รวมจุดเสี่ยงเลี่ยงจอดรถช่วงพายุเข้า ฝนตก ลมกระโชกแรง เพราะอาจเกิดอันตรายหรือก่อให้เกิดความเสียหายกับรถยนต์
เตือน ช่วงพายุเข้า หรือช่วงฤดูฝนที่มีลมกรรโชกแรง ไม่ควรจอดรถยนต์ หรือ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงยานพาหนะต่าง ๆ ในจุดที่มีโอกาสเสี่ยงเกิดอันตรายสูง เพราะการจอดรถทิ้งไว้บริเวณเหล่านี้หรือใกล้เคียงอาจก่อให้เกิดความเสียหายได้อย่างคาดไม่ถึง ส่วนจะมีจุดไหนที่ควรต้องหนีให้ห่าง หรือระมัดระวังมากเป็นพิเศษลองเช็กเลย
5 จุดเสี่ยงที่ควรเลี่ยงจอดรถในช่วงพายุเข้า
- ป้ายโฆษณา ป้ายบิลบอร์ด - หากมองผิวเผินป้ายเหล่านี้จะมีลักษณะที่แข็งแรง มั่นคงในระดับหนึ่ง แต่เนื่องจากตัวป้ายโฆษณานั้นจะมีลักษณะต้านลม หากเกิดพายุฝนฟ้าคะนองที่มีลมกระโชกอย่างรุนแรงอาจมีชิ้นส่วนบางอย่างปลิวตกลงมา หรือถึงขั้นโค่นล้มลงมาทับรถที่จอดได้
- เสาไฟฟ้า - แม้เสาไฟจะมีความแข็งแรง แต่สิ่งที่ต้องระวังคือสายไฟ หากต้องเจอกับพายุหรือลมที่รุนแรง สายไฟมีโอกาสหลุดลงมาพาดกับตัวรถที่จอดอยู่ ทำให้เกิดอันตราย หรืออีกกรณีคือ เสาไฟต้นหนึ่งที่อยู่ในแนวเดียวกันเกิดล้มลง อาจทำให้เสาไฟต้นที่เราจอดรถไว้ใกล้ ๆ ล้มใส่รถด้วยเช่นกัน
- ใต้ต้นไม้ - หากเป็นในวันที่อากาศสดใส ใต้ต้นไม้ถือเป็นจุดที่หลายคนมองหาสำหรับการจอดรถ แต่ถ้าวันใดเกิดฝนตก พายุเข้าขึ้นมา ก็จะเปลี่ยนเป็นจุดเสี่ยงอันตรายไปในทันที เพราะกิ่งไม้อาจร่วงหล่นใส่รถจนเกิดความเสียหาย หากร้ายแรงอาจถึงขั้นต้นไม้ทั้งต้นโค่นลงมาทับรถ
- ไซต์งานก่อสร้าง - ถือเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงในระดับหนึ่งแม้ฝนยังไม่ตก แต่ถ้าเกิดพายุฝนฟ้าคะนองด้วยแล้วละก็ เศษวัสดุก่อสร้าง ดิน ทราย ปูน หรือวัสดุชิ้นใหญ่ เช่น โครงเหล็ก แผ่นไม้ และสังกะสี สามารถกระเด็นมาโดนรถสร้างความเสียหายได้ไม่น้อย
- พื้นที่ต่ำกว่าถนน - ในส่วนของพื้นที่ต่ำ ทางน้ำไหลผ่าน หรือใกล้กับท่อระบายน้ำ เป็นอีกจุดที่มีความเสี่ยงจะเกิดความเสียหายแก่รถ เพราะหากฝนตกหนัก น้ำระบายไม่ทัน หรือท่อน้ำอุดตัน ทำให้เกิดน้ำท่วมขังจนท่วมรถของเราด้วย
ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องจอดรถในบริเวณดังกล่าว ควรติดตามข่าวสารหรือสภาพอากาศ เพื่อเลื่อนรถออกก่อนที่จะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง นอกจากนี้หากจำเป็นต้องขับรถขณะฝนตก ควรขับขี่ด้วยความระมัดระวัง ไม่ใช้ความเร็วสูง และที่สำคัญไม่เปิดไฟฉุกเฉิน หรือไฟผ่าหมาก เพราะอาจทำให้รถที่ขับตามหลังมาเข้าใจผิดคิดว่ารถมีปัญหา ทำให้อาจเกิดอุบัติเหตุได้
บทความที่เกี่ยวข้องกับการใช้รถยนต์ช่วงหน้าฝน
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมการขนส่งทางบก