ดัดแปลงสภาพรถแบบไหนบ้างเข้าข่ายต้องแจ้งขออนุญาตที่กรมการขนส่งบางบก แบบไหนดัดแปลงสภาพรถได้โดยไม่ต้องแจ้ง รวมถึงขั้นตอนการยื่นขออนุญาตต้องทำอย่างไรบ้าง
ตามระเบียบกรมการขนส่งทางบก การแก้ไขเพิ่มเติมหรือดัดแปลงสภาพรถที่จดทะเบียนไว้ อาจส่งผลต่อความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนทั้งในแง่ร่างกายและจิตใจ อีกทั้งยังอาจนำไปสู่การกระทำผิดอื่น ๆ ดังนั้น หากมีทำการดัดแปลงสภาพรถยนต์ หรือมอเตอร์ไซค์ ในส่วนที่กำหนด เจ้าของรถจะต้องแจ้งขออนุญาตต่อนายทะเบียน แต่การดัดแปลงสภาพรถแบบไหนต้องขอหรือไม่ต้องขออนุญาตมีอะไรบ้าง และถ้าต้องขอมีขั้นตอนการดำเนินการอย่างไร ไปดูกันเลย
ดัดแปลงสภาพรถอะไรบ้างต้องขออนุญาต
การแก้ไขดัดแปลงสภาพรถที่ต้องแจ้งขออนุญาตต่อนายทะเบียน จะต้องเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงตัวรถหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของรถให้ผิดไปจากรายการที่ได้จดทะเบียนไว้ ได้แก่
-
เปลี่ยนเครื่องยนต์
-
เปลี่ยนชนิดเชื้อเพลิง
-
ดัดแปลงตัวถังรถ
-
ดัดแปลงระบบรองรับน้ำหนัก ระบบกันสะเทือน (เช่น เสริมแหนบ โหลดเตี้ย ยกสูง เปลี่ยนถุงลมเป็นสปริง หรือสปริงเป็นถุงลม)
-
ติดตั้งโครงหลังคา หรือโครงเหล็กด้านข้างรถ
-
ฝาปิดด้านท้ายติดตั้งอุปกรณ์ทุ่นแรงเพื่อยกสิ่งของ
-
ดัดแปลงระบบบังคับเลี้ยว หรือระบบขับเคลื่อน
-
เปลี่ยนสีรถ
ดัดแปลงสภาพรถอะไรบ้างไม่ต้องขออนุญาต
ส่วนการดัดแปลงสภาพรถที่ไม่ต้องแจ้งขออนุญาต จะเป็นการติดตั้งอุปกรณ์ตกแต่ง หรืออุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่เป็นการเสริมอุปกรณ์เพียงเล็กน้อย โดยไม่ทำให้สภาพของรถเปลี่ยนแปลงไป หากขนาดและตำแหน่งในการติดตั้งเหมาะสม และมีความแข็งแรงปลอดภัยในการใช้งาน รวมทั้งไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายและจิตใจผู้อื่น เช่น
-
แร็คหลังคา
-
โรลบาร์
-
กันชน
-
สปอยเลอร์
-
พื้นรองกระบะ
ดัดแปลงสภาพรถไม่ขออนุญาตปรับเท่าไหร่
การดัดแปลงสภาพรถโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับไม่เกิน 2,000 บาท และไม่เกิน 5,000 บาท หากเป็นรถขนส่ง
ดัดแปลงสภาพรถมีขั้นตอนอย่างไร
ขั้นตอนการแจ้งขออนุญาตทำได้ทั้ง 2 แบบ คือ ขออนุญาตก่อนแก้ไขดัดแปลงสภาพรถ และ ขออนุญาตหลังแก้ไขดัดแปลงสภาพรถ โดยการแจ้งขออนุญาตทั้ง 2 แบบ การดำเนินการจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนตรวจสภาพรถ และ ส่วนของงานทะเบียน ดังนี้
ส่วนตรวจสภาพรถ
กรณีแจ้งขออนุญาตก่อนแก้ไขดัดแปลงสภาพรถ (สำหรับการดัดแปลงที่กระทบต่อความมั่นคงปลอดภัย เช่น โครงแชสซีส์ ตัวถัง ระบบบังคับเลี้ยว ระบบกันสะเทือน และช่วงล้อ)
-
ยื่นคำขอพร้อมเอกสาร
-
