ใบขับขี่หาย ทำยังไงดี หากเกิดเหตุใบขับขี่ หรือใบอนุญาตขับรถหาย ต้องแจ้งความไหม สามารถทำใหม่ได้เลยหรือไม่ ใช้ใบขับขี่อิเล็กทรอนิกส์แทนได้หรือเปล่า

ใบขับขี่ หรือ ใบอนุญาตขับขี่ คือ เอกสารสำคัญสำหรับผู้ขับขี่รถตามกฎหมายที่ทุกคนต้องมี เพราะ พ.ร.บ.จราจรทางบก ระบุไว้ว่า ในการขับขี่รถสัญจรไปบนท้องถนน ผู้ขับขี่จะต้องพกใบขับขี่ติดตัวเสมอ และต้องแสดงต่อเจ้าพนักงานเมื่อถูกขอตรวจด้วย
หากถูกเจ้าพนักงานเรียกตรวจแล้วไม่สามารถแสดงใบขับขี่ หรือไม่ได้พกใบขับขี่ จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 64 ความว่า ผู้ใดขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ในส่วนของรถยนต์สาธารณะ หากผู้ประกอบการยินยอมให้ผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะขับขี่รถ จะมีความผิดตามมาตรา 56 ประกอบมาตรา 60 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
ส่วนพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ได้กำหนดโทษไว้ตามมาตรา 151 ความว่า ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 93 วรรคหนึ่ง ที่ว่าด้วยห้ามมิให้ผู้ใดปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถหรือผู้ที่มีหน้าที่ขับรถ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน หากผู้นั้นฝ่าฝืนปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ขับรถโดยไม่มีใบอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ใบขับขี่หาย 2566 ทำยังไง ?
หากทำใบขับขี่หายสำหรับผู้ที่มีใบขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคล ปัจจุบันไม่ต้องไปแจ้งความหรือลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจแล้ว สามารถไปติดต่อทำใบขับขี่ใหม่ที่กรมการขนส่งทางบกได้เลย แต่ในกรณีใบขับขี่รถยนต์สาธารณะ จะต้องไปแจ้งความหรือลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจ เพื่อนำใบแจ้งความมาเป็นหลักฐานในการขอออกใบขับขี่ใหม่
ปัจจุบันกรมการขนส่งทางบกได้อำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการกรมการขนส่งทางบก ทั้งทำใบขับขี่ใหม่ ใบขับขี่หาย หรือต่ออายุใบขับขี่ สามารถจองคิวทำใบขับขี่ล่วงหน้าผ่านทาง แอปพลิเคชัน DLT Smart Queue โดยสามารถเลือกวันและเวลาที่ต้องการ หรือ Walk in เข้ามาที่สำนักงานได้เช่นกัน
ใบขับขี่หาย ทำใบขับขี่ใหม่ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง ?
เอกสารที่ต้องใช้ในการทำใบขับขี่ใหม่ สำหรับผู้ที่ถือใบขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคล ได้แก่
-
เตรียมบัตรประชาชนตัวจริง หรือเอกสารยืนยันตัวตนที่ทางราชการออกให้
-
หากเป็นชาวต่างชาติที่ยังไม่ได้สัญชาติไทยให้ใช้พาสปอร์ตแทน และหนังสือรับรองที่อยู่
สำหรับผู้ที่ถือใบขับขี่รถยนต์สาธารณะ ได้แก่
-
เตรียมบัตรประชาชนตัวจริง หรือเอกสารยืนยันตัวตนที่ทางราชการออกให้
-
ใบแจ้งความหรือใบลงบันทึกประจำวันจากสถานีตำรวจมาประกอบในการยื่นคำร้องขอทำใบขับขี่ใหม่

ขั้นตอนทำใบขับขี่ใหม่ เมื่อใบขับขี่หาย
-
เตรียมเอกสารให้พร้อม ได้แก่ บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง (กรณีใบขับขี่รถสาธารณะต้องมีเอกสาร บันทึกถ้อยคำ หรือ ใบแจ้งความ ด้วย) และหากเป็นชาวต่างชาติต้องใช้ หนังสือเดินทาง (Passport) และหนังสือรับรองที่อยู่
-
กรอกข้อมูลและยื่นคำขอใบแทนใบอนุญาตขับขี่ ที่สำนักงานขนส่ง
-
เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบข้อมูลของผู้ขับขี่ในระบบ
-
เมื่อข้อมูลถูกต้องเรียบร้อย เจ้าหน้าที่จะดำเนินการออกใบแทนใบขับขี่ โดยมีค่าใช้จ่ายคือ ค่าธรรมเนียมคำขอ ฉบับละ 5 บาท, ค่าธรรมเนียมใบแทนกรณีสูญหายหรือชำรุด 100 บาท, ค่าบริการถ่ายรูปและพิมพ์ใบอนุญาตขับรถ 100 บาท รวมเป็น 205 บาท
ใบแทนใบขับขี่ คือ เอกสารที่ใช้แทนใบอนุญาตขับขี่ตัวจริง มีลักษณะเป็นแบบสมาร์ตการ์ดเช่นเดิม โดยจะมีอายุเท่ากับใบขับขี่เดิม และเมื่อถึงวันหมดอายุต้องดำเนินการยื่นขอต่ออายุใบขับขี่ พร้อมกับเข้ารับการทดสอบตามขั้นตอน ส่วนกรณีที่เป็นใบขับขี่ตลอดชีพก็จะได้ใบแทนใบขับขี่ที่มีอายุตลอดชีพเช่นกัน
ใบขับขี่หาย ใช้ใบขับขี่อิเล็กทรอนิกส์แทนได้ไหม ?
ใบขับขี่อิเล็กทรอนิกส์ คือ ใบอนุญาตขับรถเสมือนจริง ที่กรมการขนส่งทางบกเริ่มเปิดให้ใช้งานบนแอปพลิเคชัน เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2562 และเริ่มใช้อย่างเป็นทางการวันที่ 20 กันยายน 2562 ผ่านแอปพลิเคชัน DLT QR Licence สามารถใช้แสดงเป็นหลักฐานแทนใบขับขี่ตัวจริงให้กับเจ้าหน้าเมื่อถูกเรียกตรวจได้ ซึ่งใบขับขี่อิเล็กทรอนิกส์จะมีวันหมดอายุวันเดียวกับใบขับขี่ฉบับจริง

ทั้งนี้ ปัจจุบันหากใครที่ทำใบขับขี่หาย หรือชำรุด สามารถดำเนินการทำใหม่ได้ง่าย ๆ โดยไม่ต้องแจ้งความ และที่สำคัญอย่าลืมจองคิวทำใบขับขี่ล่วงหน้าผ่านทาง แอปพลิเคชัน DLT Smart Queue ก่อนเข้าใช้บริการที่กรมการขนส่งทางบกด้วย
บทความที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทำใบขับขี่
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมการขนส่งทางบก