เปิดกฎจราจรเบื้องต้นในชีวิตประจําวัน ที่ผู้ขับขี่ควรรู้ เพื่อความปลอดภัยและความเป็นระเบียบบนท้องถนน และที่สำคัญไม่ต้องโดนปรับเงินอีกด้วย !
อุบัติเหตุส่วนมากที่เกิดขึ้นบนท้องถนนล้วนมีสาเหตุมาจากผู้ขับขี่รถยนต์และมอเตอร์ไซค์ ไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร รวมถึงละเลยหรืออาจเป็นเพราะความเคยชินที่ทำจนเป็นเรื่องปกติ ดังนั้นเพื่อให้ผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคนมีความปลอดภัย เราจึงได้รวบรวม กฎจราจรเบื้องต้น ที่ควรรู้ในชีวิตประจําวัน และมารยาทในการขับขี่ต่าง ๆ ที่หลายคนอาจมองข้าม และเผลอทำผิดจนก่อให้เกิดอุบัติเหตุมาแนะนำกัน ดังนี้
1. คาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง
ก่อนจะสตาร์ตรถทุกครั้งอย่างแรกที่ควรปฏิบัติคือการคาดเข็มขัดนิรภัย เพราะถ้าเกิดอุบัติเหตุหรือสิ่งที่ไม่คาดติดขึ้นมาขณะขับขี่ การคาดเข็มขัดนิรภัยจะเป็นตัวคอยเซฟและช่วยบรรเทาจากหนักให้เป็นเบาได้ รวมถึงพระราชบัญญัติจราจรทางบกระบุไว้ว่า ผู้ขับรถรวมทั้งผู้โดยสารจะต้องรัดเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งในขณะขับรถตลอดเวลา หากฝ่าฝืนจะถือว่ามีความผิด ต้องระวางโทษปรับคนขับ 500 บาท และผู้โดยสารอีก 500 บาท
2. ทางม้าลายต้องหยุดให้คนข้าม
เมื่อเราขับรถบนท้องถนน หากเห็นคนกำลังรอข้ามถนนบริเวณทางม้าลาย ตามกฎหมายนั้นผู้ใช้รถจะต้องหยุดให้คนข้ามทางม้าลายก่อน โดยเมื่อเห็นทางม้าลายควรต้องชะลอความเร็ว ไม่ควรเร่งความเร็ว และห้ามแซงในระยะ 30 เมตร ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 46 และ มาตรา 70 และหยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย ซึ่งหากไม่หยุดรถจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 21 มีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท
3. ห้ามจอดรถทับทางม้าลาย
ทางม้าลาย เป็นสัญลักษณ์หรือเส้นทางที่มีไว้เพื่อให้คนเดินข้ามถนน ผู้ใช้รถจะหยุดรถทับทางม้าลายไม่ได้ ถือว่ามีความผิด ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ควบคุมผู้ขับขี่รถยนต์และจักรยานยนต์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ทางข้าม ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ขับขี่จอดรถในทางข้ามหรือในระยะ 3 เมตร จากทางข้าม (มาตรา 57) ผู้ฝ่าฝืนมีโทษปรับ 500 บาท
4. สำเนาภาพคู่มือจดทะเบียนรถควรมีติดรถไว้
ผู้ขับขี่ควรจะต้องพกหรือมีเล่มทะเบียนรถหรือสำเนาเล่มทะเบียนติดรถไว้ เพราะตามกฎหมายผู้ขับรถต้องพบใบอนุญาตขับรถหรือใบขับขี่ และสำเนาคู่มือจดทะเบียนรถ ในขณะขับขี่ และสามารถแสดงต่อเจ้าหน้าที่เมื่อมีการเรียกตรวจดู หากไม่พกจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 โดยมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
5. ใบอนุญาตขับขี่ต้องมีติดตัว
ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของการขับรถ ควรต้องพกใบขับขี่ไว้กับตัวตลอดเวลา เพราะถือว่าเป็นเอกสารทางราชการที่ใช้ยืนยันตัวตนว่าบุคคลนี้มีความสามารถรวมถึงความรู้ในการขับขี่ยานพาหนะแต่ละประเภท และเมื่อขับขี่ยานพาหนะไปบนท้องถนน จำเป็นต้องพกใบขับขี่ตัวจริงติดตัวไปด้วยทุกครั้ง โดยถ้าหากขับรถแล้วไม่มีใบขับขี่ จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 64 ความว่า ผู้ใดขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ในปัจจุบันสามารถใช้ใบขับขี่รถยนต์อิเล็กทรอนิกส์ แสดงแทนใบขับขี่ตัวจริง ให้แก่เจ้าหน้าที่เมื่อถูกขอดูและตรวจสอบแทนได้
6. เลี้ยวรถต้องเปิดสัญญาณไฟ
ผู้ใช้รถขณะที่จะเลี้ยวรถหรือเปลี่ยนช่องทางจราจรจะต้องเปิดสัญญาณไฟเลี้ยวก่อนทุกครั้ง ซึ่งตามกฎหมายกำหนดว่าควรเปิดก่อนเลี้ยว 30 เมตร และให้รถคันอื่นเห็นได้ในระยะไม่น้อยกว่า 60 เมตร เพื่อให้รถคันหลังที่ตามมาได้รู้ ไม่ควรเลี้ยวหรือเปลี่ยนเลนแบบกะทันหัน เพราะอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นมาได้
7. ขับรถในความเร็วที่กฎหมายกำหนด
ผู้ใช้รถบนถนนจะต้องขับรถตามที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยความเร็วการใช้รถยนต์ของประเทศไทยยึดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก และพระราชบัญญัติจราจรทางหลวง โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้
-
ถ้าขับรถบนถนนในกรุงเทพมหานคร, เมืองพัทยา และเทศบาลทุกจังหวัด จะสามารถใช้ความเร็วสูงสุดได้ไม่เกิน 80 กม./ชม.
-
ถ้าขับรถอยู่บนทางหลวงระหว่างจังหวัดจะสามารถใช้ความเร็วสูงสุดได้ไม่เกิน 90 กม./ชม.
-
ส่วนบนทางมอเตอร์เวย์ และวงแหวนกาญจนาภิเษก จะใช้ความเร็วสูงสุดได้ไม่เกิน 120 กม./ชม.
โดยถ้าหากไม่ปฏิบัติตามกฎ นอกจากจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุแล้ว ยังจะโดนโทษปรับสูงสุด 1,000 บาท
8. ไม่จอดในที่ห้ามจอด
ทุกวันนี้ในขณะที่เราขับรถอยู่บนท้องถนนนั้น สิ่งที่เราจะเห็นได้บ่อยอย่างหนึ่งคือ มักจะมีรถจอดอยู่ในบริเวณที่ห้ามจอด เช่น บริเวณทางร่วมทางแยก, จอดรถด้านขวาของทางเดินรถ, จอดรถบนทางเท้า หรือจอดรถกีดขวางการจราจร เป็นต้น ซึ่งการจอดในลักษณะแบบนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติ เพราะอาจจะเป็นอันตรายต่อผู้ที่ใช้ถนนร่วมกัน นอกจากนั้นยังมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 57 โดยจะมีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท อีกด้วย
9. แซงเส้นทึบ
ขณะขับขี่อยู่บนท้องถนนเราจะเห็นเส้นปะและเส้นทึบที่แบ่งช่องจราจร โดยถ้าเป็นเส้นปะ เราจะสามารถปรับเปลี่ยนเส้นทางจราจรเพื่อทำการแซงรถได้ แต่ก็ควรใช้ความระมัดระวัง แต่ถ้าจะแซงบริเวณเส้นทึบ ซึ่งจะเห็นและพบได้บ่อยแทบจะเกิดขึ้นทุกที่บนท้องถนน โดยการทำลักษณะเช่นนี้นอกจากจะเสี่ยงให้เกิดอันตรายต่อรถเพื่อนร่วมทางที่ขับสวนทางมา ยังถือว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 โดยได้ระบุโทษในข้อหาแซงในเส้นทึบ โดยมีอัตราโทษปรับไม่เกิน 400-1,000 บาท ทางที่ดีควรหลีกเลี่ยงในการขับขี่เร่งแซงในเส้นทึบเพื่อความปลอดภัย
10. ให้รถในวงเวียนไปก่อน
