เปิดค่าใช้จ่ายรถยนต์ต่อปี มีอะไรบ้าง ก่อนตัดสินใจซื้อรถคันแรก ซึ่งนอกจากค่าผ่อนงวดรถในแต่ละเดือนแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ตามมาอีก รวมแล้วไม่น้อยทีเดียว
แม้ปัจจุบันระบบขนส่งสาธารณะจะสะดวกขึ้นหลังจากรถไฟฟ้าเปิดให้บริการหลายสาย แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ส่วนระบบขนส่งมวลชนอื่น ๆ อาจไม่สะดวกสบายนัก หรือมีค่าใช้จ่ายสูง เรียกไม่ไป บ่อยครั้งไม่มีในเวลาที่ต้องการ จึงไม่แปลกที่คนส่วนหนึ่งยังอยากมีหรือจำเป็นต้องมีรถยนต์ส่วนตัว เพราะเมื่อเทียบค่าใช้จ่ายกับค่าผ่อนรถแล้วต่างกันไม่มาก แถมสะดวกสบายขึ้น แต่การซื้อรถยนต์ไม่ว่าจะเป็นรถใหม่หรือรถมือสองย่อมมีค่าใช้จ่ายรถยนต์ต่อปีตามมาด้วยเสมอ เพราะการมีรถ 1 คัน ไม่ได้มีแค่ค่างวดต่อเดือน หรือซื้อแล้วจบในกรณีเงินสด แต่ยังมีค่าต่าง ๆ ให้จ่ายอีกมาก ดังนั้น ใครที่กำลังตัดสินใจซื้อรถเป็นคันแรกต้องรู้
ค่าใช้จ่ายรถยนต์ต่อปี มีอะไรบ้าง
1. ค่าผ่อนงวดรถ
สำหรับผู้ที่ไม่ได้ซื้อรถเงินสด แน่นอนว่าต้องมีค่างวดผ่อนรถในแต่ละเดือนเกิดขึ้น ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนนี้ผู้ซื้อรถจะทราบดีตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ส่วนจะมากน้อยขึ้นอยู่กับราคารถ เงินดาวน์ จำนวนงวด และดอกเบี้ย
2. ค่าประกันภัยรถยนต์
สิ่งที่ต้องจ่ายตามมาในแต่ละปีคือค่าประกันภัยภาคสมัครใจ มีทั้งประกันชั้น 1, 2 และ 3 ราคาแตกต่างกันไปตามความคุ้มครอง คุ้มครองมากก็ต้องจ่ายเบี้ยประกันมาก
3. ค่าต่อภาษีรถยนต์ประจำปี
อีกหนึ่งรายจ่ายที่มีแน่นอนคือค่าต่อภาษีรถยนต์ประจำปี อันนี้หลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนค่าใช้จ่ายก็ต้องขึ้นอยู่กับขนาดความจุของเครื่องยนต์ ยิ่งความจุสูงยิ่งจ่ายแพงขึ้น
4. ค่า พ.ร.บ.
