ใบสั่งออนไลน์เช็กง่าย ๆ ใครโดนใบสั่งแล้วไม่จ่าย ตำรวจออกหมายจับ

ขับรถทำผิดกฎจราจรโดนใบสั่งแล้วยังนิ่งไม่จ่ายค่าปรับ ตำรวจเอาจริงออกหมายจับได้ หากไม่รู้ว่าโดนใบสั่ง หรือทำใบสั่งหาย สามารถเช็กใบสั่งออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ไม่ยาก

ใบสั่งออนไลน์

หลังจากที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้ออกแนวทางการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ขับขี่รถยนต์และมอเตอร์ไซค์ผิดกฎจราจรแล้วไม่ยอมจ่ายค่าปรับ ซึ่งที่ผ่านมีผู้กระทำความผิดไม่มาชำระค่าปรับเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังเป็นการทำผิดซ้ำ ๆ อยู่ต่อเนื่อง จึงได้กำหนดมาตรการในการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว เพื่อช่วยลดปัญหาอุบัติเหตุและปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ โดยมีขั้นตอนที่ต้องปฏิบัติตาม ดังนี้

  • ผู้ขับขี่ที่ทำความผิดซึ่งหน้า หรือความผิดที่ตรวจจับด้วยกล้อง เช่น กล้องจับความเร็ว และกล้องตรวจจับการฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจร พนักงานจราจรจะออกใบสั่งให้กับผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522
  • ผู้ขับขี่ที่โดนใบสั่งไม่ยอมชำระค่าปรับตามระยะเวลาที่กำหนด พนักงานจราจรจะออกหนังสือ หรือใบเตือน โดยจัดส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับภายใน 15 วัน นับแต่วันครบกำหนดชำระค่าปรับในใบสั่งตามช่องทางที่กำหนด
  • หากพ้นระยะเวลาที่กำหนดไว้ในใบเตือนแล้วยังไม่ชำระค่าปรับ จะโดนตัดคะแนนใบขับขี่ทำการส่งข้อมูลรถคันที่กระทำความผิดไปยังกรมการขนส่งทางบก เพื่องดออกเครื่องหมายการเสียภาษีประจำปี พร้อมกับพนักงานสอบสวนจะออกหมายเรียกผู้ต้องหาให้มาชำระค่าปรับ หากไม่มาพบตามหมายเรียกทั้ง 2 ครั้ง พนักงานสอบสวนจะยื่นคำร้องขออนุมัติศาลในเขตพื้นที่เพื่อออกหมายจับ

เมื่อถูกออกหมายเรียกหรือหมายจับ ผู้ต้องหาจะถูกแจ้งข้อกล่าวหาตามข้อหาที่ได้กระทำผิดตามใบสั่ง และความผิดข้อหาตามมาตรา 155 คือ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตาม ม.141 (ชำระค่าปรับในเวลาที่กำหนดในใบสั่ง) โดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท 

ซึ่งในขั้นตอนนี้ผู้ต้องหาต้องเดินทางมาพบพนักงานสอบสวนด้วยตนเอง ไม่สามารถชำระค่าปรับตามช่องทางต่าง ๆ ได้ และถ้าหากถึงขั้นถูกออกหมายจับจะมีการบันทึกประวัติในระบบฐานข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อาจส่งผลถึงการทำงาน สมัครงานในอนาคต สำหรับหมายจับในคดีอาญานี้จะเป็นอันเลิกแล้วต่อกันเมื่อผู้ต้องหามาพบพนักงานสอบสวนด้วยตนเองและยินยอมเปรียบเทียบปรับ

ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าว เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป สำหรับผู้ที่โดนใบสั่งแล้วยังไม่เสียค่าปรับ หรือทำใบสั่งหาย มีวิธีในการตรวจเช็กใบสั่ง ดังนี้

