x close

จัดเก็บภาษีตาม CO2 โครงสร้างใหม่ สู่ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ

ภาษีรถยนต์

จัดเก็บภาษีตาม CO2 โครงสร้างใหม่ สู่ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ (ยานยนต์)

          "ภาษี" ได้ยินคำนี้เมื่อใดแปลว่า เสียตังค์ ซึ่งมันก็จริงอย่างว่า แต่ถึงกระนั้นเราก็ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เขียนเอาไว้ ถึงแม้จะไม่เห็นด้วยในบางกรณีก็ตาม การเสียภาษีจึงเป็นหน้าที่อย่างหนึ่งในการเป็นพลเมืองแต่ละประเทศ คือต้อง "จ่าย" ให้กับรัฐบาลเพื่อนำเงินไปใช้ในการบริหารประเทศ เป็นการหารายได้ให้พอกับค่าใช้จ่ายของรัฐบาลเพื่อการกระจายรายได้ เพื่อควบคุมการบริโภคของประชาชน เพื่อการชำระหนี้สินของรัฐบาล หรือสนองนโยบายธุรกิจและการคลัง ไม่ว่าจะเป็น ภาษีเงินได้บุคคล, ภาษีป้าย, ภาษีโรงเรียน, ภาษีบำรุงท้องที่, ภาษีสรรพสามิต ฯลฯ

          โครงสร้างภาษีแต่ละอย่างเป็นเรื่องที่ซับซ้อน ส่งผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบ จึงไม่ใช่เรื่องแปลก หากเมื่อไหร่ก็ตามที่รัฐบาลประกาศโครงสร้างภาษีรูปแบบใหม่ ส่งผลให้ประชาชนและผู้ประกอบการต่าง ๆ ต้องจ่ายเงินเพิ่ม กระแสตอบรับอย่างหนึ่งที่ตามมาโดยอัตโนมัติคือ "ไม่เห็นด้วย" หรือมีการคัดค้านนโยบายในการเรียกเก็บภาษี เนื่องจากมีผลกระทบตามมาในเรื่องของราคาสินค้าหรือค่าบริการที่คอยจ้องฉวยโอกาสอยู่แล้ว

          ไม่เว้นแม้แต่รถยนต์ ที่ทุกวันนี้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิตประจำวัน เพิ่มความสะดวกสบายในการเดินทาง และในอีก 3 ปีข้างหน้าทราบกันหรือยังว่ารัฐบาลเตรียมตัวปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่จากเดิมกรมสรรพสามิตจะเก็บภาษีโดยพิจารณาจากขนาดของเครื่องยนต์ และแรงม้าเพียงอย่างเดียว ส่วนโครงสร้างภาษีใหม่นั้นจะเน้นไปที่เรื่องการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CO2

          โครงสร้างภาษีรถยนต์แบบใหม่ คิดกันอย่างไร?

          อย่างที่เกริ่นนำไว้ว่าในอนาคตอันใกล้นี้ บ้านเราจะมีการจัดเก็บภาษีรถยนต์แบบใหม่ โดยภาษีรถยนต์นั้นเป็นการจ่ายภาษีในหมวดหมู่ของภาษีสรรพสามิต โดยคำว่า "ภาษีสรรพสามิต" หมายถึง ภาษีการขายเฉพาะที่เรียกเก็บจากสินค้าและบริการบางประเภทซึ่งมีเหตุผลสมควรที่จะต้องรับภาระภาษีสูงกว่าปกติ เช่น สินค้าที่บริโภคแล้วอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพและศีลธรรมอินดี เช่น เหล้า บุหรี่ หรือสินค้าและบริการที่มีลักษณะเป็นการฟุ่มเฟือย เช่น น้ำหอม เครื่องสำอาง รถยนต์ หรือสินค้าที่ได้รับผลประโยชน์เป็นพิเศษจากรัฐ รวมถึงสินค้าที่ก่อให้เกิดภาระต่อรัฐบาลในการที่จะต้องสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพื่อให้บริการแก่ผู้บริโภค หรือเป็นสินค้าที่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม "รถยนต์" จึงเข้าข่ายที่ต้องจ่ายภาษีสรรพสามิตแบบเต็ม

