น้ำมันเบรกคืออะไร ทำไมจึงมีความสำคัญและควรเปลี่ยนตามระยะเวลาที่กำหนด หรือถ้าหากละเลยไม่ยอมเปลี่ยนน้ำมันเบรกจะเกิดผลเสียอย่างไรบ้าง
ชวนทำความรู้จักกับน้ำมันเบรกว่ามีความสำคัญอย่างไรกับระบบเบรก ทำหน้าที่อย่างไร และมีกี่ประเภท รวมถึงเหตุผลที่ว่าทำไมเราควรต้องเปลี่ยนน้ำมันเบรกตามระยะเวลาที่กำหนด เพราะหากละเลยอาจเกิดอันตราย รวมถึงความจำเป็นในการเลือกน้ำมันเบรกให้ตรงกับที่ผู้ผลิตกำหนด
น้ำมันเบรกคืออะไร
น้ำมันเบรก คือ น้ำมันไฮดรอลิกชนิดหนึ่ง ซึ่งน้ำมันเบรกจะทำหน้าที่ถ่ายโอนกำลังภายในระบบเบรกโดยอาศัยแรงดันภายในระบบ ซึ่งหมายความว่าเมื่อมีแรงกดจากแป้นเบรก ของเหลวในสายเบรกจะถูกส่งต่อไปยังหม้อลมเบรก และส่งต่อกำลังเพื่อให้ผ้าเบรกจับตัวกับจานเบรกเพื่อลดความเร็วจนหยุดนิ่งได้
น้ำมันเบรกสำคัญอย่างไร
ด้วยระบบการทำงานของระบบเบรก น้ำมันเบรกจึงกลายเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ หากคุณภาพของน้ำมันเบรกลดลงหรือเสื่อมสภาพ เช่น จากความชื้นในอากาศ จะส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพการทำงานของเบรก
น้ำมันเบรกมีกี่ประเภท ต้องใช้แบบไหน
สำหรับประเภทของน้ำมันเบรกในปัจจุบัน แบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก ๆ โดยกระทรวงคมนาคมสหรัฐฯ (Department of Transportation หรือ DOT) คือ DOT 3, DOT 4, DOT 5 และ DOT 5.1 (สำหรับ DOT 5 ใช้กับระบบเบรก ABS ไม่ได้) มีความแตกต่างกันตรงจุดเดือดของน้ำมันเบรกตามลำดับ ยิ่งตัวเลขสูง จุดเดือดของน้ำมันเบรกจะยิ่งสูงตาม
ซึ่งรถแต่ละรุ่นจะกำหนดประเภทน้ำมันเบรกที่ใช้แตกต่างกันตามสมรรถนะ โดยดูได้จากคู่มือ และมักระบุไว้บนฝากระปุกเติมน้ำมันเบรกด้วย ทั้งนี้ น้ำมันเบรก DOT 3, DOT 4 และ DOT 5.1 จะใช้ Glycol Based มีเพียง DOT 5 ที่เป็น Silicone Based ดังนั้น DOT 3 และ DOT 4 จะใช้ปนกับ DOT 5 ไม่ได้อย่างเด็ดขาด ขณะที่ DOT 3 สามารถใช้ DOT 4 แทนได้ แต่ DOT 4 ไม่สามารถใช้ DOT 3 แทนได้ เนื่องจากจุดเดือดต่ำกว่า DOT 4
น้ำมันเบรกเปลี่ยนตอนไหน
ส่วนผสมของน้ำมันเบรกดูดซับความชื้นได้ดี ซึ่งหากมีความชื้นมากจะทำให้น้ำมันเบรกเสื่อมสภาพได้ ดังนั้นควรเปลี่ยนน้ำมันเบรกทุก 1 ปี หรือ 20,000 กิโลเมตร หากพบว่าสีของน้ำมันเบรกคล้ำลง นั่นหมายความว่าน้ำมันเบรกเกิดการเสื่อมสภาพ
ทั้งนี้ การฝืนใช้น้ำมันเบรกที่เสื่อมสภาพจะทำให้ประสิทธิภาพการเบรกลดลง ทำให้มีระยะเบรกมากขึ้น หรืออาจถึงขั้นเบรกไม่อยู่ ซึ่งเป็นอันตรายต่อการขับขี่อย่างมาก น้ำมันเบรกจึงมีความสำคัญและควรเปลี่ยนตามระยะเวลาที่กำหนด