ตรวจสอบเอกสาร / ถ่ายภาพรถ / ลอกเลขตัวถังเก็บไว้เป็นหลักฐาน
-
หากไม่มีปัญหาเรื่องความมั่นคงแข็งแรงจะให้ยื่นขออนุญาตใช้รถ โดยจะมีการตรวจสอบเอกสารและตรวจสภาพรถอีกครั้ง เพื่อยื่นขอแก้ไขรายละเอียดในการจดทะเบียน (ลงเล่ม) ในส่วนของงานทะเบียนต่อไป
กรณีแจ้งขออนุญาตหลังแก้ไขดัดแปลงสภาพรถ
-
ยื่นคำขอพร้อมเอกสาร
-
ตรวจสอบเอกสาร / ตรวจสภาพรถ
-
หากผ่านการตรวจสอบจะทำการบันทึกข้อมูลการตรวจสภาพรถ เพื่อยื่นขอแก้ไขรายละเอียดในการจดทะเบียน (ลงเล่ม) ในส่วนของงานทะเบียนต่อไป
-
หากไม่ผ่านการตรวจสอบจะมีการแจ้งข้อบกพร่องและคืนเรื่อง
ส่วนงานทะบียน
-
ยื่นคำขอพร้อมเอกสาร
-
เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารหลักฐานประกอบและคำขอ พร้อมผลการตรวจสภาพ
-
หากเข้าข่ายต้องชำระภาษีสรรพสามิตและมีหลักฐานการชำระภาษีแล้ว หรือไม่ต้องชำระภาษีสรรพสามิต เจ้าหน้าที่จะทำการบันทึกรายละเอียดการดัดแปลงลงเล่ม
-
ชำระค่าธรรมเนียมและรับเล่มทะเบียนคืน
กรณียังไม่ยื่นภาษี ให้จัดทำหนังสือนำส่งเอกสารหลักฐานไปยังสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ หรือกรมสรรพสามิต ทางไปรษณีย์แบบลงทะเบียนตอบรับ
ดัดแปลงสภาพรถใช้เอกสารอะไรบ้าง
การแจ้งดัดแปลงสภาพรถเพื่อเปลี่ยนแปลงรายการที่จดทะเบียนในเล่มทะเบียน หรือการขออนุญาตใช้รถที่ทำการแก้ไขเพิ่มเติมหรือดัดแปลง ต้องยื่นใบคำขอแก้ไขเพิ่มเติมรายการในทะเบียนรถพร้อมเอกสารหลักฐาน ดังนี้
-
บัตรตัวประชาชนเจ้าของรถ
-
กรณีนิติบุคคล ใช้หนังสือรับรองนิติบุคคลและเอกสารประจำตัวของกรรมการผู้มีอำนาจลงนามของนิติบุคคล พร้อมหนังสือมอบอำนาจและเอกสารประจำตัวผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ (ถ้ามี)
-
เล่มทะเบียนตัวจริง
-
รายละเอียดของการแก้ไขเพิ่มเติมหรือดัดแปลง
-
หลักฐานการได้มาของชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่นำมาเปลี่ยนและเอกสารหลักฐานอื่น ๆ เช่น ใบรับรองการนำเข้ากรณีเป็นชิ้นส่วนที่นำเข้าจากต่างประเทศ ใบเสร็จรับเงินค่าเครื่องยนต์ อุปกรณ์ต่าง ๆ และใบเสร็จรับเงินค่าทำสี ค่าดัดแปลงรถ เป็นต้น
กรณีรถที่บริษัทประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและเข้าถือสิทธิแทนผู้เอาประกันภัย ให้แนบเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม ดังนี้
-
สำเนาบันทึกประจำวันแจ้งความเกี่ยวกับการเกิดอุบัติเหตุ
-
ภาพถ่ายความเสียหายของรถที่เกิดอุบัติเหตุทั้ง 4 ด้าน
-
บันทึกถ้อยคำเจ้าของรถรับรองเป็นหลักฐานว่าเป็นการซ่อมแซมหรือแก้ไขดัดแปลงจากรถคันเดิมจริง
-
หนังสือบันทึกรับรองสภาพความเสียหายจากบริษัทผู้รับประกันภัย