          และตามที่เราได้เห็นในข่าว รัฐบาลมีนโยบายในการปฏิรูปจัดเก็บภาษีรถยนต์รูปแบบใหม่ ซึ่งการปรับปรุงโครงสร้างการจัดเก็บภาษีรถยนต์ในครั้งนี้ จะมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดเก็บ จากเดิมกรมสรรพสามิตจะเก็บภาษีโดยพิจารณาจากขนาดของเครื่องยนต์ และแรงม้า ส่วนโครงสร้างภาษีใหม่นั้นจะเน้นไปที่เรื่องการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามมาตรฐานของยุโรป "ปล่อยมลพิษเยอะเสียภาษีแพง ปล่อยน้อยเสียถูก และถ้าปล่อยมลพิษได้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ก็จะมีส่วนลดภาษีให้ด้วย"

          ยกตัวอย่าง การจัดเก็บภาษีใหม่จะปรับลดขนาดเครื่องยนต์เหลือ 2 ระดับเท่านั้น คือนาดไม่เกิน 3,000 cc. และเกิน 3,000 cc. ควบคู่กับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดอัตราภาษีว่าต้องจ่ายเท่าไหร่ สำหรับรถยนต์นั่ง หากปล่อยน้อยกว่า 100 กรัม/กิโลเมตร จะได้อัตราภาษีต่ำสุด 25 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้ามากกว่าก็จะทยอยปรับเพิ่มขึ้นอีกเป็นระดับ ฯลฯ

          สาเหตุที่ต้องเปลี่ยนแปลง

          จากที่ยกตัวอย่างไปข้างต้น แนวคิดการจัดเก็บภาษีในรูปแบบนี้เป็นการสนับสนุนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มมาตรฐานความปลอดภัยของรถยนต์เป็นหลัก โดยสาเหตุของการปรับโครงสร้าง เนื่องจากโครงสร้างภาษีรถยนต์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้นมีทั้งหมด 43 อัตรา ทำให้เกิดความไม่ชัดเจนด้านนโยบาย การจัดเก็บภาษี และการลงทุน พูดตรง ๆ ก็คือ การจัดเก็บภาษีของบ้านเรายัง "ล้าหลัง" ไม่สนับสนุนให้มีการลดปริมาณ การปล่อยก๊าซ CO2 และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การปรับลดภาษีให้กับรถยนต์ E 20 และ E 85 ทำให้รัฐสูญเสียรายได้เป็นจำนวนมาก แต่ไม่ได้สะท้อนให้เห็นว่า มีการใช้พลังงานทดแทนอย่างจริงจัง

ภาษีรถยนต์

          แนวทางในการจัดเก็บ

          เรื่องการปรับโครงสร้างในครั้งนี้ รัฐบาลเริ่มศึกษาถึงความเป็นไปได้สู่การจัดเก็บในรูปแบบที่เป็นสากล เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ที่ใช้มาตรการดังกล่าว เช่น ญี่ปุ่น และประเทศในยุโรป ดูทรงแล้วรัฐบาลมีแนวโน้มที่จะเอาจริง และถือเป็นเรื่องปกติ เมื่อมีความเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างภาษีเกิดขึ้น แน่นอนว่าย่อมต้องมีผลกระทบตามมา โดยเฉพาะเรื่องนี้ค่ายรถยนต์ต้องรับไปเต็ม ๆ

          ถ้าบังคับใช้จริง ๆ ค่ายรถยนต์ในบ้านเราจะต้องผลิตรถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และต้องปล่อยก๊าซ CO2 ตามที่กฎหมายกำหนด มิฉะนั้นต้องเสียภาษีสรรพสามิตเพิ่มขึ้นหลายเปอร์เซ็นต์ เสียงสะท้อนของค่ายรถยนต์เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งก็คือ เห็นด้วยกับแนวทางการปรับโครงสร้างภาษีใหม่ แต่ต้องมีความชัดเจนของอัตราการจัดเก็บภาษี โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นการปล่อย CO2 ที่ใช้เป็นเกณฑ์การลดหรือเพิ่มภาษี การพิจารณาอัตราภาษีจากค่าการปล่อยมลพิษนั้น ควรตรวจสอบทั้งระบบ ตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงปริมาณที่รถยนต์แต่ละรุ่นปล่อยมลพิษออกสู่อากาศ ไม่ควรวัดที่ปลายท่อไอเสียเพียงอย่างเดียว เนื่องจากทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่ผู้ผลิต เพราะรถยนต์บางประเภทแม้จะมีการปล่อยมลพิษจากตัวรถเป็น 0 แต่ในกระบวนการผลิตอาจต้องมีการปล่อยมลพิษจำนวนมากได้

          เวลาในการปรับตัว..สิ่งที่ค่ายรถยนต์ต้องการ

          แน่นอนว่าสิ่งที่ค่ายรถยนต์ต้องการมากที่สุดคือ "ระยะเวลาในการปรับตัว" ซึ่งการปรับโครงสร้างภาษีมีผลต่อการผลิตเพื่อขายในประเทศ และการสร้างไลน์ผลิตรถยนต์ก็ต้องใช้เม็ดเงินลงทุนมหาศาล ซึ่งในช่วงแรกที่มีข่าวนี้ออกมา รัฐบาลกะว่าจะบังคับใช้ภายใน 1 ปีเห็นทีจะส่งผลกระทบรุนแรง และที่แน่ ๆ ค่ายรถยนต์บอกว่า ภาษีใหม่นั้นจะส่งผลกระทบต่อการลดภาษีรถยนต์บางประเภทกระทบต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้น รถรุ่นที่เคยขายในราคาเดิมจะปรับเพิ่มขึ้น เมื่อค่ายรถเสียภาษีแพง ราคาขายเมื่อถึงมือลูกค้าก็ต้องจ่ายแพงตามไปด้วย ตรงจุดนี้รัฐบาลจึงต้องมีมาตรการรองรับอย่างเหมาะสม

          พร้อมกับเสียงสะท้อนของค่ายรถยนต์ที่เน้นย้ำเป็นพิเศษในกรณีของ "รถอีโคคาร์" ค่ายรถยนต์แสดงความเห็นว่า รัฐบาลจะต้องให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีกับรถในโครงการอีโคคาร์ ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดจากรัฐบาลดึงค่ายรถยนต์ต่าง ๆ เข้ามาลงทุนในโครงการนี้ ใช้เงินลงทุนหลายพันล้านบาท แถมยังมีการกำหนดให้ใช้ชิ้นส่วนในประเทศ รวมถึงกำหนดการผลิตไม่น้อยกว่า 1 แสนคัน ภายใน 5 ปี รวมทั้งให้ส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศด้วย ซึ่งตรงนี้รัฐบาลควรจะต้องคำนึงถึงสิทธิประโยชน์ของอีโคคาร์ เหนือกว่ารถประเภทอื่น ๆ เนื่องจากมีการลงทุน และสร้างมูลค่าให้กับประเทศไทยจำนวนมหาศาล

          สำหรับทางฝั่งรัฐบาลกับมาตรการ และผลบังคับใช้ ระบุคร่าว ๆ ว่าโครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่จะเก็บตามการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CO2 เป็นหลัก ซึ่งรถแต่ละประเภท เช่น รถยนต์นั่ง รถกระบะ, รถไฮบริด, รถใช้ไฟฟ้าหรืออีโคคาร์ จะมีการกำหนดค่าการปล่อย CO2 ที่แตกต่างกัน เพื่อไม่ให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ

          จัดเก็บภาษีตาม CO2...โครงสร้างใหม่สู่ความเป็นแปลงครั้งสำคัญ ดูจากภาพรวมแล้ว คงจะจริงแท้แน่นอน ก่อนเปลี่ยนโรงสร้างใหม่ ท่าทางตลาดรถยนต์ในบ้านเราคงคึกคักน่าดู คาดการณ์ว่าประชาชนต้องรีบซื้อก่อนที่รถยนต์บางรุ่นจะขึ้นราคา มองในแง่ดีโครงสร้างภาษีใหม่ น่าจะทำให้มลพิษทางอากาศลดลง ได้ใช้รถยนต์ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีที่ทันสมัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม + ประหยัด เข้ากระแสลดโลกร้อน ซึ่งในต่างประเทศ เขาเปลี่ยนมาใช้โครงสร้างภาษีเช่นนี้นานแล้ว



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
หนังสือยานยนต์
ปีที่ 45 เล่มที่ 568 กันยายน 2556






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
จัดเก็บภาษีตาม CO2 โครงสร้างใหม่ สู่ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ อัปเดตล่าสุด 18 พฤศจิกายน 2556 เวลา 10:38:49 2,676 อ่าน
TOP