ค่าโอนรถยนต์ 2567 มีวิธีคิดอย่างไร ค่าใช้จ่ายกี่บาท รวมถึงถ้าจะโอนรถยนต์ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง ดำเนินการที่ไหน มีขั้นตอนดำเนินการอย่างไร และต้องแจ้งโอนภายในกี่วัน
ค่าโอนรถยนต์ 2567 ต้องเสียค่าใช้จ่ายทำไหร่ มีวิธีคิดอย่างไร ไม่ว่าจะโอนตรง โอนลอย โอนมรดก ล่าสุดมีขั้นตอนดำเนินการอย่างไร และควรโอนรถยนต์หลังการซื้อ-ขาย ภายในระยะเวลากี่วัน ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง ที่ไหนอย่างไร หรือใครที่ยังไม่ทราบขั้นตอนว่าควรจะเริ่มต้นยังไง มีอะไรที่ควรต้องระวัง ไปเช็กกันเลย
โอนรถยนต์ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง
การโอนรถยนต์ทั้งโอนตรง โอนลอย โอนมรดก รวมถึงโอนข้ามจังหวัด ต้องเตรียมเอกสาร ดังนี้
1. เล่มทะเบียนรถ (ต้องลงลายมือชื่อผู้ประกอบการขนส่งและผู้ถือกรรมสิทธิ์ในเล่มทะเบียนแล้ว)
2. สำเนาบัตรประชาชน (กรณีนิติบุคคลใช้หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม)
3. สัญญาซื้อ-ขาย ใบเสร็จรับเงิน หรือใบกำกับภาษี
4. แบบคำขอโอนและรับโอน โดยกรอกรายการและลงลายมือชื่อผู้โอนและผู้รับโอนเรียบร้อยแล้ว
5. หนังสือมอบอำนาจพร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนผู้รับมอบ กรณีผู้โอนและ/หรือผู้รับโอนไม่ได้มาดำเนินการด้วยตัวเอง (เช่น โอนลอย)
6. สำเนาใบมรณบัตรเจ้าของรถ และคำสั่งศาลหรือพินัยกรรมตัวจริงพร้อมสำเนา (กรณีโอนรับมรดก)
ทั้งนี้ การโอนทุกประเภทต้องนำรถยนต์เข้าตรวจสอบสภาพก่อนยื่นเอกสารที่กรมการขนส่งทางบก
โอนรถยนต์ข้ามจังหวัด โอนปลายทางได้ไหม
สำหรับการโอนรถยนต์ที่ผู้โอนและผู้รับโอนอยู่คนละจังหวัด สามารถดำเนินการได้ที่สำนักงานขนส่งพื้นที่หรือจังหวัดที่ต้องการนำรถไปใช้ โดยเตรียมเอกสารดังนี้
1. เล่มทะเบียนรถ
2. สำเนาบัตรประชาชน
3. สำเนาทะเบียนบ้าน
4. สัญญาซื้อ-ขาย ใบเสร็จรับเงิน หรือใบกำกับภาษี
5. แบบคำขอโอนและรับโอน โดยกรอกรายการและลงลายมือชื่อผู้โอนและผู้รับโอนเรียบร้อยแล้ว
6. หนังสือมอบอำนาจพร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนผู้รับมอบ กรณีผู้โอนและ/หรือผู้รับโอนไม่ได้มาดำเนินการด้วยตัวเอง (เช่น โอนลอย)
สำหรับขั้นตอนการโอนรถข้ามจังหวัด สามารถนำเอกสารไปติดต่อที่สำนักงานขนส่งพื้นที่จังหวัดนั้น ๆ ได้ โดยกรอกเอกสารต่าง ๆ ให้เรียบร้อย หากต้องการใช้เลขทะเบียนเดิมให้แจ้งเจ้าหน้าที่ในขั้นตอนนี้ได้เลย จากนั้นให้รอดำเนินการประมาณ 3 วัน เจ้าหน้าที่จะนัดให้นำรถเข้ามาตรวจสภาพที่สำนักงาน หากไม่ได้ใช้เลขทะเบียนเดิมเจ้าหน้าที่จะทำการถอดป้ายทะเบียนเดิมออก และในวันรับเล่มทะเบียนให้เตรียมเอกสารมาอีก 1 ชุด ได้แก่
1. สำเนาบัตรประชาชน
2. สำเนาทะเบียนบ้าน
3. หนังสือจดทะเบียนบริษัท (กรณีชื่อผู้ครอบครองเป็นนิติบุคคล)
4. หนังสือมอบอำนาจติดอากรแสตมป์ของผู้โอนและผู้รับโอน
5. ใบคำขอโอนรถและรับรถ
จากนั้นจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อรอรับป้ายทะเบียนและเล่มทะเบียนใหม่
การโอนรถยนต์ต้องแจ้งโอนต่อนายทะเบียนภายในกี่วัน
เมื่อมีการซื้อ-ขายรถ ผู้โอนหรือผู้รับโอนต้องดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์โดยแจ้งต่อนายทะเบียนที่กรมการขนส่งทางบก ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันทำสัญญา หากไม่ดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนดมีค่าปรับสูงสุดไม่เกิน 2,000 บาท
โอนรถยนต์ได้ที่ไหน มีขั้นตอนอย่างไร
การโอนรถสามารถติดต่อดำเนินการได้ที่สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานคร สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ สำนักงานขนส่งจังหวัด หรือสำนักงานขนส่งจังหวัดสาขา ที่ผู้โอนมีที่อยู่ในเล่มทะเบียนรถหรือที่ขอแจ้งใช้รถไว้ โดยมีขั้นตอนดังนี้
1. นำรถไปตรวจสภาพรถยนต์ (ยกเว้นกรณีโอนปิดบัญชีจากไฟแนนซ์ไปยังผู้เช่าซื้อไม่ต้องตรวจสภาพรถ)
2. ยื่นเรื่องโอนกรรมสิทธิ์และชำระค่าธรรมเนียมที่งานทะเบียนรถ
3. รับเล่มทะเบียนรถคืนและใบเสร็จรับเงิน (และแผ่นป้ายทะเบียนรถ กรณีย้ายจังหวัดหรือเปลี่ยนทะเบียน)
ค่าโอนรถยนต์ เท่าไหร่
1. ค่าอากรแสตมป์ 50 บาท ต่อราคาประเมิน 10,000 บาท เช่น รถยนต์มีราคาประเมิน 100,000 บาท จะเสียค่าอากรแสตมป์ 500 บาท
2. ค่าธรรมเนียมการโอน 100 บาท
3. ค่าคำขอ 5 บาท
3. กรณีมีการเปลี่ยนทะเบียนรถ ค่าเปลี่ยนป้ายทะเบียน 2 แผ่น หน้า-หลัง 200 บาท
4. กรณีเล่มทะเบียนชำรุดเสียค่าเปลี่ยน 100 บาท
ทั้งนี้ ก่อนการโอนรถ โอนกรรมสิทธิ์รถทุกชนิด ควรตรวจสอบและจัดเตรียมเอกสารให้ครบถ้วน โดยเฉพาะการโอนรถที่ผู้โอนหรือผู้รับโอนไม่สามารถมาดำเนินการด้วยตัวเองได้ หรือการโอนมรดกกรณีผู้ครอบครองเดิมเสียชีวิต พร้อมกับดูสถานที่ที่จดทะเบียนแจ้งใช้รถไว้ จะได้ดำเนินการในสำนักงานขนส่งพื้นที่ที่ถูกต้อง
บทความที่เกี่ยวข้องกับเรื่องโอนรถยนต์และมอเตอร์ไซค์
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมการขนส่งทางบก