x close

ถอดรองเท้าขับรถ อันตรายหรือไม่ มีผลเสียจริงหรือ ?

ถอดรองเท้าขับรถอาจเป็นพฤติกรรมที่หลายคนถนัด เพราะเริ่มขับรถโดยไม่ใส่รองเท้ามาตั้งแต่ต้น แต่การถอดรองเท้าขับรถมีผลเสียจนอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ และผิดกฎหมายจริงหรือเปล่า ?

อาจมีผู้ขับขี่รถยนต์เคยชินกับการถอดรองเท้าขับรถ หรือ ขับรถ โดยไม่ใส่รองเท้า ด้วยเหตุผลที่ว่าถอดรองเท้ามาตั้งแต่เริ่มหัดขับรถ หรือการใช้เท้าเปล่าให้การสัมผัสได้ดีกว่าในการควบคุม รถยนต์ ไม่ว่าจะแตะเบรก เหยียบคันเร่ง หรือเลี้ยงคลัตช์ ดังนั้น พอใส่รองเท้าแล้วกลับทำให้รู้สึกว่าไม่ถนัดเหมือนมีอะไรมากั้น

แต่การขับรถที่ถูกต้องนั้นควรต้องเป็นอย่างไร การถอดรองเท้าขับรถมีโอกาสก่อให้เกิดอันตรายได้และผิดกฎหมายจริงหรือเปล่า วันนี้เราจะพาไปหาคำตอบ

ถอดรองเท้าขับรถอันตรายหรือไม่ ?

ผู้ที่ชอบถอดรองเท้าขับรถส่วนใหญ่ส่วนหนึ่งเกิดจากความคุ้นเคยมาตั้งแต่ในช่วงที่เริ่มหัดขับรถ เลยทำให้รู้สึกถนัดและง่ายกว่าที่จะเบรกและเหยียบคันเร่ง เพราะไม่มีรองเท้ามาเป็นสิ่งกีดขวางระหว่างเท้ากับแป้นเหยียบ

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญไม่แนะนำให้ขับรถด้วยเท้าเปล่า เนื่องจากผู้ขับรถจะต้องออกแรงและเกร็งเท้า ซึ่งมีโอกาสที่จะทำให้เกิดความเจ็บปวด ทำให้เกิดตะคริวหรืออาการกระตุกอื่น ๆ ที่เท้า แถมจะไปลดความสามารถของผู้ขับขี่และการบังคับรถได้อย่างมีประสิทธิภาพลง

ถอดรองเท้าขับรถ

นอกจากนี้ การเหยียบแป้นคันเร่ง หรือแป้นเบรกด้วยเท้าที่เปียกถือเป็นอันตราย เนื่องจากลื่นได้ง่าย เพราะเท้าของคุณอาจไถลออกจากแป้นเหยียบเนื่องจากการยึดเกาะไม่เพียงพอ รวมถึงการใส่ถุงเท้าหรือถุงน่องจะทำให้ลดการเสียดสีระหว่างเท้าและแป้นเหยียบได้เช่นกัน

ขณะที่การสวมรองเท้าขับรถ พื้นรองเท้าจะสามารถช่วยกระจายแรงกดอย่างเท่าเทียมสม่ำเสมอกัน ทำให้ควบคุมจังหวะการเหยียบเบรกหรือคันเร่งได้ดีกว่า และเมื่อสวมรองเท้าที่เหมาะสมก็จะสามารถช่วยลดอาการบาดเจ็บที่เท้าได้ รวมถึงยังมีกรณีที่ไม่ได้เกิดจากการถอดรองเท้าขับรถโดยตรง แต่มีสิ่งของโดยเฉพาะรองเท้าของผู้ขับขี่เข้าไปติดหรือขัดอยู่กับแป้นเบรกทำให้สูญเสียการควบคุมด้วยเช่นกัน ซึ่งคงต้องย้ำว่า ไม่ควรวางรองเท้าหรือสิ่งของอื่น ๆ ไว้ใต้เบาะที่นั่งหรือที่พักเท้าคนขับโดยเด็ดขาด

นอกจากนี้ทราบหรือไม่ว่าการถอดรองเท้าขับรถ อาจมีผลเสียมากกว่าที่คิด และนี่คือ 4 เรื่องที่อาจจะเกิดขึ้นจากการถอดรองเท้าขับรถ

