x close

11 รถยนต์ประตูปีกนก ที่โดดเด่นสุดในวงการยานยนต์

รถยนต์ประตูปีกนก

         สำหรับโลกยานยนต์แล้วการดีไซน์หรืองานออกแบบถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากและมีพลังมากพอที่จะดึงดูดให้ลูกค้ายอมควักเงินออกจากกระเป๋าโดยปราศจากข้อแม้ใด ๆ ได้เลย ซึ่งเรากำลังจะพูดถึงรถยนต์ซึ่งมีประตูที่สามารถเรียกร้องความสนใจจากผู้คนได้เสมออย่างประตูปีกนกนางนวล หรือ "Gull Wing" ที่เปิดขึ้นด้านบนเหมือนนกกางปีก ซึ่งไม่นับรวมประตูแบบ Scissor Door ที่ผลักขึ้นไปด้านหน้า ส่วนจะมีรถยนต์รุ่นไหนบ้างที่ได้ใช้ประตูแบบนี้ลองไปชมกันเลย

เมอร์เซเดส-เบนซ์ 300 เอสแอล ปี 1952 ( Mercedes-Benz 300SL)

รถยนต์ประตูปีกนก

          Mercedes-Benz 300SL ถือเป็นต้นกำเนิดของประตูปีกนกนางนวล (Gull Wing) ซึ่งแรกเริ่มนั้นนำมาใช้ในรถแข่งกรังด์ปรีซ์อย่าง Mercedes-Benz w194 ซึ่งยุคก่อนรถที่ใช้แข่งขันต้องไม่มีประตูเพื่อให้นักแข่งสามารถที่จะกระโดดข้ามลงไปยังเบาะนั่งและกดปุ่มสตาร์ทเพื่อออกตัวไปอย่างรวดเร็ว แต่การมีหลังคานั้นนับว่าเป็นข้อได้เปรียบสำหรับการแข่งขันที่ต้องวิ่งกันต่อเนื่องยาวนานอย่าง เลอมังส์ 24 ชม.

          นักขับจะอ่อนล้าน้อยกว่าเมื่อไม่ต้องปะทะกับกระแสลมตลอดเวลา Mercedes-Benz จึงได้เริ่มติดตั้งบานปีกนก (หลังคาเปิดได้แค่ถึงขอบกระจกล่าง) ในช่วงแรกสำหรับ W194 หลังจากนั้นจึงปรับเรื่อยมาจนมีใช้ใน Mercedes-Benz 300SL ซึ่งมีโครงสร้างแบบท่อสเปซเฟรมล้ำสมัย

          นอกจากนี้  Mercedes-Benz 300SL ยังเป็นรถยนต์โปรดักชั่นคาร์คันแรกของโลกที่ใช้ระบบหัวฉีด ด้วยการยกชุดหัวฉีดของเครื่องบินรบเยอรมันชื่อก้องโลกในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เมสเซอร์ชมิตต์ บีเอฟ 109อี ไฟท์เตอร์ มาใช้กับเครื่องยนต์แถวเรียง 6 สูบ ทำให้มีกำลังถึง 215 แรงม้า และวิ่งได้เร็วถึง 260 กม./ชม. จนครองสถิติรถโปรดักชั่นคาร์เร็วที่สุดในโลก ณ เวลานั้นพ่วงไปอีกหนึ่งตำแหน่ง

เดอ โทมาโซ  มังกุสตา ปี 1967 (De Tomaso Mangusta)

รถยนต์ประตูปีกนก

          De Tomaso Mangusta เป็นรถสปอร์ตชื่อดังของอิตาลี ชื่อ Mangusta มาจากคำว่า Mongoose ในภาษาอิตาเลียนซึ่งแปลว่าพังพอน ซึ่งเป็นสัตว์ที่เป็นอริและสามารถฆ่างูเห่าได้ ด้วยสาเหตุที่ลือกันว่า อเลจานโดร เดอ โทมาโซ กับ แคร์โรลล์ เชลบี้ นั้นเป็นเพื่อนกันและได้คุยกันว่าจะให้ เดอ โทมาโซ สร้างรถแข่งรุ่นใหม่ขึ้นมาแทน เชลบี้ คอบร้า (Shelby Cobra) โดยปราศจากการทำสัญญาข้อตกลงใด ๆ

          แต่อย่างว่า ธุรกิจก็คือธุรกิจ ท้ายที่สุดเชลบี้ได้ร่วมกับฟอร์ด (Ford) เพื่อสร้าง Ford GT 40 ออกมาในปี 1964 ทำให้ เดอ โทมาโซ เลือกตั้งชื่อรถของตนเองว่า Mangusta หรือพังพอนเพื่อเอาคืนเชลบี้

          De Tomaso Mangusta นั้นได้รับการออกแบบจากนักออกแบบที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นปรมาจารย์ด้านการออกแบบอย่างที่ชาวอิตาเลียนจะเรียกว่ามาเอสโตร (Maestro) อย่าง จิออเก็ตโต จูจาโร (Giorgetto Giugiaro) ให้ดูเรียบง่ายแต่โดดเด่นด้วยประตูปีกนกนางนวลในส่วนที่เก็บของและห้องเครื่องยนต์ที่วางกลางลำด้านท้ายรถแบบ V8 ของฟอร์ด โดยในตลาดยุโรปจะได้ขนาดความจุ 4.7 ลิตร 306 แรงม้า

          ส่วนในตลาดอเมริกาจะได้เครื่องยนต์ที่มีความจุใหญ่ขึ้นเป็น 5.0 ลิตร แต่มีกำลังน้อยกว่า ที่ 221 แรงม้า จับคู่กับเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ และมีระบบกันสะเทือนแบบอิสระพร้อมทั้งดิสก์เบรก 4 ล้อ มาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน

เมลคุส อาร์เอส 1000 ปี 1969 (Melkus RS 1000)

รถยนต์ประตูปีกนก

          Melkus RS 1000 เป็นรถสปอร์ตน้ำหนักเบาของยุโรป ผลิตในช่วงปี 1969 ถึง 1979 ที่โรงงานเดรสเดิน ในเยอรมนี ซึ่งยังใช้แชสซีส์ Ladder Frame (เหมือนรถกระบะ) พร้อมโรลบาร์ส่วนตัวถังนั้นใช้วัสดุล้ำสมัยด้วยไฟเบอร์กลาส Melkus RS 1000 เป็นรถอีกหนึ่งรุ่นที่ได้ใช้ประตูห้องโดยสารแบบปีกนก

          วางเครื่องยนต์กลางลำ แบบ 3 สูบ 2 จังหวะ ขนาดความจุแค่ 992 ซี.ซี. แต่ด้วยน้ำหนักที่เบาจึงสามารถทำความเร็วได้ถึง 175 กม./ชม. โดยในรุ่นที่ใช้สำหรับแข่งขันนั้นจะได้ชุดคาบูเรเตอร์แบบสปอร์ต ให้กำลัง 118 แรงม้า และสามารถทำความเร็วสูงสุด 210 กม./ชม. ซึ่งต่อมาได้เพิ่มความจุกระบอกสูบเป็น 1,200 ซี.ซี. โดย Melkus RS 1000 ผลิตขึ้นมาทั้งหมด 101 คัน

บริคลิน เอสวี-1 ปี 1974 (Bricklin SV-1)

รถยนต์ประตูปีกนก

          Bricklin SV-1 เป็นรถสปอร์ตจากผู้ผลิตรายย่อยจากฝั่งอเมริกาที่ก่อตั้งโดยมหาเศรษฐีอย่าง มัลคอล์ม บริคลิน ( Malcolm Bricklin) ได้ว่าจ้างให้  เฮิร์บ กราสซ์ เป็นผู้ออกแบบ Bricklin SV-1 ซึ่งเลือกใช้ประตูแบบปีกนกนางนวลที่สามารถเปิด-ปิดได้ด้วยการกดปุ่มมาเป็นอุปกรณ์มาตรฐานจากโรงงานโดยไม่ต้องติดตั้งเพิ่ม ภายใต้แนวคิดของการเป็นรถสปอร์ตที่ราคาไม่แพงและปลอดภัย (SV-1 ย่อมาจาก Safety Vehicle one) ด้วยการติดตั้งโรลเคจและการออกแบบให้มีกันชนที่ยุบตัวรับแรงกระแทกได้ที่ความเร็ว 8 กม./ชม.

