เช็กภาษีรถประจำปีแบบออนไลน์ ต้องจ่ายเท่าไหร่ หากเลยกำหนดต้องเสียค่าปรับกี่บาท สามารถรู้ยอดได้เลยทันที
![เช็กภาษีรถ](https://s359.kapook.com//pagebuilder/0f5d6b88-2127-49f0-895a-78530addf7f3.jpg)
เช็กง่าย รู้เลยทันที เช็กภาษีรถประจำปีทั้งรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ ไม่ต้องเสียเวลาเปิดเล่มทะเบียน หรือคำนวณตัวเลขให้ยุ่งยาก เพราะเจ้าของรถสามารถตรวจสอบข้อมูลภาษีรถประจำปีผ่านช่องทางออนไลน์ของกรมการขนส่งทางบก ว่ามีค่าใช้จ่ายทั้งหมดเท่าไหร่ ต้องตรวจสภาพหรือไม่ พร้อมค่าปรับกรณีเลยกำหนดต่อภาษีรถยนต์และมอเตอร์ไซค์เป็นจำนวนเงินกี่บาท
เช็กภาษีรถออนไลน์ทำยังไง
-
เข้าไปที่เว็บไซต์ eservice.dlt.go.th
-
กรอกข้อมูล ประเภทรถ, จังหวัด, เลขทะเบียนรถ, เลขบัตรประชาชนของผู้ครอบครอง และกดค้นหา
-
เว็บไซต์จะแสดงวันสิ้นอายุภาษีปัจจุบัน/ของปีถัดไป, ค่าภาษี และค่าปรับ (ถ้ามี) รวมถึงสถานะของรถว่าต้องตรวจสภาพรถก่อนยื่นต่อภาษีด้วยหรือไม่
ทะเบียนรถขาดตำรวจปรับเท่าไหร่
หากผู้ครอบครองรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ปล่อยให้ทะเบียนขาด หรือไม่ต่อภาษีประจำปีเมื่อครบกำหนด จะมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท และส่วนใหญ่รถที่ภาษีขาดมักจะปล่อยให้ พ.ร.บ ขาดด้วยพร้อมกัน ซึ่งจะมีโทษหนักกว่า โดยมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท
ทะเบียนรถขาดเกิน 3 ปี ต้องจดทะเบียนใหม่
รถยนต์ หรือมอเตอร์ไซค์ ที่ปล่อยให้ทะเบียนขาดเกิน 3 ปี นับตั้งแต่วันสิ้นอายุ จะถูกยกเลิกป้ายทะเบียน เจ้าของรถจะต้องนำสมุดคู่มือและแผ่นป้ายทะเบียนไปคืนยังสำนักงานขนส่งที่แจ้งจดทะเบียนไว้ แต่ถ้าอยากใช้รถต่อต้องจดทะเบียนใหม่ และไม่สามารถใช้เลขทะเบียนเดิมได้อีก
ต่อภาษีออนไลน์ สะดวก ง่าย ไม่เสียเวลา
ปัจจุบัน รถยนต์อายุเกิน 7 ปี หรือรถจักรยานยนต์อายุเกิน 5 ปี สามารถต่อภาษีออนไลน์ได้เหมือนรถที่อายุไม่ครบกำหนด แต่อาจจะต้องนำรถไปตรวจสภาพกับทาง ตรอ. (สถานตรวจสภาพรถเอกชน) เสียก่อน จากนั้นสามารถดำเนินการเสียภาษีออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ กรมการขนส่งทางบก กรณีผู้ที่ไม่เคยสมัครสมาชิกจะต้องทำการสมัครสมาชิกก่อนดำเนินการ
การต่อภาษีรถประจำปีและ พ.ร.บ. ถือเป็นหน้าที่ของผู้ครอบครองรถที่ไม่ควรละเลย เพราะไม่สามารถหลบเลี่ยงได้ อีกทั้งปัจจุบันมีหลายช่องทางเพื่ออำนวยความสะดวกในการต่อภาษีรถโดยไม่ต้องเดินทางไปสำนักงานขนส่ง ดังนั้น เพื่อความสบายใจ ไม่ต้องกังวล หรือลุ้นว่าจะโดนตำรวจเรียกตอนไหน ควรดำเนินการเสียให้เรียบร้อยดีที่สุด
บทความที่เกี่ยวข้องกับการต่อภาษีรถมอเตอร์ไซค์
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมการขนส่งทางบก