ขับรถขึ้นเขาใช้เกียร์อะไร ทั้งเกียร์ออโต้ และเกียร์ธรรมดา
แนะเทคนิคการขับรถขึ้น-ลงเขายังไงให้ปลอดภัย ทั้งรถเกียร์ออโต้ และเกียร์ธรรมดา ใครที่อยากรู้ว่าขับรถขึ้นเขาต้องใช้เกียร์อะไร แบบไหนเป็นวิธีที่ถูกต้อง มาดูกัน

ช่วงวันหยุดยาวเชื่อว่าหลายคนน่าจะมีแพลนออกเดินทางท่องเที่ยวพักผ่อนตามสถานที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคเหนือ หรือตามยอดดอย-ภูเขาสูง ซึ่งการจะเดินทางต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมากในการขับรถยนต์ เนื่องจากเส้นทางมักมีความลาดชันและคดเคี้ยว หากไม่ระมัดระวังหรือใช้ความเร็วมากเกินไปก็อาจเกิดอุบัติเหตุได้
แต่ทั้งนี้ใครที่มีประสบการณ์ขับรถขึ้นเขามาแล้วก็อาจไม่เป็นปัญหามากนัก แต่สำหรับมือใหม่หัดขับหรือคนที่ขับรถอยู่แต่ในเมือง อยากจะไปเที่ยวภูเขาบ้าง อาจจะมีความกังวลรวมถึงมีข้อสงสัยต่าง ๆ เช่น การขับรถขึ้นเขาใช้เกียร์อะไร วันนี้เราลองมาดูวิธีการขับรถขึ้น-ลงเขาที่ถูกต้องและปลอดภัยกันว่าควรทำอย่างไร
ขับรถขึ้นเขาเกียร์ธรรมดา หรือ เกียร์ออโต้ แบบไหนยากกว่ากัน
จริง ๆ แล้วชนิดของเกียร์ทั้งสองแบบนั้นก็มีความยากง่ายที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับตัวคนขับเองว่ามีความชำนาญกับระบบเกียร์แบบไหนมากกว่า นอกจากนี้ยังรวมไปถึงเรื่องของเส้นทางนั้น ๆ ด้วยว่าสูง ชัน หรือคดเคี้ยวมากน้อยเพียงใด
ขับรถขึ้นเขาใช้เกียร์อะไร
เชื่อว่าหลายคนน่าจะพอทราบกันอยู่แล้วว่าการขับรถขึ้น-ลงเขาหรือบนถนนที่มีความลาดชันนั้นควรใช้เกียร์ต่ำเป็นหลัก เพราะจะเป็นเกียร์ที่ให้พละกำลังสูง ช่วยในการเร่งหรือออกตัวได้ดี เราควรใช้เกียร์ต่ำเมื่อใดหรือจังหวะไหนบ้างนั้นมาดูกัน
-
ขับรถขึ้นเขา เกียร์ธรรมดา
สำหรับในรถเกียร์ธรรมดานั้น การขึ้นเขาส่วนใหญ่จะใช้เกียร์ 1-2 เป็นหลัก อาจมี 3 บ้างขึ้นอยู่กับเส้นทางนั้น ๆ และควรรักษาความเร็วให้สม่ำเสมอ
-
ขับรถขึ้นเขา เกียร์ออโต้
ในการขับรถเกียร์ออโต้ขึ้นเขาส่วนใหญ่ใช้แค่เพียงเกียร์ D ก็เพียงพอที่จะสามารถขับได้อย่างสบาย เว้นแต่กรณีที่เจอทางลาดชันมาก ๆ หรือเป็นรถยนต์ขนาดเล็ก เช่น เครื่องยนต์ต่ำกว่า 1,200 ซี.ซี. ที่มีผู้โดยสาร หากเร่งไม่ขึ้นหรือมีกำลังไม่มากพอควรเลื่อนตำแหน่งเกียร์มาที่ D2, D1, 2 หรือ L (ขึ้นอยู่กับรถแต่ละรุ่น) เพื่อช่วยเพิ่มพละกำลังให้กับเครื่องยนต์

ข้อควรระวังในการขับรถลงเขา
-
ห้ามเหยียบเบรกตลอดเวลา
หากเปรียบเทียบกับการขับรถขึ้นเขาแล้ว การขับรถลงเขานั้นถือว่ามีความยากและอันตรายกว่ากันมาก เพราะรถจะเคลื่อนที่ได้เร็วตามความลาดชันของถนน ทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องเหยียบเบรกเพื่อชะลอรถ แต่การเหยียบเบรกมากไปก็อาจทำให้เบรกไหม้หรือเบรกแตกได้ เราจึงไม่ควรเหยียบเบรกแช่ไว้เป็นเวลานาน ๆ ควรใช้การแตะแล้วปล่อย ๆ
-
ใช้เกียร์ต่ำทุกครั้งที่ลงเขา
การขับรถลงเขานั้นควรใช้เกียร์ต่ำเป็นหลัก เกียร์ธรรมดา คือ เกียร์ 1-2 เกียร์ออโต้ คือ เกียร์ D2, D1, 2 หรือ L เพราะการใช้เกียร์ต่ำ เครื่องยนต์จะมีแรงฉุด แรงดึงของเครื่องยนต์ หรือที่เรียกกันว่า Engine Brake เป็นตัวช่วยในการลดความเร็วและลดการใช้เบรกได้อีกด้วย
-
ไม่ควรเหยียบคลัตช์
ในรถเกียร์ธรรมดาขณะขับลงเขาไม่ควรเหยียบคลัตช์ค้างไว้ เพราะการเหยียบคลัตช์นั้นเหมือนเป็นการเข้าเกียร์ว่าง จะทำให้กำลังแรงฉุดของเครื่องยนต์หายไป รถจะมีความเร็วเพิ่มมากขึ้น เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้
-
ไม่ควรใช้เกียร์ว่างลงเขา
สำหรับในรถเกียร์ธรรมดา และรถเกียร์ออโต้ การใช้เกียร์ว่าง หรือเกียร์ N ลงเขาถือเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะรถจะไม่มีแรงฉุดหรือแรงดึงจากเครื่องยนต์ ทำให้รถไหลลงเขาด้วยความเร็วสูง อาจเบรกไม่อยู่และเกิดอุบัติเหตุได้
-
บีบแตรส่งสัญญาณเตือนเป็นระยะ
ไม่ว่าจะเป็นการขับรถขึ้นหรือลงเขา หากเส้นทางมีลักษณะเป็นโค้ง หรือเป็นมุมอับสายตา ก่อนถึงบริเวณนั้น ๆ ควรบีบแตรเพื่อส่งสัญญาณเตือนรถที่กำลังจะขับสวนมาเพื่อให้อีกฝ่ายได้เพิ่มความระมัดระวัง

อย่างไรก็ตาม การขับรถขึ้นหรือลงเขาไม่ได้ยากอย่างที่คิด ขอเพียงแค่รู้เทคนิคการใช้งานเกียร์ และไม่ใช้ความเร็วสูงเกินไป แต่ที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นเกียร์แบบไหนตัวคนขับควรศึกษาเส้นทางก่อนออกเดินทาง หากดูแล้วภูเขาที่จะไปมีความลาดชันมาก และเส้นทางค่อนข้างอันตราย ควรหลีกเลี่ยงการขับรถขึ้นไปเอง และใช้บริการรถของคนในพื้นที่เพื่อความปลอดภัย
บทความที่เกี่ยวข้องกับการขับรถ
ขอบคุณข้อมูลจาก : drive.govt.nz, allstate.com