1. เท้าเหม็น

บางคนคิดว่าอาการเท้าเหม็นเกิดจากใส่ถุงเท้าหนา รองเท้าผ้าใบไม่ซัก แต่จริง ๆ แล้ว เท้าเหม็นเกิดจากการสะสมของแบคทีเรีย ยิ่งถอดรองเท้าขับรถแล้วเหงื่อที่เท้าออกมามากจะถือว่าค่อนข้างเสี่ยง เพราะเท้าที่สัมผัสคันเร่งกับเบรกแทบจะตลอดเวลาจะทำให้เท้าด้านแล้วยังสะสมแบคทีเรีย เป็นสาเหตุทำให้มีกลิ่นอีกด้วย 

2. เท้าเปียกจนลื่น ทำข้อเท้าพลิก

ข้อนี้แบ่งออกเป็น 2 กรณี อย่างแรกคือ เท้าเปียกเพราะเป็นคนเหงื่อเยอะ อย่างที่สองคือเท้าเปียกเพราะความชื้นเนื่องจากฝนตก ความชื้นจากภายนอกเข้ามาในรถ ซึ่งเมื่อเท้าเปียกจนลื่นอาจทำให้เกิดการเหยียบเบรก เหยียบคันเร่ง พลาดได้ โดยเฉพาะจังหวะฉุกเฉินอาจทำให้ข้อเท้าพลิกเลยก็ได้

ถอดรองเท้าขับรถ

3. เกิดการบาดเจ็บ ฝ่าเท้าเป็นพังผืด รองช้ำอักเสบที่ส้นเท้า

ในการขับรถแบบเกียร์ธรรมดา เท้าซ้าย-เท้าขวาของเราจะลงน้ำหนักไม่เท่ากัน ส่วนในการขับแบบเกียร์ออโต้ เท้าซ้ายแทบจะไม่ได้ใช้เลย และการออกแรงใช้กล้ามเนื้อส่วนเดิมซ้ำ ๆ เป็นเวลานานอาจเป็นสาเหตุให้เกิดพังผืด โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ส้นเท้า ในระยะยาวอาจมีอาการปวดบวมอักเสบ ส่งผลต่อการเดินได้ ใครที่ชอบถอดรองเท้าขับรถแล้วมีอาการปวดส้นเท้าตอนเช้า และอาการดีขึ้นตอนสาย อาจจะเป็นสาเหตุจากกรณีนี้ 

ถอดรองเท้าขับรถ

4. ผิดกฎหมาย

กฎหมายห้ามใส่รองเท้าแตะหรือการถอดรองเท้าขับรถมีอยู่จริง แต่บังคับใช้กับผู้ขับขี่รถรับจ้าง รถสาธารณะ รวมไปถึงรถแท็กซี่, รถจักรยานยนต์สาธารณะ หรือรถนำเที่ยว ฯลฯ เท่านั้น เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยของผู้ประกอบอาชีพให้บริการนั่นเอง โดยไม่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ส่วนบุคคล

โดย พ.ร.บ.การขนส่งทางบก มาตรา 102 (1) และกฎกระทรวง พ.ศ. 2555 ระบุว่า “ในขณะขับรถรับจ้าง รถยนต์สาธารณะ ผู้ขับขี่ต้องแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อยรัดกุม และสวมใส่รองเท้าหุ้มส้นหรือหุ้มข้อ หากฝ่าฝืนจะถูกระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท ตามมาตรา 127”

มาถึงตรงนี้สามารถสรุปได้ว่า การถอดรองเท้าขับรถ ถือว่ามีอันตราย และเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงมีผลเสียมากกว่าการใส่รองเท้าขับรถ และแม้ว่าบางคนอาจจะขอยืนยันคำเดิมว่าถอดรองเท้าขับรถยังไงก็ถนัดกว่า ก็คงต้องใส่ใจดูแลสุขภาพเท้าให้ดี และที่สำคัญห้ามวางรองเท้าไว้ใต้เบาะคนขับเด็ดขาด เพื่อความปลอดภัยในการขับขี่

บทความที่เกี่ยวข้องกับการขับขี่รถยนต์

ขอบคุณข้อมูลจาก wheels24.co.zalikely.com

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ถอดรองเท้าขับรถ อันตรายหรือไม่ มีผลเสียจริงหรือ ? อัปเดตล่าสุด 30 มิถุนายน 2566 เวลา 14:56:01 34,004 อ่าน
TOP