รวมขั้นตอนวิธีการต่อ พ.ร.บ. รถยนต์ ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง เสียค่าใช้จ่ายเท่าไร สามารถต่อ พ.ร.บ. ผ่านช่องทางไหนได้บ้าง มาดูกัน
รถยนต์ นอกจากค่างวดหรือการดูแลบำรุงรักษาที่เราต้องรับผิดชอบแล้ว สิ่งหนึ่งที่เจ้าของรถจะต้องทำทุกปีนั่นก็คือ การต่อ พ.ร.บ. และการต่อภาษีประจำปี ผู้ที่เป็นมือใหม่หรือพึ่งมีรถคันแรกอาจรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก เพราะในช่วงแรกทางไฟแนนซ์หรือบริษัทรถที่เราใช้จะเป็นผู้ดำเนินการให้ ซึ่งอาจมีการบวกค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเข้าไปแล้ว อย่างไรก็ตาม การต่อ พ.ร.บ. ไม่ได้มีขั้นตอนหรือวิธีการที่ยุ่งยากอย่างที่คิด คุณเองก็สามารถทำได้ง่าย ๆ ซึ่งเราได้รวบรวมวิธีการต่อ พ.ร.บ. ขั้นตอนต่าง ๆ สิ่งที่ต้องใช้และราคาค่าใช้จ่ายมาให้แล้ว ไปดูกันเลย
พ.ร.บ. คืออะไร
พ.ร.บ. คือ การทำประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เป็นกฎหมายที่บังคับให้รถทุกคันที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกจะต้องทำ เพื่อเป็นหลักประกันในเบื้องต้นให้กับผู้ที่ใช้รถใช้ถนนทั้งรถยนต์หรือรถมอเตอร์ไซค์จะได้รับความคุ้มครองเงินค่ารักษาพยาบาลหากเกิดอุบัติเหตุ หรือค่าปลงศพ แต่ไม่รวมค่าความเสียหายของทรัพย์สิน
พ.ร.บ.รถยนต์ มีความสำคัญอย่างไร ?
พ.ร.บ.รถยนต์ เปรียบเสมือนประกันชนิดหนึ่งที่สามารถใช้เบิกค่ารักษาพยาบาลได้ โดยจะอยู่ในความดูแลของ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ซึ่งจะคุ้มครองเฉพาะตัวบุคคลเท่านั้น แยกเป็นแต่ละกรณีดังนี้
1. กรณีบาดเจ็บ ได้รับความเสียหายต่อร่างกาย จะได้รับความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลตามความเสียหายที่แท้จริง แต่ไม่เกิน 80,000 บาท ต่อหนึ่งคน
2. กรณีสูญเสียอวัยวะ, ทุพพลภาพอย่างถาวร หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง จะได้รับค่าสินไหมทดแทน 200,000 - 500,000 บาท ต่อหนึ่งคน
3. กรณีเสียชีวิต จะได้รับค่าสินไหมทดแทน 500,000 บาท ต่อหนึ่งคน
4. กรณีต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาล (คนไข้ใน) จะได้รับค่าชดเชยรายวัน วันละ 200 บาท (รวมกันไม่เกิน 20 วัน)
ผู้ที่จะได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ. ได้แก่ ทุกคนที่ประสบภัยจากรถ ไม่ว่าจะเป็นตัวผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร คนเดินเท้า หากได้รับความเสียหายแก่ชีวิต หรือร่างกาย อันเนื่องมาจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากรถก็จะได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.
พ.ร.บ. ซื้อได้ที่ไหนได้บ้าง ?
ปัจจุบันสามารถต่อ พ.ร.บ. ได้หลายช่องทางด้วยกัน ได้แก่ ทางออนไลน์ eservice.dlt.go.th, สำนักงานขนส่งทั่วประเทศ, ที่ทำการไปรษณีย์, ห้างสรรพสินค้า, ธนาคาร ธ.ก.ส. และเคาน์เตอร์เซอร์วิส
ต่อ พ.ร.บ.รถยนต์ ใช้เอกสารอะไร ?
การต่อ พ.ร.บ. จะใช้เอกสารเพียงแค่ บัตรประชาชนตัวจริงหรือสำเนา เล่มทะเบียนรถตัวจริงหรือสำเนา ก็สามารถซื้อ พ.ร.บ. ได้แล้ว
หากขับรถที่ไม่มีหรือยังไม่ได้ต่อ พ.ร.บ. แล้วเจ้าหน้าที่ตรวจพบจะมีความผิดและมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท หากต่อ พ.ร.บ. เรียบร้อยแต่ไม่แสดงเครื่องหมายหรือป้ายสี่เหลี่ยมติดไว้ที่หน้ารถให้เห็นอย่างชัดเจน จะมีโทษปรับไม่เกิด 1,000 บาท
สำหรับอัตราค่าใช้จ่าย พ.ร.บ. นั้นเป็นการกำหนดเป็นอัตราเบี้ยแบบคงที่อัตราเดียว โดยแยกตามประเภทรถ และลักษณะการใช้รถ ซึ่งราคาดังกล่าวยังไม่รวมภาษีอากร ดังนี้
1.รถที่ขับเคลื่อนด้วยกำลังเครื่องยนต์
รถจักรยานยนต์
- ไม่เกิน 75 ซี.ซี - 150 บาท/ปี
- เกิน 75 ซี.ซี.ไม่เกิน 125 ซี.ซี. - 300 บาท/ปี
- เกิน 125 ซี.ซี. ไม่เกิน 150 ซี.ซี. - 400 บาท/ปี
- เกิน 150 ซี.ซี. - 600 บาท/ปี
รถยนต์
- รถยนต์นั่งไม่เกิน 7 คน - 600 บาท/ปี
- รถยนต์โดยสารเกิน 7 คน แต่ไม่เกิน 15 ที่นั่ง - 1,100 บาท/ปี
- รถยนต์โดยสารเกิน 15 ที่นั่ง แต่ไม่เกิน 20 ที่นั่ง - 2,050 บาท/ปี
- รถยนต์โดยสารเกิน 20 ที่นั่ง แต่ไม่เกิน 40 ที่นั่ง - 3,200 บาท/ปี
- รถยนต์โดยสารเกิน 40 ที่นั่ง - 3,740 บาท/ปี
2.รถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า
- รถจักรยานยนต์ - 300 บาท/ปี
- รถยนต์นั่งไม่เกิน 7 คน - 600 บาท/ปี
ทั้งนี้ การต่อ พ.ร.บ. ทำได้ง่าย ๆ แค่เพียงไม่กี่ขั้นตอนเท่านั้น สะดวกและรวดเร็วเพราะมีจุดให้บริการหลายแห่ง และที่สำคัญสามารถดำเนินการได้ล่วงหน้าก่อนที่ พ.ร.บ. เดิมจะหมดอายุไม่เกิน 90 วัน หลังจากที่ต่อ พ.ร.บ. เรียบร้อยแล้ว ก็อย่าลืมดำเนินการต่อภาษีรถยนต์กันด้วย หากไม่รู้ต้องทำอย่างไร สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ : ขั้นตอนการต่อภาษีรถยนต์ 2565 มีวิธีอย่างไร ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง สามารถจองทะเบียนรถได้ที่นี่