ลดภาษีแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้างลง 90% มีผลบังคับใช้ทันที

กรมการขนส่งทางบก เผย ประกาศราชกิจจานุเบกษา ปรับลดภาษีประจำปีรถแท็กซี่-มอเตอร์ไซค์รับจ้างลง 90% เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพให้บริการรถสาธารณะ มีผลบังคับใช้ทันที

ลดภาษีแท็กซี่

ภาพจาก : shutterstock.com / John-And-Penny

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบอาชีพให้บริการรถสาธารณะขาดรายได้และต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงตาม กรมการขนส่งทางบกจึงได้ดำเนินการออกมาตรการช่วยเหลือ ปรับลดภาษีรถยนต์สาธารณะและภาษีรถจักรยานยนต์สาธารณะประจำปีลง 90% ซึ่งครอบคลุมรถสาธารณะ 4 ประเภทด้วยกัน ได้แก่ รถยนต์รับจ้าง (แท็กซี่) น้ำหนัก 1,300 กิโลกรัม, รถยนต์รับจ้าง (แท็กซี่) น้ำหนัก 2,100 กิโลกรัม, รถยนต์สามล้อรับจ้าง และรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ทันที

โดยรถยนต์รับจ้างและรถจักรยานยนต์สาธารณะที่ครบกำหนดเสียภาษีประจำปี ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2565 – 30 กันยายน 2566 ให้ปรับลดภาษีลง 90% จากอัตราที่กำหนดท้ายพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 เช่น 

  • รถยนต์รับจ้าง หรือ รถแท็กซี่ ที่มีน้ำหนักรถ 1,300 กิโลกรัม เดิมจัดเก็บภาษี 685 บาท ลดเหลือ 68.50 บาท/คัน หรือน้ำหนักรถ 2,100 กิโลกรัม เดิมจัดเก็บภาษี 1,250 บาท/คัน ลดเหลือ 125 บาท/คัน 

  • รถยนต์สามล้อรับจ้าง เดิมจัดเก็บภาษี 185 บาท/คัน ลดเหลือ 18.5 บาท/คัน 

  • รถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เดิมจัดเก็บภาษี 100 บาท/คัน ลดเหลือ10 บาท/คัน 

ลดภาษีแท็กซี่

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการปรับลดภาษีแล้ว ก่อนหน้านี้กรมการขนส่งทางบกยังได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะ เช่น มอบเงินช่วยเหลือกลุ่มอาชีพผู้ขับรถแท็กซี่และรถจักรยานยนต์สาธารณะ ที่มีอายุเกิน 65 ปี ที่ไม่สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และประกอบอาชีพขับรถอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (29 จังหวัด) เป็นต้น

ต่อภาษีรถมอเตอร์ไซค์ใช้เอกสารอะไรบ้าง

  • สมุดคู่มือจดทะเบียนรถตัวจริง หรือสำเนา

  • เอกสาร พ.ร.บ.รถจักรยานยนต์

ต่อภาษีรถยนต์ใช้เอกสารอะไรบ้าง

  • สมุดคู่มือจดทะเบียนรถตัวจริง หรือสำเนา

  • เอกสาร พ.ร.บ.รถยนต์ 

สำหรับรถยนต์ที่มีอายุเกิน 7 ปี รถมอเตอร์ไซค์ที่มีอายุเกิน 5 ปี จะต้องทำการตรวจสภาพรถก่อนทุกครั้ง โดยสามารถเข้ารับการตรวจได้ที่ ตรอ. ที่ได้รับการรับรองจากกรมการขนส่งทางบก 

ต่อภาษีรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ได้ที่ไหนบ้าง ?

  • สำนักงานขนส่งทั่วประเทศ 

  • บริการเลื่อนล้อต่อภาษี (Drive Thru For Tax)

  • ที่ทำการไปรษณีย์ (เฉพาะรถที่ยังไม่ต้องตรวจสภาพ)

  • ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) (เฉพาะรถที่ยังไม่ต้องตรวจสภาพ)

  • ร้านค้าที่มีสัญลักษณ์เคาน์เตอร์เซอร์วิสทั่วประเทศ เปิดให้บริการทุกวันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 07.30-15.30 น. (เฉพาะรถที่ยังไม่ต้องตรวจสภาพ)

  • ห้างสรรพสินค้า โครงการ "ช้อปให้พอ แล้วต่อภาษี (Shop Thru for Tax)" เฉพาะวันเสาร์และอาทิตย์ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ประกอบด้วย ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี จำนวน 14 สาขา ได้แก่ สาขาบางบอน บางปะกอก เพชรเกษม อ่อนนุช สุวินทวงศ์ รัชดาภิเษก สุขาภิบาล 3 ลาดพร้าว รามอินทรา แจ้งวัฒนะ บางใหญ่ บางนา สำโรง และสมุทรปราการ เปิดให้บริการวันเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น. ศูนย์การค้าพาราไดซ์ พาร์ค, เซ็นทรัล ศาลายา, เซ็นทรัล แจ้งวัฒนะ, เซ็นทรัล เวสต์เกต และเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน เปิดให้บริการวันเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 10.00-18.00 น. ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล สาขารามอินทรา เปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 10.00-17.00 น. ศูนย์การค้าพาราไดซ์ พาร์ค เปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 10.00-17.00 น. ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 11.00-18.00 น. ศูนย์บริการร่วมคมนาคม ณ เชิงสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน เปิดให้บริการวันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.30-15.00 น.

  • ต่อภาษีรถยนต์ผ่านช่องทางออนไลน์ ที่เว็บไซต์ eservice.dlt.go.th

ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมการขนส่งทางบก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ลดภาษีแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้างลง 90% มีผลบังคับใช้ทันที อัปเดตล่าสุด 15 พฤศจิกายน 2565 เวลา 15:27:36 41,861 อ่าน
TOP
x close