สำหรับการแก้ไขเพิ่มเติมส่วนควบ หรืออุปกรณ์สำหรับรถ หรือการดัดแปลงรถ หรือการเพิ่มสิ่งหนึ่งสิ่งใดเข้าไป ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจของผู้อื่น เจ้าของรถต้องแจ้งยื่นขออนุญาตแก้ไขเพิ่มเติมหรือดัดแปลง ก่อนดำเนินการ และต้องแนบเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม ดังนี้
-
หนังสือรับรองความมั่นคงแข็งแรงของรถและส่วนควบหรือเครื่องอุปกรณ์ของรถจากผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมเครื่องกล ระดับสามัญวิศวกรขึ้นไป
-
แบบแปลนและรายการคำนวณ พร้อมด้วยรายละเอียดการตรวจสอบในส่วนที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมหรือดัดแปลง ของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมเครื่องกล ระดับสามัญวิศวกรขึ้นไป
-
ภาพถ่ายตัวรถทั้ง 4 ด้าน ระบุวันเวลา ก่อน ระหว่าง และหลังดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมหรือดัดแปลงรถ รวมทั้งภาพถ่ายอุปกรณ์ส่วนควบของรถที่จะทำการแก้ไขเพิ่มเติมหรือดัดแปลง
-
หนังสือรับรองของสถาบันหรือหน่วยงานที่กรมการขนส่งทางบกขอความร่วมมือให้ทำการตรวจสอบ กรณีมีการแก้ไขเพิ่มเติมหรือดัดแปลงแชสซีส์ หรือห้องโดยสาร
-
ภาพถ่ายวิศวกรที่ถ่ายคู่กับรถในระหว่างทำการควบคุมดูแลการแก้ไขเพิ่มเติมหรือดัดแปลงรถ โดยต้องบันทึกวัน-เวลาให้ปรากฏในภาพถ่าย
อย่างไรก็ตาม การยื่นแจ้งดัดแปลงสภาพรถที่อาจมีผลต่อความมั่นคงปลอดภัยในบางกรณีอาจต้องใช้หลักฐานเพิ่มเติมในกรณีดังต่อไปนี้
-
กรณีการตรวจสอบเบื้องต้นไม่สามารถยืนยันความถูกต้องแท้จริงของรถได้ ต้องใช้หนังสือยืนยันผลการตรวจพิสูจน์รถจากสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
-
กรณีที่มีความสงสัยที่มาของชิ้นส่วนอุปกรณ์ ต้องมีหลักฐานการตรวจสอบดัชนีของหายจากกองทะเบียนประวัติอาชญากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
-
กรณีที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมหรือดัดแปลงรถ ในลักษณะที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นรถคันเดียวกันกับที่จดทะเบียนไว้แล้ว ต้องใช้หนังสือยืนยันความถูกต้องแท้จริงตัวรถของผู้ผลิตหรือประกอบรถ
-
กรณีที่เข้าตามหลักเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี หรือหลักฐานการได้รับยกเว้นภาษี ต้องมีหลักฐานการเสียภาษีสรรพสามิต
-
หลักฐานอื่นตามที่ระบุไว้ในการแก้ไขเพิ่มเติมหรือดัดแปลงรถแต่ละกรณี
ทั้งนี้ สำหรับการดัดแปลงสภาพรถทั่วไป มีทั้งต้องแจ้งและไม่ต้องแจ้งขออนุญาตกรมการขนส่งทางบก และกรณีที่การดัดแปลงนั้นไม่กระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยจะมีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก แต่หากต้องการดัดแปลงส่วนใดของรถที่กระทบต่อความปลอดภัยต้องแจ้งขออนุญาตกับกรมการขนส่งทางบกก่อนเท่านั้น