่อมบำรุงได้ไม่ยากหากมีความเสียหาย รวมถึงยังมีค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่าเกียร์รูปแบบอื่น ๆ และก็มีคนที่ยังหลงรักเกียร์รูปแบบนี้อยู่ไม่น้อย
เกียร์อัตโนมัติ
รูปแบบเกียร์ที่ได้รับความนิยมแพร่หลายมากที่สุดในปัจจุบันเพราะสบายกว่าเกียร์ธรรมดามาก โดยเฉพาะเมื่อต้องขับขี่ในเมือง รวมถึงไม่ต้องกังวลกับการเหยียบคลัตช์เปลี่ยนเกียร์ ซึ่งเกียร์อัตโนมัติจะคิดแทนให้หมด โดยจะมีทอร์คคอนเวอร์เตอร์ที่ซับซ้อนเป็นตัวส่งกำลังจากเครื่องยนต์
ในขณะที่การควบคุมการเปลี่ยนเกียร์จะกระทำโดยคอมพิวเตอร์ผ่านชุดเฟืองแพลนเนตตารี่ (Planetary Gear) ที่ประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลัก คือ Ring Gear, Sun Gear และ Planet Gear ซึ่งเฟืองแต่ละตัวจะทำหน้าที่เป็นตัวขับ ยึด หรือตามได้ สำหรับเกียร์จังหวะต่าง ๆ ซึ่งค่อนข้างซับซ้อนในทางเทคนิค
แต่สำหรับผู้ขับขี่แล้ว P-R-N-D-L (หรือแล้วแต่ผู้ผลิต) เป็นอะไรที่เข้าใจง่ายกว่า เพียงแต่มันมาพร้อมกับค่าซ่อมบำรุงสูงกว่าเกียร์ธรรมดา แต่ก็ทนทานมากที่สุดในบรรดาเกียร์อัตโนมัติทั้งหมด โดยปัจจุบันเกียร์อัตโนมัติก้าวไปไกลถึงระดับ 9 สปีดเข้าไปแล้ว
เกียร์ CVT
แม้เกียร์ CVT หรือ Continuously Variable Transmission จะเป็นเกียร์อัตโนมัติ แต่ก็มีหลักการที่ต่างจาก Planetary Gear โดยสิ้นเชิง และอันที่จริงเกียร์อัตโนมัติ CVT แบบพื้นฐานนั้นไม่มีเฟืองเกียร์ แต่จะประกอบด้วยลูกรอก 2 ชุด (Pulleys) กับสายพาน (จะเป็นยางหรือโซ่ในรถบางรุ่นก็แล้วแต่) ซึ่งจะให้อัตราทดแบบแปรผัน จึงไม่มีจังหวะเกียร์
ข้อดีคือ ไม่มีการกระตุกจากการเปลี่ยนเกียร์ (เพราะไม่มี) ชิ้นส่วนน้อย น้ำหนักเบาและประหยัดต้นทุน แต่ข้อเสียของเกียร์ CVT ที่มักเจอก็คือในเรื่องของความทนทานต่อแรงกระชาก เช่น จากการคิกดาวน์หนัก ๆ บ่อยครั้ง ก็อาจทำให้มีโอกาสเสียหายได้ง่ายกว่า
เป็นรูปแบบเกียร์ที่อยู่ตรงกลางระหว่างเกียร์อัตโนมัติและเกียร์ธรรมดา ซึ่งเกียร์กึ่งอัตโนมัติ (Semi-Automatic) จะใช้ลักษณะกลไกคล้ายเกียร์ธรรมดา แต่จะมีระบบนิวเมติก (Pneumatic) และแอคทูเอเตอร์ (Actuator) หรือวาล์วหัวขับ มาช่วยในการเปลี่ยนเกียร์
ส่วนเกียร์คลัตช์คู่ (Dual-Clutch) จะมีชุดคลัตช์ 2 ชุด
ชุดหนึ่งควบคุมเกียร์เลขคี่ ในขณะที่อีกชุดควบคุมเกียร์เลขคู่ เพื่อที่จะรอเปลี่ยนเกียร์ต่อไปเพื่อความรวดเร็ว
โดยเกียร์ทั้ง 2
รูปแบบนี้โดยปกติแล้วจะมีทั้งโหมดอัตโนมัติ หรือผู้ขับขี่เลือกเปลี่ยนเกียร์เองได้แบบเกียร์ธรรมดาผ่านแพดเดิลชิฟต์ที่พวงมาลัย
ทั้งเกียร์ Semi-Automatic และ DCT ถือเป็นเกียร์ยุคใหม่ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อเพิ่มสมรรถนะของรถยนต์ด้วยการเปลี่ยนเกียร์ที่รวดเร็วกว่าเกียร์ธรรมดา ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเห็นเกียร์ทั้ง 2 รูปแบบนี้ในรถแข่งหรือรถสปอร์ตราคาแพงเนื่องจากมีต้นทุนสูง เพราะกลไกการทำงานค่อนข้างซับซ้อน รวมถึงค่าซ่อมบำรุงที่แพงกว่าด้วยเช่นกัน
แน่นอนว่าเกียร์แต่ละแบบล้วนมีทั้งข้อดี-ข้อเสีย รวมถึงข้อควรระวังในการใช้งานที่แตกต่างกันออกไป แม้เกียร์ธรรมดาจะได้ชื่อว่ามีความทนทานมากกว่าเกียร์อัตโนมัติ แต่หากใช้งานอย่างไม่ทะนุถนอมหรือไม่ดูแลรักษาเปลี่ยนน้ำมันเกียร์ตามระยะเวลา เกียร์แบบไหนก็พังได้เช่นกัน