เมื่อเราขับรถมาถึงบริเวณที่เป็นวงเวียน อย่างแรกควรที่จะชะลอความเร็วของรถลง และตามมารยาทควรให้รถที่อยู่ในวงเวียนด้านขวาขับผ่านไปก่อน ซึ่งถ้าว่ากันตามกฎหมายแล้วก็มีข้อบังคับถูกกำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 70 และมาตรา 71 เมื่อผู้ขับขี่ซึ่งขับรถเข้าใกล้ทางร่วมทางแยก ทางข้าม เส้นให้รถหยุด หรือวงเวียน ต้องลดความเร็วของรถ รวมทั้งถ้ามีรถอื่นอยู่ในทางร่วมทางแยก ผู้ขับขี่ต้องให้รถในทางร่วมทางแยกนั้นผ่านไปก่อน ซึ่งถ้าฝ่าฝืนมีความผิดและมีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท
11. เลี้ยวซ้ายผ่านตลอด
การขับรถในทุกวันนี้หลายคนอาจจะเคยชินและละเลยกฎจราจร อย่างเช่นการขับรถเลี้ยวซ้ายผ่านตลอด เมื่อผู้ขับขี่พบเครื่องหมาย "เลี้ยวซ้ายผ่านตลอด" ควรหยุดรอให้คนข้ามถนนและรถที่มาจากทางด้านขวามือขับผ่านไปก่อน แล้วจึงเลี้ยวซ้ายผ่านไป แต่ถ้าไม่มีป้ายติดไว้แล้วเลี้ยวผ่านไปจะถือว่าผิดกฎจราจร เพราะการเลี้ยวทางแยกต่าง ๆ ต้องรอสัญญาณไฟเขียวเท่านั้นถึงจะเลี้ยวซ้ายได้ หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522
12. ฝ่าไฟเหลือง
การฝ่าไฟสัญญาณจราจร โดยเฉพาะไฟเหลือง เป็นเหตุการณ์ที่พบได้บ่อยบนท้องถนน ซึ่งถือว่าผิดกฎหมายและอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุที่ร้ายแรงได้ จากตัวบทกฎหมาย หากผู้ขับขี่เห็นสัญญาณไฟเหลือง ควรแตะเบรกเตรียมหยุดรถ แต่หากเป็นลักษณะคาบเกี่ยวรถเลยเส้นให้หยุดไปแล้ว และสัญญาณไฟเหลืองเพิ่งแสดงขึ้นมา ก็ให้เลยไปได้ อย่างไรก็ตาม หากเป็นกรณีที่ผู้ขับขี่จงใจฝ่าไฟเหลืองเหยียบคันเร่งเมื่อเห็นไฟสัญญาณ ก็จะเป็นดุลยพินิจของเจ้าพนักงานว่าจะต้องรับโทษปรับตามกฎหมายหรือไม่ โดยโทษของการฝ่าไฟเหลืองจะผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก มาตรา 22 ปรับไม่เกิน 1,000 บาท
13. ไม่ขับรถยนต์แช่ขวา
เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่จะพบบ่อยมากบนท้องถนน ก็คือการขับรถแช่ช่องจราจรด้านขวา ซึ่งถือเป็นการกระทำความผิดในข้อหาขับรถกีดขวางจราจร เพราะไม่ว่าคุณจะขับรถเร็วหรือช้าอย่างไรก็ไม่ควรขับรถในช่องทางขวา เพราะเลนขวามีไว้สำหรับแซงเท่านั้น หากมีรถที่ขับเร็วกว่าต้องหลบให้แซงขึ้นไป โดยผู้ที่ขับแช่เลนขวาจะโดนปรับไม่เกิน 1,000 บาท
14. ไฟตัดหมอกเปิดใช้เมื่อจำเป็น
ไฟตัดหมอกจะสามารถเปิดใช้งานได้ แต่ก็ไม่สามารถที่จะเปิดอย่างพร่ำเพรื่อได้ โดยกฎหมายระบุไว้ชัดเจนตาม พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 11 ว่าไฟตัดหมอกสามารถใช้ได้ต่อเมื่อรถวิ่งอยู่ในสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย เช่น หมอก ควัน ฝุ่นละออง ฝนตกหนัก รวมถึงมีสิ่งที่เป็นอุปสรรคในการเดินทาง นอกเหนือจากนี้หากเปิดใช้โดยเจ้าหน้าที่พบเห็นอาจมีความผิด โดยปรับสูงสุดไม่เกิน 2,000 บาท
ทั้งหมดนี้เป็นกฎจราจรเบื้องต้นบางส่วนจากข้อกฎหมายทั้งหมดที่ควรรู้ และนำไปใช้ในชีวิตประจำวันบนท้องถนน รวมถึงมารยาทในการขับขี่ต่าง ๆ โดยถ้าผู้ใช้รถทุกคนปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดก็จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุได้ และที่สำคัญยังจะช่วยประหยัดเงินจากการเสียค่าปรับในการขับรถผิดกฎจราจรได้อีกด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก : krisdika.go.th