คนพิการทําใบขับขี่ หรือใบขับขี่สาธารณะได้ไหม พิการแบบไหนสามารถขับรถได้ พร้อมขั้นตอนการทำใบขับขี่คนพิการต้องทำอย่างไร ทดสอบอะไรบ้าง
หากเป็นผู้พิการก็สามารถขับรถและสามารถทำใบขับขี่ได้ทั้งรถยนต์ และมอเตอร์ไซค์ รวมถึงรถ 3 ล้อ ซึ่งหากใครไปห้างสรรพสินค้า ปั๊มน้ำมัน หรือตามสถานที่ต่าง ๆ จะเห็นได้ว่ามีที่จอดรถสำหรับผู้พิการให้เห็นอยู่เสมอ แต่พิการแบบไหนทำใบขับขี่รถได้ มีขั้นตอนอย่างไร และสามารถทำใบขับขี่สาธารณะได้ด้วยหรือไม่ เรามีคำตอบ
คนพิการแบบไหนขับรถและทำใบขับขี่ได้
คนพิการ มีความหมายถึง คนหูหนวกหรือหูตึง หรือคนตาพิการหรือตาบอดหนึ่งข้าง หรือคนพิการนิ้ว มือ แขน ขา หรือลำตัว โดยไม่รวมถึงคนพิการทางสมองหรือบุคคลที่แพทย์วินิจฉัยว่ามีสภาพพิการจนไม่สามารถขับรถได้
อย่างไรก็ตาม ผู้พิการที่สามารถทำใบขับขี่ได้นั้นต้องเป็นความพิการที่ไม่ส่งผลต่อการขับขี่รถ และจะต้องมีใบรับรองแพทย์ที่ระบุว่าสามารถขับรถได้ ไม่เป็นอุปสรรคต่อการขับขี่หรือก่อให้เกิดอุบัติเหตุ แต่ทั้งนี้ ผู้พิการจะไม่สามารถทำใบขับขี่สาธารณะได้
ทำใบขับขี่คนพิการใช้เอกสารอะไรบ้าง
-
บัตรประชาชน
-
บัตรผู้พิการ หรือใบรับรองแพทย์อายุไม่เกิน 1 เดือน (ใบรับรองจากแพทย์เฉพาะทาง เพื่อแสดงว่าสามารถควบคุมบังคับรถได้)
ทำใบขับขี่คนพิการมีขั้นตอนอย่างไร
-
จองคิวทำใบขับขี่ล่วงหน้าผ่านแอปพลิเคชัน DLT Smart Queue หรือเว็บไซต์ gecc.dlt.go.th ของกรมการขนส่งทางบก
-
เข้าทดสอบสมรรถภาพร่างกาย
-
อบรมตามหลักสูตร 2 ชั่วโมง (สามารถอบรมได้จากโรงเรียนการขนส่ง กรมการขนส่งทางบก หรือโรงเรียนสอนขับรถที่กรมการขนส่งทางบกรับรอง หรือหน่วยงานภาครัฐหรือภาคเอกชนที่ได้ทำความตกลงกับกรมการขนส่งทางบก หรือผ่านช่องทาง วิธีการอื่นที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดไว้)
-
สอบข้อเขียน โดยจะต้องผ่าน 75% หรือทำได้ 23 ข้อ จาก 30 ข้อขึ้นไป กรณีไม่ผ่านสามารถสอบแก้ตัวได้ 1 ครั้ง หากไม่ผ่านอีกจะสอบได้อีกครั้งในวันถัดไป
-
สอบขับรถ โดยผู้สอบจะต้องสอบท่าบังคับ คือ การขับรถเดินหน้าและหยุดรถเทียบทางเท้า และให้เลือกทดสอบอีก 2 ท่า จากท่าทดสอบทั้งหมด 7 ท่า คือ
-
การขับรถเดินหน้าและถอยหลังในทางตรง
-
การขับรถถอยหลังเข้าจอดและออกจากช่องว่างด้านซ้าย
-
การหยุดรถและออกรถบนทางลาด
-
การกลับรถ
-
การขับรถเดินหน้าเข้าจอดในช่องที่เป็นมุมฉาก
-
การขับรถโดยปฏิบัติตามเครื่องหมายจราจร
-
กรณีรถยนต์สามล้อส่วนบุคคลสำหรับคนพิการที่แปรสภาพมาจากรถจักรยานยนต์ ซึ่งไม่มีเกียร์ถอยหลัง ให้ได้รับยกเว้นการทดสอบขับรถท่าที่ต้องถอยหลัง
รถดัดแปลงสำหรับผู้พิการต้องมีใบวิศวกรรับรอง
หากมีการดัดแปลงรถเพื่อให้ผู้พิการสามารถขับขี่ได้ถือว่าไม่ผิดกฎหมาย แต่ต้องดัดแปลงให้เหมาะสมกับบุคคลนั้น ๆ และการดัดแปลงหรือติดตั้งเสริมจะต้องมั่นคงแข็งแรง ถูกหลักวิศกรรมอันจะก่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้พิการซึ่งเป็นผู้ขับรถและผู้ใช้รถใช้ถนนรายอื่น ๆ ด้วย
ทั้งนี้ ผู้พิการที่อยากขับรถและทำใบขับขี่และไม่สามารถฝึกหัดขับรถเองได้ สามารถใช้บริการโรงเรียนสอนขับรถแก่ผู้พิการได้ แต่ในกรณีต่อใบขับขี่ ผู้พิการจะต้องทำการสอบขับรถใหม่ทุกครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถขับรถได้อย่างปลอดภัย
บทความที่เกี่ยวข้องกับใบขับขี่รถยนต์และจักรยานยนต์
ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