x close

ซื้อ-ขายรถมือสองต้องระวัง หลีกเลี่ยงการโอนลอย

ซื้อ-ขายรถมือสองแบบโอนลอยทำไมถึงมีความเสี่ยง ถ้าเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยง แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ควรทำอย่างไรเพื่อป้องกันให้มีปัญหาตามมาภายหลังน้อยที่สุด

โอนลอย

หากใครที่ซื้อ-ขายรถมือสอง ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ด้วยเงินสด อาจต้องเจอกับคำว่าโอนลอยเพื่อให้ผู้ซื้อไปดำเนินการโอนเปลี่ยนชื่อเจ้าของรถเอาเอง ซึ่งวิธีการดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่ทำกันปกติทั่วไป หลายคนอาจมั่นใจว่ารับเงินหรือรับรถมาแล้วไม่น่ามีปัญหาอะไรใคร ๆ เขาก็ทำกัน แต่รู้หรือไม่ว่าการโอนลอยแบบนี้มีความเสี่ยงทั้งผู้ขายและผู้ซื้อเลยทีเดียว

โอนลอยคืออะไร

การโอนลอยจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการตกลงซื้อ-ขายรถมือสอง โดยมีการชำระเงินและรับรถกันเป็นที่เรียบร้อย แต่จะให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปโอนรถเองที่สำนักงานขนส่งด้วยขั้นตอนตามปกติเพื่อเปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ ซึ่งไม่ถือว่าผิดกฎหมาย สามารถทำได้และสะดวก เนื่องจากไม่ต้องเสียเวลาทั้งสองฝ่ายไปโอนพร้อมกัน แต่จะแน่ใจได้อย่างไรว่ารถที่ขายหรือที่ซื้อจะไม่มีปัญหาในการโอนเปลี่ยนชื่อไม่ได้ รวมถึงเอาไปใช้งานแล้วไม่โอน ปล่อยให้ผู้ขายต้องรับผิดชอบหากมีการกระทำผิด

ทำไมถึงควรหลีกเลี่ยงการโอนลอย

ข้อเสียหลักของการโอนลอยคือ กว่าจะมาถึงขั้นตอนการโอนลอยจะต้องมีการตกลงแลกเปลี่ยนซื้อ-ขาย หรือจ่ายเงิน รับของ เรียบร้อยไปแล้ว ถึงได้ชุดโอนลอย (เอกสารการโอน) เพื่อให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปดำเนินการต่อที่สำนักงานขนส่ง โดยส่วนใหญ่มักเป็นผู้ซื้อ แต่นั่นหมายความว่ารถยังไม่ได้ถูกโอนอย่างสมบูรณ์ถูกต้องตามกฎหมาย

ปัญหาจะเกิดก็ต่อเมื่อนำรถไปโอนที่สำนักงานขนส่งแล้วพบว่าไม่สามารถโอนรถได้ ไม่ว่าจะด้วยเอกสารหรือตัวรถมีปัญหา เท่ากับว่าเสียเงินฟรี แม้จะได้รถมาแต่ยังเป็นชื่อเจ้าของเดิม บางครั้งอาจถึงขั้นต่อทะเบียนก็ยังไม่ได้ หากเป็นมิจฉาชีพหรือผู้ขายที่ฉวยโอกาสก็จะแก้ไขลำบาก  

ส่วนทางด้านผู้ขาย หากผู้ซื้อซื้อไปแล้วไม่ยอมโอน หากนำรถไปกระทำความผิด ผู้ขายยังเป็นชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์อยู่ก็อาจเดือดร้อนหรือเสียเวลาได้เช่นกัน

ถ้าจำเป็นต้องโอนลอยควรทำอย่างไร

หากผู้ขาย หรือผู้ซื้อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทั้งสองฝ่าย ไม่สะดวกไปโอนพร้อมกันที่สำนักงานขนส่ง ควรตรวจสอบทั้งสภาพรถและเอกสารอย่างรอบคอบ เช่น

  • เลขเครื่องยนต์ เลขตัวถัง สีตัวถัง ชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ ตรงกับเล่มทะเบียนและเอกสารประกอบการโอน

  • หากมีการดัดแปลงส่วนสำคัญของตัวรถ หรือระบบเชื้อเพลิง จะต้องมีระบุในเล่มทะเบียน (แจ้งลงเล่ม)

  • ภาษีขาดหรือไม่ หากภาษีขาดใครเป็นผู้รับชอบในส่วนค่าใช้จ่าย

  • ตรวจสอบเอกสารให้ครบถ้วนถูกต้องในทุก ๆ จุด แม้แต่ลายเซ็นในเอกสารก็จะต้องตรงกับในเล่มทะเบียน

โอนรถที่ถูกต้องมีขั้นตอนยังไงบ้าง

ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องไปดำเนินการโอนรถให้เรียบร้อยที่สำนักงานขนส่ง โดยเอกสารที่ต้องเตรียมให้พร้อมมี ดังนี้

  1. เล่มทะเบียนตัวจริงของรถคันที่ซื้อ-ขาย

  2. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้โอนและผู้รับโอน

  3. สัญญาซื้อขาย หรือใบเสร็จรับเงิน

  4. แบบคำขอโอนและรับโอน

ส่วนค่าใช้จ่ายในการโอนจะมีค่าธรรมเนียมการโอน 100 บาท ค่าคำขอ 5 บาท ค่าอากรแสตมป์ (ตามราคาประเมินของรถ ทุก ๆ 10,000 บาท เสียค่าอากรแสตมป์ 50 บาท)

ถ้าเป็นไปได้การซื้อ-ขายรถมือสองทุกครั้งควรหลีกเลี่ยงการโอนลอยเพื่อเปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ และให้ผู้โอนและผู้รับโอนไปดำเนินการพร้อมกันที่สำนักงานขนส่ง หากตรวจสภาพผ่าน พร้อมโอนได้เรียบร้อย จึงชำระเงินส่วนที่เหลือ เพื่อป้องกันปัญหาโอนไม่ได้ซึ่งเกิดได้หลายสาเหตุ อาจเสียทั้งเงินและเวลามากกว่าเดิม

บทความที่เกี่ยวข้องกับเรื่องน่ารู้รถยนต์

ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมการขนส่งทางบก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ซื้อ-ขายรถมือสองต้องระวัง หลีกเลี่ยงการโอนลอย อัปเดตล่าสุด 20 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 17:32:56 3,393 อ่าน
TOP