          รวมถึงคานด้านข้าง ตัวถังทำจากวัสดุอย่างไฟเบอร์กลาสและฝากระโปรงอะคริลิก รวมถึงยังเลือกใช้สีตัวถังที่สามารถเห็นได้ชัดเจนเพื่อความปลอดภัยอย่าง สีขาว, สีแดง, สีเขียว, สีส้ม และสีน้ำตาลอ่อน ซันแทน

          นอกจากนี้ภายในห้องโดยสารของ Bricklin SV-1 ยังไม่ติดตั้งที่จุดและที่เขี่ยบุหรี่มาให้เพราะตัวของ มัลคอล์ม บริคลิน นั้นไม่สูบบุหรี่และเขายังคิดว่าการสูบบุหรี่ขณะขับรถนั้นเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุอีกด้วย ทางด้านเครื่องยนต์นั้น Bricklin SV-1 เลือกใช้ของ AMC แบบ V8 ในปีแรก ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นเครื่องยนต์ Ford 351 Windsor แบบ V8 ที่ใช้ใน Ford Mustang

เดอโลรีน ดีเอ็มซี ปี 1981 (Delorean DMC-12)

รถยนต์ประตูปีกนก

          Delorean DMC-12 เป็นรถสปอร์ตอเมริกันอีกหนึ่งคันที่ใช้ประตูเปิดแบบปีกนกที่เป็นผลงานการดีไซน์ของ จิออเก็ตโต จูจาโร แต่ความโด่งดังนั้นกลับเกิดจากการที่ถูกนำมาเข้าฉากในภาพยนตร์ที่โด่งดังไปทั่วโลกอย่าง Back to the Future หรือเจาะเวลาหาอดีต

          ซึ่งผลิตโดย DeLorean Motor Company ของ จอห์น เดอโลรีน เพื่อจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาในช่วงปี 1981-1983 ซึ่งภายหลัง จอห์น เดอโลรีน ถูกจับเพราะค้ายาและอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ DeLorean Motor Company และ Delorean DMC-12 ต้องหมดอนาคตลงอย่างรวดเร็ว

          อย่างไรก็ตาม Delorean DMC-12 มาพร้อมกับนวัตกรรมสุดทันสมัยด้วยแชสซีส์และโครงสร้างตัวถังไฟเบอร์กลาส ส่วนตัวถังภายนอกนั้นใช้วัสดุอย่างสเตนเลสปัดเงาแทนการพ่นสีแบบรถทั่วไป รวมไปถึงเครื่องยนต์ที่ในตอนแรกจะใช้แบบ แวนเคิล โรตารี่ วางกลางลำ แต่สุดท้ายเปลี่ยนมาเป็นเครื่องยนต์ PRV (Peugeot-Renault-Volvo) แบบ V6 ขนาดความจุ 2.8 ลิตร
   
  ออโต้แซม เอแซด-1 ปี 1992 (Autozam  AZ-1)

รถยนต์ประตูปีกนก

          Autozam  AZ-1 เป็นรถสปอร์ตจากญี่ปุ่นคันเดียวในที่นี้ที่มีบานประตูแบบปีกนกมาให้แถมยังมีขนาดตัวถังที่เล็กจิ๋วที่สุด ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่ม K-Car หรือไคจิโดฉะ (Kei Jidosha) ของญี่ปุ่น ที่สำคัญเคยถูกนำเข้ามาจำหน่ายในบ้านเราโดยผู้นำเข้าอิสระในช่วงยุค 90 อีกด้วย

          Autozam  AZ-1 เป็นรถที่ออกแบบและผลิตโดย Suzuki และจำหน่ายผ่านช่องทางของ Mazda ภายใต้แบรนด์ Autozam เปิดตัวครั้งแรกในปี 1992 ถึงแม้จะเป็นรถยนต์ขนาดเล็กแต่ก็วางเครื่องยนต์ขนาด 657 ซี.ซี. ไว้กลางลำแบบซูเปอร์คาร์ราคาแพง ให้กำลัง 64 แรงม้า และแรงบิด 85 นิวตันเมตร ในขณะที่ตัวรถของ Autozam  AZ-1 มีน้ำหนักเบาเพียง 720 กิโลกรัมเท่านั้น
   
อิสเดอรา คอมเมนดาตอเร ปี 1993 (Isdera Commendatore)

รถยนต์ประตูปีกนก

          Isdera Commendatore 112i รถซูเปอร์คาร์ของเยอรมนีที่ถือกำเนิดขึ้นในปี 1993 และติดตั้งประตูแบบปีกนก ซึ่งใช้เครื่องยนต์ของ Mercedes-Benz แบบ V12 สูบ ขนาด 6.0 ลิตรไว้กลางลำ ให้กำลังสูงสุด 402 แรงม้า และแรงบิด 580 นิวตันเมตร ส่งกำลังผ่านเกียร์ 6 จังหวะ ขับเคลื่อน 2 ล้อหลัง สามารถทำความเร็วจาก 0-100 ได้ภายใน 4.7 วินาที

          และเพื่อรักษาเสถียรภาพขณะแล่นด้วยความเร็วสูง Isdera Commendatore 112i ได้ติดตั้งระบบ velocity-sensitive electronic chassis ที่จะลดความสูงตัวถังลงโดยอัตโนมัติให้แนบติดพื้นถนนลงอีก 3 นิ้ว

บริสตอล ไฟท์เตอร์ ปี 2004 (Bristol Fighter)

รถยนต์ประตูปีกนก

          Bristol คือผู้ผลิตรถระดับหรูแบบแฮนด์เมดของอังกฤษ ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นผู้ผลิตเครื่องบินในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีคนงานมากกว่า 50,000 คน และหลังจากสงครามสิ้นสุดลง Bristol จึงได้เริ่มก่อตั้งแผนกรถยนต์ขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของ Bristol Aeroplane ซึ่งต่อมาได้กลายเป็น Bristol Cars Limited

          ในช่วงปี 2004 Bristol Cars ได้มีการผลิต Bristol Fighter รถสปอร์ตที่มีประตูเปิดกางออกได้แบบปีกนกนางนวล ซึ่งออกแบบโดย แม็กซ์ บ็อกซ์สตรอม (Max Boxstrom) ผู้ก่อตั้ง Brabham Formula One และคร่ำหวอดอยู่ในวงการรถสูตร 1 มาก่อน

          ทำให้ Bristol Fighter มีค่าสัมประสิทธิ์ต่ำเพียง 0.28 และวางเครื่องยนต์ V10 สูบ ขนาดความจุ 8.0 ลิตร ที่ยกมาจากรถสปอร์ตอย่าง ดอดจ์ ไวเปอร์ (Dodge Viper) และรถกระบะดอดจ์ แรม เอสอาร์ที-10 (Dodge Ram SRT-10) มาทำการปรับแต่งจนมีพละกำลังสูงถึง 532 แรงม้า และแรงบิด 698 นิวตันเมตร ซึ่งในส่วนของเครื่องยนต์นั้นแต่เดิม Bristol ก็เลือกใช้ของไครสเลอร์มาตั้งแต่ปี 1961 แล้ว

เมอร์เซเดส-เบนซ์ เอสแอลเอส ปี 2010 (Mercedes-Benz SLS)

รถยนต์ประตูปีกนก

          แทบไม่ต้องอธิบายให้เสียเวลาว่า Mercedes-Benz SLS คือผู้สืบทอดความสำเร็จโดยตรงต่อจาก Mercedes-Benz 300SL ที่โด่งดังจนเป็นตำนาน เพราะฉะนั้น Mercedes-Benz SLS จึงมีสิทธิ์อันชอบธรรมที่จะใช้ประตูแบบปีกนกนางนวลได้อย่างภาคภูมิ

          ซึ่ง SLS ได้รับการพัฒนาร่วมกับ AMG บริษัทในเครือของ Mercedes-Benz และประกอบด้วยมือทั้งคันซึ่งรวมถึงเครื่องยนต์ V8 ขนาดความจุ 6.3 ลิตร ที่วางกลางลำด้านหน้า โดยมีเกียร์อัตโนมัติแบบคลัตช์คู่  7 จังหวะให้เลือกเป็นออปชั่น

กัมเพิร์ต อะพอลโล ปี 2012 (Gumpert Apollo)

รถยนต์ประตูปีกนก

          Gumpert Apollo ซูเปอร์คาร์จากเยอรมนี ได้เริ่มทำการผลิตในฐานะรถที่สามารถวิ่งบนถนนสาธารณะได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายเมื่อปี 2012 พร้อมกับการติดตั้งประตูแบบปีกนก ซึ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรกที่งานเจนีวา มอเตอร์โชว์ ปี 2013 แต่สำหรับการเป็นรถแข่งแล้ว Gumpert Apollo ได้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2005 ลงสนามครั้งแรกในรายการ Divinol Cup โดย รูเบน เมส์ (Ruben Meas) นักขับชาวเบลเยียม เข้าเส้นชัยเป็นอันดับ 3 ที่สนามแข่งฮอคเคินไฮม์ริง ประเทศเยอรมนี

          โดยอีก 3 ปีต่อมา ได้ส่ง Gumpert Apollo ไฮบริด เข้าร่วมการแข่งขัน 24 ชม. นูร์เบอร์กริง ด้วยเครื่องยนต์ V8 ขนาดความจุ 3.3 ลิตร ทวินเทอร์โบ ให้กำลัง 512 แรงม้า ประสานกับมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ตัว ที่ให้กำลัง 134 แรงม้า และสามารถชาร์จไฟกลับเข้าแบตเตอรี่ได้ด้วยการเบรก

          สำหรับรุ่นที่สามารถวิ่งบนถนนสาธารณะได้อย่างถูกกฎหมายนั้นใช้เครื่องยนต์ V8 ขนาด 4.2 ลิตร เทอร์โบ วางกลางลำ ขับเคลื่อนล้อหลัง ที่มีโครงสร้างด้วยท่อโลหะผสมอย่างโครโมลี (Chromoly) ครอบด้วยตัวถังที่ทำจากไฟเบอร์กลาสหรือสั่งพิเศษสำหรับคาร์บอนไฟเบอร์ โดย Gumpert ได้เคลมว่า Gumpert Apollo จะสามารถทำความเร็วได้เกิน 300 กม./ชม.

 เทสลา โมเดล เอ็กซ์  ปี2016 (Tesla  Model X)

รถยนต์ประตูปีกนก

          แม้ว่าประตูปีกนกนางนวลจะไม่ใช่ของใหม่อีกต่อไปแต่ก็ยังคงสร้างความน่าตื่นตะลึงได้เสมอ เมื่ออยู่บนตัวถังของรถ SUV พลังไฟฟ้าอย่าง Tesla  Model X ในรุ่นที่ผลิตจำหน่ายจริงเฉพาะบานประตูคู่หลังเพื่อความล้ำ

          โดยทั่วไปแล้วบานประตูลักษณะนี้มักจะปรากฏในรถซูเปอร์คาร์หรือรถสปอร์ตมากกว่า และไม่รู้ว่านี่เป็นหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ Tesla  Model X มีราคาสุดแรงด้วยหรือไม่

          อย่างไรก็ตามTesla  Model X มีทั้งหมด 3 รุ่น คือ P90D, 90D และ 70D ที่สามารถวิ่งได้ไกลสูงสุดถึง 350-400 กิโลเมตรต่อการชาร์จไฟ 1 ครั้ง โดยจะเริ่มส่งมอบกันต้นปี 2016

          ไม่ต้องสงสัยเลยว่าแม้เวลาจะผ่านไปกี่ยุคสมัยประตูปีกนกนางนวลหรือ "Gull wing" ก็ยังคงโดดเด่นน่าประทับใจเสมอ

ภาพจาก carophile

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
11 รถยนต์ประตูปีกนก ที่โดดเด่นสุดในวงการยานยนต์ อัปเดตล่าสุด 25 มิถุนายน 2564 เวลา 15:22:57 35,573 อ่าน
TOP