พวงมาลัยสั่นตอนขับรถ ส่วนใหญ่มักมาจากความผิดปกติของสองส่วนหลัก ๆ ซึ่งควรได้รับการแก้ไขโดยเร็ว เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจก่อให้เกิดอันตรายได้เช่นกัน
อะไรคือตัวการของพวงมาลัยสั่นตอนขับรถ หลายคนอาจกำลังพบปัญหาและเกิดความสงสัยว่าอาการเหล่านี้เกิดจากอะไรได้บ้าง แล้วเป็นอันตรายมากหรือไม่ แม้ในที่สุดแล้วการซ่อมแซมจะเป็นเรื่องของช่าง แต่หากพอเข้าใจถึงปัญหาย่อมดีกว่าไม่รู้อะไรเลย ซึ่งที่มาของปัญหาพวงมาลัยสั่นในรถยนต์ขณะขับโดยมากมักจะมาจากส่วนหลัก ๆ เหล่านี้
พวงมาลัยสั่นตอนขับรถเกิดจากอะไร
-
ตั้งศูนย์ถ่วงล้อไม่ได้สมดุล
หากเริ่มสังเกตได้ว่าพวงมาลัยสั่นขณะเร่งความเร็ว อาจเกิดจากการตั้งศูนย์ล้อไม่ถูกต้อง ซึ่งปัญหานี้ดูเหมือนจะพบได้บ่อยที่สุด ซึ่งตรวจสอบและแก้ไขได้ง่าย เพราะดอกยางบนหน้ายางจะสึกไม่เท่ากัน หรือขณะขับรถจะมีอาการพวงมาลัยดึงไปด้านข้างในทางตรง ส่วนการแก้ไขเพียงแค่นำรถไปตั้งศูนย์ถ่วงล้อใหม่เท่านั้น
-
เพลาขับมีปัญหา
กรณีปัญหาพวงมาลัยสั่นที่เกิดจากเพลาขับชำรุดจะมีอาการดึงไปทางซ้ายร่วมด้วย และอาจทำให้เกิดการสั่นสะเทือนระหว่างเร่งความเร็ว ควรรีบนำรถเข้าไปให้ช่างที่ชำนาญซ่อมแซมหรือเปลี่ยนเพลาขับใหม่
-
จานเบรกคด
อีกสิ่งหนึ่งที่คุณควรพิจารณาเมื่อพวงมาลัยสั่นขณะเบรกก็คือ จานเบรกอาจมีอาการคด หรือไม่เรียบ ในกรณีเช่นนี้อาจต้องปรับพื้นผิวหรือเปลี่ยนจานเบรกใหม่ อาการสั่นก็จะหายไป
-
ยางรถเสื่อมสภาพ
นอกจากนี้อาการสั่นของพวงมาลัยสามารถเกิดได้เพราะยางรถยนต์เสื่อมสภาพ ยางไม่กลม ยางบวม จึงเกิดอาการสั่นบางช่วงความเร็ว ดังนั้นจึงควรเปลี่ยนยางใหม่ทั้งหมดโดยเร็ว
พวงมาลัยสั่นอันตรายไหม
เมื่อเริ่มพบว่ารถเกิดอาการพวงมาลัยสั่น คุณยังสามารถขับต่อไปได้ แต่ไม่ควรปล่อยปละละเลย และต้องรีบนำรถไปตรวจสอบแก้ไขโดยเร็วที่สุด เนื่องจากการสั่นที่เกิดจากบางสาเหตุ เช่น ระบบบังคับเลี้ยวเสื่อมสภาพ หากฝืนใช้งานต่อไปเรื่อย ๆ ก็อาจมีโอกาสทำให้เกิดอันตรายร้ายแรง หรือเกิดความเสียหายในจุดอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้น
นอกจากสาเหตุทั้งหมดที่กล่าวมา ในบางครั้งปัญหาพวงมาลัยสั่นก็อาจเกิดได้จากตัวเครื่องยนต์เอง เช่น ยางแท่นเครื่องหมดอายุ ทำให้เครื่องยนต์สั่นมากกว่าปกติเพราะไม่มีตัวซับแรงสะเทือน รวมถึงระบบจุดระเบิดไม่สมบูรณ์ก็อาจทำให้รู้สึกว่าพวงมาลัยสั่นได้เช่นกัน