วิธีเช็ก ใบสั่งออนไลน์ สามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยตัวเองก่อนจ่ายค่าปรับ หากไม่แน่ใจว่าใบสั่งที่ได้มานั้นเป็นของจริงหรือของปลอมโดยแก๊งมิจฉาชีพ
ใครที่ยังไม่เคยโดน ใบสั่งออนไลน์ หรือ ใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์ (e-Ticket) ซึ่งหน้าตาจะออกมาเป็นสลิปคล้ายใบเสร็จตามห้างสรรพสินค้า ก็คงจะต้องมีงง ๆ กันบ้าง โดยเฉพาะกรณีไม่ได้รับจากเจ้าหน้าที่โดยตรง เช่น อยู่ดี ๆ มีมาแปะอยู่ที่หน้ารถ อย่างกรณีจอดรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ในที่ห้ามจอด หรือไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน ในยุคที่แก๊งมิจฉาชีพระบาดหนัก ยิ่งชวนให้สงสัยและเกิดความลังเลว่า ใบสั่งเหล่านี้เป็นของปลอมหรือไม่ หากใครพบเหตุการณ์ดังกล่าวแล้วไม่แน่ใจ ก่อนเสียค่าปรับให้ลองตรวจสอบง่าย ๆ ด้วยตัวเองได้เลย
ใบสั่งออนไลน์ปลอม หรือของจริงตรวจสอบยังไง
สำหรับ ใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ใบสั่งออนไลน์ จะมี QR Code ด้านล่างขวาระบุข้อความ ข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถสแกนตรวจสอบใบสั่งของตัวเองผ่านเว็บไซต์ ptm.police.go.th เท่านั้น แต่จะต้องลงทะเบียนก่อนใช้งาน ดังนั้นหากไม่แน่ใจให้เข้าไปที่หน้าเว็บไซต์เองได้เลยโดยตรง (ไม่ต้องสแกน) แล้วลงทะเบียนและตรวจสอบข้อมูล
หรือถ้าสแกนชำระเงินผ่าน QR Code ด้านซ้ายด้วย Mobile Banking จะขึ้นชื่อผู้รับโอน “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ-ค่าปรับจราจร” เท่านั้น โดยยอดค่าปรับจะต้องแสดงตรงตามใบสั่ง (ไม่สามารถแก้ไขยอดได้)
ใบสั่งจราจรมีกี่รูปแบบ
ปัจจุบัน ใบสั่งของตำรวจจราจรจะมีอยู่ 3 รูปแบบหลัก คือ
-
ใบสั่งชนิดเขียนด้วยลายมือ
-
ใบสั่งส่งทางไปรษณีย์ (ตรวจจับด้วยกล้อง)
-
ใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์ (ใบสั่งออนไลน์ หรือ e-Ticket)
ใบสั่งออนไลน์คืออะไร
ใบสั่งออนไลน์ หรือ ใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์ (e-Ticket) คือ การออกใบสั่งผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพา มีหลายรูปแบบ มีทั้งหน้าตาคล้ายเครื่องรูดบัตรเครดิตรุ่นใหม่และสมาร์ตโฟน ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้ติดตั้งแอปพลิเคชัน Police Ticket Management (PTM) สำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถออกและพิมพ์ใบสั่งจากตัวเครื่องได้ทันทีที่พบเห็นผู้กระทำผิดซึ่งหน้า แค่ไม่ต้องเขียนบนกระดาษด้วยลายมือแบบเดิม
ข้อมูลในใบสั่งออนไลน์ของจริงจะมีเลขที่ใบสั่ง เลขทะเบียนและประเภทรถ ข้อหาการกระทำผิด จำนวนค่าปรับตามเกณฑ์ที่กำหนด ระยะเวลาในการชำระค่าปรับ สถานที่กระทำผิด วันที่ เวลา หน่วยงาน และชื่อเจ้าหน้าที่ที่ออกใบสั่ง ไว้อย่างครบถ้วนชัดเจน หรืออาจรวมข้อมูลใบขับขี่กรณีพบตัวผู้กระทำผิด