เป็นรายจ่ายที่มาคู่กับการต่อภาษีรถยนต์ประจำปี ส่วนนี้คือ ประกันภัยภาคบังคับ ซึ่งหมายถึงไม่ทำไม่ได้ ถือว่าผิดกฎหมายค่าปรับสูง และรถทุกคันที่จดทะเบียนหรือจะต่อภาษีต้องมี พ.ร.บ. นี้เสมอ จะเลือกทำกับประกันภัยเจ้าไหนก็ได้ เพราะราคาเท่ากัน
5. ค่าบำรุงรักษารถยนต์
ไม่ว่าจะรถใหม่ป้ายแดงหรือรถมือสอง ต้องมีค่าบำรุงรักษารายปีเสมอ เช่น การเปลี่ยนถ่ายของเหลวตามระยะทุก ๆ 6 เดือน หรือ 10,000 กิโลเมตร ส่วนราคาก็ขึ้นอยู่กับสถานที่เข้ารับบริการ แต่ปัจจุบันรถใหม่ป้ายแดงหลายยี่ห้อจะมีฟรีค่าบริการดูแลรักษา ผู้ซื้อควรทำความเข้าใจเงื่อนไขว่าครอบคลุมค่าใช้จ่ายส่วนใดบ้างเสียก่อน
6. ค่าจอดรถ
สำหรับผู้ที่จะซื้อรถแต่ไม่มีที่จอดรถ อาจจะต้องเตรียมเสียค่าที่จอดรถเพิ่มเข้ามาด้วย โดยเฉลี่ยค่าเช่าที่จอดรถจะอยู่ที่ 1,000 บาท/เดือน หรือแพงกว่านี้ ขึ้นอยู่กับทำเลของที่พักอาศัยว่าอยู่โซนไหน
7. ค่าทางด่วน
แม้ค่าทางด่วนจะไม่ใช่ค่าใช้จ่ายต่อปีแบบตายตัว แต่ควรต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายในส่วนนี้รวมเข้าไปด้วย เพราะบางครั้งหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไปจนถึงต้องใช้บริการเป็นประจำทุกวัน ส่วนค่าใช้จ่ายก็ขึ้นอยู่กับเส้นทางและความถี่
8. ค่าน้ำมัน ค่าไฟฟ้า
มีรถก็ต้องใช้ เมื่อใช้รถก็ต้องมีค่าใช้จ่ายเรื่องของพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำมันหรือค่าไฟฟ้าก็ขึ้นอยู่กับประเภทของรถ ระยะทางที่ใช้ รูปแบบรถ รวมถึงราคาจำหน่ายของพลังงาน
9. ค่าล้างรถ
ถ้าเป็นคนไม่มีเวลา หรือไม่ชอบล้างรถเอง จะมีค่าล้างรถเกิดขึ้น แม้จะเป็นจำนวนไม่มากแต่รวม ๆ แล้วต่อปีอาจต้องมีค่าใช้จ่ายหลักพัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับขนาดรถและความถี่ในการใช้บริการ โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 2,000-5,000 บาท/ปี
10. ค่าอะไหล่สิ้นเปลือง
ถึงจะเป็นรถใหม่ป้ายแดงก็ต้องเจอกับค่าอะไรไหล่สิ้นเปลือง เช่น แบตเตอรี่ ยางรถยนต์ รวมถึงอะไหล่ส่วนอื่น ๆ ที่เสื่อมสภาพตามการใช้งาน ยิ่งอายุการใช้งานมากอาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นด้วย
ตัวอย่างการคำนวณค่าใช้จ่ายรถยนต์ต่อปี
รถยนต์ราคา 600,000 บาท ผ่อน 5 ปี
-
ค่าผ่อนงวดรถ 7,300 บาท x 12 เดือน = 87,600 บาท/ปี
-
ค่าประกันภัยรถยนต์ 10,000 บาท/ปี
-
ค่าต่อภาษีรถยนต์ประจำปี 1,650 บาท/ปี
-
ค่า พ.ร.บ. 645 บาท/ปี
-
ค่าบำรุงรักษารถยนต์ 10,000 บาท/ปี
-
ค่าจอดรถ 1,000 บาท x 12 เดือน/ปี = 12,000 บาท/ปี
-
ค่าทางด่วน 500 บาท/เดือน x 12 เดือน/ปี = 6,000 บาท/ปี
-
ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง 30,000 บาท/ปี
-
ค่าล้างรถ 2,000 บาท/ปี
-
ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ 5,000 บาท/ปี
รวม : 169,895 บาท/ปี
ทั้งนี้ ตัวอย่างการคำนวณค่าใช้จ่ายรถยนต์ต่อปี เป็นการคำนวณแบบคร่าว ๆ และค่าใช้จ่ายรถยนต์ต่อปีอาจสูงหรือต่ำกว่านี้ได้ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แต่ที่แน่ ๆ คือ การซื้อรถไม่ได้จบแค่ค่างวด หรือซื้อเงินสดแล้วจะไม่มีค่าใช้จ่ายตามมา หากมีความจำเป็นต้องใช้งาน การซื้อรถไม่ใช่เรื่องสิ้นเปลือง แต่มีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ผู้ซื้อควรทราบก่อนตัดสินใจเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาภายหลัง