x close

รถเหินน้ำ ภัยร้ายของการขับขี่ช่วงหน้าฝน

รถเหินน้ำ คืออะไร ? ทำไมจึงอันตราย และควรต้องรับมืออย่างไร เมื่อรถเสียการยึดเกาะจากการเหินน้ำ เพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุโดยเฉพาะช่วงหน้าฝน !

รถเหินน้ำ

ช่วงหน้าฝน สิ่งหนึ่งที่คนใช้รถใช้ถนนต้องให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษคือ เรื่องการขับขี่รถยนต์ระหว่างฝนตกและหลังฝนตก เพราะนอกจากพื้นถนนเปียกทำให้รถเสียการทรงตัวได้ง่ายแล้ว น้ำที่ขังบนถนนอาจเป็นสาเหตุสำคัญของอุบัติเหตุได้จาก "อาการเหินน้ำ" วันนี้เราจะพาคุณไปทำความรู้จักกับสาเหตุ การหลีกเลี่ยง และการรับมือ เมื่อรถเกิดอาการเหินน้ำ พร้อมวิธีป้องกันอุบัติเหตุหน้าฝนที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

อาการเหินน้ำ คืออะไร ?

รถเหินน้ำ หรือ Hydroplaning คือ อาการที่ล้อรถยนต์ไม่สัมผัสกับพื้นได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากความเร็วขณะวิ่งสูงเกินกว่าที่ดอกยางจะสามารถรีดน้ำออกจากหน้ายางได้ทัน จนทำให้หน้ายางไม่สัมผัสกับพื้นถนนและเหินไปบนผิวน้ำ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ขับขี่สูญเสียการควบคุม ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมทิศทางหรือระยะในการเบรก จนทำให้รถเสียการทรงตัวจนเกิดอุบัติเหตุได้

รถเหินน้ำ

รถเหินน้ำ เกิดจากอะไร ?

  • ขับเร็วเกินไป

ถือเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้รถเกิดอาการเหินน้ำ เพราะความเร็วที่ใช้วิ่งบนถนนที่มากจนเกินไปจะทำให้ยางรถยนต์รีดน้ำได้ไม่ทันนั่นเอง

  • ลักษณะของพื้นผิวถนน

หากถนนเป็นพื้นคอนกรีต พื้นผิวเรียบ ความขรุขระน้อย โอกาสที่จะเกิดอาการเหินน้ำจะมีมากกว่าพื้นถนนที่มีส่วนผสมของยางมะตอย เพราะพื้นยางมะตอยจะมีความขรุขระ ทำให้รถทรงตัวและเกาะถนนได้ดีกว่า รวมถึงถนนที่เป็นแอ่ง จากพื้นผิวที่ไม่สม่ำเสมอจนมีน้ำท่วมขังขณะฝนตก

  • ขับรถไม่มีดอกยาง 

หน้าที่ของดอกยางคือ การรีดน้ำออกจากหน้ายาง ดังนั้น ยางรถยนต์ที่ดอกยางและร่องยางรถบาง ทำให้ประสิทธิภาพในการรีดน้ำลดน้อยลงและทำให้เกิดการเหินน้ำได้ เพราะหน้ายางสัมผัสพื้นได้ไม่เต็มที่หรือไม่สัมผัสพื้นเลย เนื่องจากขณะที่รถขับเคลื่อนด้วยความเร็วชั้นของน้ำที่รีดออกไม่ทันจะเป็นตัวแทรกระหว่างหน้ายางกับผิวถนน ทำให้เกิดการลื่นไถลและไม่สามารถควบคุมรถได้

รถเหินน้ำ

  • น้ำหนักของรถยนต์ ยิ่งเยอะยิ่งเสี่ยง

หากน้ำหนักของรถยนต์ยิ่งมีมากเท่าไร เช่น รถรถบรรทุก รถขนของ เมื่อรถเกิดเสียการทรงตัวแล้วจะมีแรงเฉื่อยสูง ทำให้เกิดแรงเหวี่ยงและพลิกคว่ำได้ง่าย

วิธีรับมือเมื่อเจอกับอาการเหินน้ำ

ในกรณีที่รถเกิดอาการเหินน้ำนั้น ผู้ขับขี่จะสามารถรู้ได้ทันทีเพราะจะส่งอาการมาถึงพวงมาลัยเมื่อล้อสูญเสียการยึดเกาะ และตัวรถจะเริ่มรู้สึกเสียการควบคุม ขึ้นอยู่กับความเร็ว และพื้นผิวที่น้ำท่วมขัง ซึ่งอาจทำให้ผู้ขับขี่ตกใจและรีบเหยียบเบรกโดยอัตโนมัติเพื่อชะลอรถ แต่การเบรกจะยิ่งทำให้สถานการณ์วิกฤติมากขึ้น โดยสิ่งที่ควรทำคือ ตั้งสติ ค่อย ๆ ถอนคันเร่งเพื่อลดความเร็ว ควบคุมพวงมาลัยให้มั่น แล้วค่อย ๆ แตะเบรกเมื่อต้องการหยุดรถ 

รถเหินน้ำ

วิธีป้องกันอาการเหินน้ำ

ในความเป็นจริงเราคงไม่สามารถป้องกันการเกิดเหตุได้ 100% เพราะไม่คุ้นเคยกับสภาพถนน ว่าจุดใดมีแอ่งน้ำ หรือน้ำท่วมขัง จนทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ดังนั้น ผู้ใช้รถควรขับขี่ด้วยความระมัดระวังโดยไม่ใช้ความเร็วมากเกินไปขณะฝนตก หรือหลังฝนตก ซึ่งอาจมีน้ำท่วมขัง เพื่อป้องกันโอกาสรถเหินน้ำ หรือเมื่อเกิดอาการเหินน้ำแล้ว สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ง่ายกว่าการขับขี่ด้วยความเร็วสูง

รถเหินน้ำ

อย่างไรก็ตาม แม้เราจะรู้จักสาเหตุและการป้องกันอาการเหินน้ำเบื้องต้น แต่ก็ควรตระหนักไว้เสมอว่า การขับขี่รถในช่วงฝนตกควรใช้ความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ เพราะในบางสถานการณ์เมื่อถึงจุดวิกฤติจากการขับขี่อย่างประมาทแล้ว ไม่ว่าขับเก่งแค่ไหน อาจไม่สามารถแก้ไขสถานการได้ทัน อีกทั้งยังเป็นอันตรายกับผู้ใช้รถใช้ถนนรายอื่นด้วย

บทความที่เกี่ยวข้องกับการขับขี่รถยนต์
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รถเหินน้ำ ภัยร้ายของการขับขี่ช่วงหน้าฝน อัปเดตล่าสุด 7 สิงหาคม 2566 เวลา 13:51:44 21,297 อ่าน
TOP