โดยด้านล่างสุดของใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์จะมี QR Code สำหรับชำระค่าปรับผ่านระบบ Mobile Banking ที่อยู่ฝั่งซ้าย เพื่อความสะดวก ส่วนด้านขวาเป็น QR Code ข้อมูลเพิ่มเติม คือเอาไว้สำหรับสแกนตรวจสอบใบสั่งออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ ptm.police.go.th
ใบสั่งออนไลน์ จ่ายที่ไหน
การจ่ายค่าปรับใบสั่งออนไลน์สามารถทำได้หลายช่องทาง ได้แก่
-
สแกน QR Code ท้ายใบสั่ง ด้วย Mobile Banking ใช้ธนาคารไหนอยู่ก็ใช้แอปพลิเคชันนั้น จะระบุว่าชำระแก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ-ค่าปรับจราจร เท่านั้น
-
แอปพลิเคชัน Krungthai NEXT (ต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชันมาติดตั้งบนสมาร์ตโฟนก่อน)
-
แอปพลิเคชัน เป๋าตัง (ต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชันมาติดตั้งบนสมาร์ตโฟนก่อน)
-
ที่ทำการไปรษณีย์ไทย (มีค่าธรรมเนียมต่อรายการ 15 บาท)
-
ตู้ ATM และตู้รับฝากเงินสด ADM (มีค่าธรรมเนียมต่อรายการ 15 บาท)
-
จุดชำระเงิน CenPay เช่น ที่ห้าง Central, ห้าง Robinson, แฟมิลี่มาร์ท, Tops, ร้าน B2S, Power Buy, Super Sports, HomeWork และไทวัสดุ เป็นต้น (มีค่าธรรมเนียมต่อรายการ 15 บาท)
-
ตู้บุญเติม (มีค่าธรรมเนียมต่อรายการ 20 บาท)
-
สาขาธนาคาร (มีค่าธรรมเนียมต่อรายการ 20 บาท)
-
จุดที่มีสัญลักษณ์ PTM ชำระค่าปรับจราจร
ตรวจสอบใบสั่งค้างชำระได้ที่ไหน
เช่นเดียวกับการตรวจสอบใบสั่งออนไลน์ หรือใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์ คือสามารถเช็กได้ผ่านเว็บไซต์ ptm.police.go.th ซึ่งจะมีบริการหลายแบบ ดังนี้
-
ตรวจสอบใบสั่งออนไลน์
-
ตรวจสอบการค้างชำระค่าปรับ
-
แสดงประวัติการได้รับใบสั่งจราจร
-
ดูใบสั่งจราจรย้อนหลัง (ที่ยังไม่หมดอายุความ)
-
จ่ายค่าปรับ
ใบสั่งออนไลน์ ไม่จ่าย ได้หรือไม่
หากได้รับใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์ หรือใบสั่งทุกรูปแบบ แล้วไม่ยอมไปชำระค่าปรับตามระยะเวลาที่กำหนด นอกจากจะมีการตัดคะแนนใบขับขี่แล้ว จะมีการส่งข้อมูลรถคันที่กระทำผิดไปยังกรมการขนส่งทางบก เพื่องดออกเครื่องหมายการเสียภาษีประจำปี พร้อมกับพนักงานสอบสวนจะออกหมายเรียกผู้ต้องหาเพื่อให้มาชำระค่าปรับ
แต่ถ้ายังไม่มาพบตามหมายเรียกครบ 2 ครั้ง พนักงานสอบสวนจะยื่นคำร้องขออนุมัติศาลในเขตพื้นที่เพื่อออกหมายจับ และเมื่อถูกออกหมายเรียกหรือหมายจับ ผู้ต้องหาจะถูกแจ้งข้อหาตามใบสั่ง และความผิดตามมาตรา 155 สำหรับผู้ที่ไม่ชำระค่าปรับในเวลาที่กำหนดในใบสั่งโดยไม่มีเหตุสมควร ซึ่งมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
อย่างไรก็ตาม ผู้ขับขี่รถทุกประเภทควรปฏิบัติตามกฎจราจร ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ไม่ต้องเสียค่าปรับ และที่สำคัญไปกว่านั้นคือ ลดโอกาสการเกิดอุบัติเหตุ แต่หากโดนใบสั่งไม่ว่าจะรูปแบบใดก็ตาม ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าเราได้กระทำผิดจริงหรือไม่ เป็นใบสั่งออนไลน์ปลอมหรือของจริง ก่อนชำระค่าปรับทุกครั้ง
ขอบคุณข้อมูลจาก : gcc.go.th, ptm.police.go.th