ใบโอนลอยรถมอเตอร์ไซค์ คืออะไร หาจากไหนได้บ้าง

ใบโอนลอยรถมอเตอร์ไซค์คืออะไร และหากจำเป็นต้องใช้จะหาใบโอนลอยรถมอเตอร์ไซค์ได้จากที่ไหน รวมถึงต้องใช้เอกสารอะไรประกอบถึงจะสมบูรณ์ถูกต้อง

ใบโอนลอยมอเตอร์ไซค์

ทำความรู้จักใบโอนลอยรถมอเตอร์ไซค์คืออะไร สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยหรือกำลังจะซื้อ-ขายมอเตอร์ไซค์มือสองครั้งแรก ว่ามีความสำคัญ หรือรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร และสามารถหาใบโอนลอยรถมอเตอร์ไซค์ได้จากที่ไหนเมื่อจำเป็นต้องใช้ รวมถึงนอกจากใบโอนลอยแล้ว ยังต้องใช้เอกสารอื่นใดประกอบอีกหรือไม่เพื่อให้การซื้อ-ขายเสร็จสมบูรณ์ ไม่เสียเวลาและไม่เสียรู้กันทั้งสองฝ่าย

ใบโอนลอยรถมอเตอร์ไซค์คืออะไร

ใบโอนลอยรถมอเตอร์ไซค์ คือ เอกสารสำคัญที่ใช้ประกอบการซื้อ-ขาย หรือที่เรียกว่า ชุดโอน ใช้เหมือนกันทั้งมอเตอร์ไซค์และรถยนต์ เพื่อให้ผู้ซื้อสามารถนำไปดำเนินการโอนรถคันที่ได้ตกลงซื้อ-ขายหลังชำระเงินกันเป็นที่เรียบร้อยแล้วได้เอง ในกรณีที่ผู้ซื้อและผู้ขายไม่สะดวกไปโอนพร้อมกันที่สำนักงานขนส่ง โดยใบโอนลอย หรือแบบคำขอและรับโอน สามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์กรมการขนส่งทางบก

วิธีโอนลอยรถมอเตอร์ไซค์

หากตกลงซื้อ-ขายโดยการโอนลอยรถมอเตอร์ไซค์ จำเป็นต้องเตรียมเอกสาร หรือชุดโอน เพื่อโอนรถมอเตอร์ไซค์ที่สำนักงานขนส่ง ดังนี้

  • เล่มทะเบียนรถตัวจริง (เจ้าของเดิมต้องเซ็นลงเล่ม)

  • สำเนาบัตรประชาชนของเจ้าของรถมอเตอร์ไซค์ 2 ใบ (เซ็นสำเนาถูกต้องทั้งหมด)

  • สำเนาบัตรประชาชนของผู้รับโอน (เซ็นสำเนาถูกต้อง)

  • ใบโอนลอย (แบบคำขอโอนและรับโอน) ดาวน์โหลด

  • ใบมอบอำนาจ ดาวน์โหลด

โอนลอยมอเตอร์ไซค์กี่บาท

การโอนลอยมอเตอร์ไซค์ที่สำนักงานขนส่งจะมีค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมในแต่ละส่วน ดังนี้

  • ค่าคำขอ 5 บาท
  • ค่าธรรมเนียมการโอนทะเบียนรถ 50 บาท

  • ค่าอากรซื้อ-ขายแสนละ 500 บาท (ตามราคาประเมิน)

  • ค่าตรวจสภาพ 60 บาท (เฉพาะมอเตอร์ไซค์อายุเกิน 5 ปี)

  • กรณีเปลี่ยนป้ายทะเบียน 100 บาท

ข้อควรระวังในการโอนลอยมอเตอร์ไซค์

แม้การซื้อ-ขายโดยการโอนลอยมอเตอร์ไซค์จะมีข้อดีในแง่ความสะดวก โดยผู้ซื้อสามารถไปโอนเองได้ไม่ต้องให้ผู้ขายไปด้วย แต่ต้องใช้ความรอบคอบ และมีข้อเสีย รวมถึงข้อควรระวังทั้งสองฝ่ายก่อนตัดสินใจใช้วิธีโอนลอย คือ

  • ผู้ซื้อต้องรีบไปดำเนินการโอนรถภายใน 15 วัน หลังการซื้อ-ขายที่ระบุไว้ในแบบคำขอโอนและรับโอน

  • หากไม่ดำเนินการโอนภายในเวลาที่กำหนดจะมีค่าปรับ ซึ่งสามารถเลี่ยงได้โดยไม่ลงวันที่ในแบบคำขอโอนและรับโอน

  • กรณีผู้ซื้อไม่โอนและหากมีการนำรถไปกระทำผิดอาจมีปัญหาถึงผู้ขาย ควรเก็บเอกสารซื้อ-ขายไว้เป็นหลักฐาน

  • ควรตรวจสอบเอกสารต่าง ๆ ให้เรียบร้อย ชื่อผู้ขายต้องตรงกับเล่มทะเบียน (เล่มเขียว) รายละเอียดในเล่มต้องตรงกับตัวรถ ต่อภาษีครบตามกำหนดหรือไม่ (หากภาษีขาด ต้องตกลงว่าใครจะเป็นผู้จ่าย)

อย่างไรก็ตาม หากไม่มั่นใจในวิธีโอนลอย ผู้ซื้อและผู้ขายอาจเลือกวิธีนัดโอนพร้อมกันที่สำนักงานขนส่งได้เช่นกัน เพื่อให้แน่ใจได้ว่ารถคันที่ตกลงซื้อ-ขายสามารถโอนได้สำเร็จโดยไม่มีปัญหาแล้วจึงชำระเงิน ส่วนผู้ขายก็สบายใจได้ว่าเปลี่ยนชื่อเป็นผู้ซื้อแล้วแน่นอนโดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีปัญหาตามมาภายหลัง แต่ก็อาจต้องเสียเวลาทั้งสองฝ่ายด้วยเช่นกัน

บทความที่เกี่ยวข้องกับการโอนรถมอเตอร์ไซค์และรถยนต์

ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมการขนส่งทางบก
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ใบโอนลอยรถมอเตอร์ไซค์ คืออะไร หาจากไหนได้บ้าง อัปเดตล่าสุด 14 มิถุนายน 2566 เวลา 17:10:28 83,147 อ่าน
TOP
x close