วิธีเช็กใบสั่งออนไลน์

ใครที่โดนใบสั่งและยังไม่เสียค่าปรับ หรือโดนใบสั่งแต่ทำหายไปแล้วเลยไม่มีเอกสารในการเสียค่าปรับ ปัจจุบันได้มีการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการตรวจเช็กใบสั่งย้อนหลัง ใบสั่งที่ยังไม่เสียค่าปรับ ผ่านทางเว็บไซต์ ptm.police.go.th 

ขั้นตอนการใช้งานตรวจเช็กใบสั่งออนไลน์

1. เข้าไปที่เว็บไซต์ ptm.police.go.th

2. กรอกเลขบัตรประชาชนและรหัสผ่าน (กรณีเคยใช้งานแล้ว) หากยังไม่เคยให้เลือก “ลงทะเบียนใช้งาน”

ใบสั่งออนไลน์

ภาพจาก : ptm.police.go.th

3. กรอกข้อมูลส่วนตัว ชื่อ-นามสกุล เลขประจำตัวประชาชน และเลขหลังบัตรประชาชน

ใบสั่งออนไลน์

ภาพจาก : ptm.police.go.th

4. เลือกรูปแบบข้อมูลที่ต้องการใช้ลงทะเบียน ข้อมูลรถที่ครอบครองหรือใช้ข้อมูลใบขับขี่ โดยจะเลือกได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

ใบสั่งออนไลน์

ภาพจาก : ptm.police.go.th

5. กรอกข้อมูลตามแบบฟอร์มให้ครบถ้วน

6. ระบบจะแสดงข้อมูลทั้งหมดที่ได้กรอกไว้ ทำการตรวจสอบความถูกต้อง แล้วกรอกอีเมลเพื่อใช้ในการลงทะเบียน

ใบสั่งออนไลน์

ภาพจาก : ptm.police.go.th

7. ตรวจสอบอีเมลที่ใช้ยืนยัน นำรหัส OTP จำนวน 6 หลักที่ถูกส่งไปยังอีเมลมาใช้เพื่อยืนยันการสมัคร

8. ตั้งรหัสผ่าน และยืนยันรหัสผ่านอีกครั้ง เสร็จแล้วเลือก ลงทะเบียน

9. ทำการ Login ด้วยเลขบัตรประชาชนและรหัสผ่านที่ตั้งไว้ จากนั้นเลือกช่วงเวลาที่ต้องการตรวจสอบใบสั่งค้างชำระ กรอกทะเบียนรถ เลขที่ใบสั่ง กดค้นหา หากมีใบสั่งขึ้นมาในระบบแสดงว่ามีใบสั่งค้างชำระ แต่หากไม่มีการค้างชำระ ระบบจะแจ้งว่าไม่พบข้อมูลใบสั่งในระบบ

ใบสั่งออนไลน์

ภาพจาก : ptm.police.go.th

วิธีจ่ายเงินค่าปรับใบสั่งจราจร

ชำระค่าปรับออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน Krungthai NEXT หรือชำระที่สถานีตำรวจ,​ ธนาคารกรุงไทย, สาขาของไปรษณีย์ไทย, ตู้ ATM ธนาคารกรุงไทย หรือตู้บุญเติม หรือสามารถสอบถามข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจร (บก.02) หมายเลขโทรศัพท์ 1197

อย่างไรก็ตาม เพื่อหลีกเลี่ยงการกระทำผิดกฎหมายจราจร ผู้ขับขี่ควรขับรถตามข้อบังคับของเครื่องหมายจราจร ใช้ความเร็วตามกฎหมายกำหนด นอกจากจะไม่โดนใบสั่งแล้วยังช่วยลดโอกาสการเกิดอุบัติเหตุด้วย

ขอบคุณข้อมูลแและภาพจาก : ptm.police.go.throyalthaipolice.go.th

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ใบสั่งออนไลน์เช็กง่าย ๆ ใครโดนใบสั่งแล้วไม่จ่าย ตำรวจออกหมายจับ อัปเดตล่าสุด 12 มกราคม 2566 เวลา 17:21:44 44,756 อ่าน
TOP
x close