x close

อัปเดตสถานการณ์โรงงานรถยนต์ในสหรัฐฯ หลังเผชิญวิกฤตหนักจาก COVID-19

สรุปสถานการณ์อุตสาหกรรมรถยนต์ในสหรัฐอเมริกา หลังจากกลายเป็นประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 สูงที่สุดในโลกจนมีสิทธิ์ทะลุถึง 1 ล้านคน โรงงานของแต่ละค่าย ทั้ง BMW Toyota Honda Ford หรือ GM มีมาตรการรับมืออย่างไรบ้าง

สหรัฐอเมริกา นับเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และในขณะที่ดินแดนสหรัฐฯ กลายเป็นประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 สูงที่สุดในโลก รวมทั้งหมดเกินกว่า 7 แสนรายไปแล้ว ย่อมส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจการของโรงงานรถยนต์ทุก ๆ ค่ายด้วย

ลองติดตามสถานการณ์ของบรรดาโรงงานผู้ผลิตรถยนต์ในต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่มียอดผู้ติดเชื้อมากที่สุดในโลกขณะนี้ ว่ามีมาตรการจัดการบริหารบุคลากรโรงงาน พนักงานโรงงาน และการชดเชยค่าแรงอย่างไรกันบ้าง 

1. BMW

โรงงาน BMW ที่เมืองสปาร์ตันเบิร์ก รัฐเซาท์แคโรไลนา สหรัฐอเมริกา ได้ปิดไปตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม และมีแผนจะเปิดโรงงานเมื่อวันที่ 12 เมษายน ที่ผ่านมา แต่กำหนดการนี้ก็ต้องเลื่อนออกไปพร้อมกับพนักงานอีกกว่า 11,000 คนที่ถูกพักงาน เนื่องจากยังไม่สามารถเปิดโรงงานได้จนกว่าจะพิจารณาอีกครั้งในวันที่ 30 เมษายน แต่พนักงานยังได้รับการดูแลเกี่ยวกับสุขภาพอยู่

COVID-19

ภาพจาก bmwgroup-plants.com

โรงงานรถ BMW เมืองสปาร์ตันเบิร์ก รัฐเซาท์แคโรไลนา สหรัฐอเมริกา

2. Ford

นอกเหนือจากการหยุดสายการผลิตรถยนต์แล้ว Ford ยังเปิดโรงงานบางส่วนเป็นกรณีฉุกเฉิน โดยปรับให้สามารถผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสแจกจ่ายให้กับพนักงานและช่วยเหลือสังคมอีกด้วย จนถึง ณ ตอนนี้ ยังไม่มีมาตรการเลิกจ้างพนักงานแต่จะได้รับเงินเดือนลดลง คิดเป็น 75% ของค่าแรงที่เคยได้รับตามข้อตกลงกับ UAW (สหภาพแรงงานรถยนต์อเมริกัน) และยังคงปิดโรงงานต่อไปอย่างไม่มีกำหนดเปิดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19

COVID-19

ภาพจาก bmwgroup-plants.com

โรงงาน Ford เมืองแคนซัสซิตี รัฐมิสซูรี สหรัฐอเมริกา

3. General Motors (GM)

แม้แต่ยักษ์ใหญ่อย่าง GM เอง ก็ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะกลับมาเปิดโรงงานได้เมื่อไหร่ ในขณะที่มีการสั่งระงับสายงานการผลิตไปเรื่อย ๆ GM ได้ทำการเลิกจ้างพนักงานไปแล้วกว่า 6,500 คน พร้อมทั้งลดเงินเดือนผู้บริหารลงอีก 5-10% และจะค้างชำระไว้อีก 20% ของเงินเดือนทั้งหมด จนกว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัว โดยที่พนักงานที่ยังไม่ถูกเลิกจ้าง จะได้รับเงินเดือน 75% จากที่เคยได้ปกติ

COVID-19

ภาพจาก media.gm.com

โรงงานผลิตชิ้นส่วน GM รัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา

4. Honda

Honda ได้ระงับการผลิตของโรงงานในอเมริกาเหนือไปตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม และจะยังปิดต่อไปจนถึง 1 พฤษภาคม โดยทาง Honda กำลังดำเนินการให้ช่วงเวลาระหว่างที่ไม่มีการผลิตนั้นเป็นวันหยุดทำงานเนื่องจากเป็นการหยุดงานต่อเนื่องของโรงงาน และจะหยุดจ่ายเงินให้กับพนักงานด้วย นับตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน เป็นต้นไป 

ทั้งนี้ Honda จะช่วยให้พนักงานได้รับเงินช่วยเหลือและสวัสดิการของรัฐที่ทางรัฐบาลอเมริกาประกาศใช้เร็ว ๆ นี้ ซึ่งจะทำให้พนักงานมีรายได้ทดแทนอย่างมากในช่วงหยุดการผลิต

5. Hyundai

โรงงานรถของ Hyundai ที่รัฐแอละแบมา สหรัฐอเมริกา ได้หยุดสายการผลิตไปตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม แต่ก็ยังมีพนักงานประมาณ 100 คนที่ยังต้องเข้าโรงงานมาทำงานอยู่ โดยทางโรงงานก็ได้ปฏิบัติตามกฎข้อบังคับของกระทรวงสาธารณสุขในการฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่ทำงาน สำหรับพนักงานที่ถูกพักงานกว่า 3,000 คนนั้น ทาง Hyundai สัญญาว่าจะจ่ายเงินชดเชยให้ และอนุญาตวันลาพักร้อนเพิ่มเติมได้โดยจ่ายค่าแรงให้อีกด้วย

6. Nissan

โรงงานของ Nissan ในรัฐเทนเนสซีและรัฐมิสซิสซิปปีจะกลับมาเปิดโรงงานในวันที่ 27 เมษายนนี้ โดยมีพนักงานกว่า 10,000 คนที่ถูกพักงานไป และจะไม่ได้รับเงินเดือนในช่วงที่หยุดงาน แต่จะยังคงได้รับสวัสดิการต่าง ๆ สิทธิประโยชน์จากการว่างงานและประกันสุขภาพต่อไป จะมีพนักงานบางส่วนเท่านั้นที่จะยังคงได้รับเงินเดือน เนื่องจากต้องทำงานอยู่ในช่วงที่ปิดโรงงาน

COVID-19

ภาพจาก nissan-tennessee.com

รถ Nissan Altima จากโรงงาน Nissan รัฐเทนเนสซี สหรัฐอเมริกา

7. Subaru

โรงงานของ Subaru ที่รัฐอินเดียนา ได้ปิดไม่เมื่อวันที่ 23 มีนาคม ด้วยเหตุผลที่ว่า ปิดตามความต้องการของตลาด ถือว่าเป็นเหตุผลที่แปลกดีเพราะไม่ได้อ้างว่าปิดเพราะป้องกันการแพร่ระบาด โดยทางโรงงานของฝั่งญี่ปุ่นก็หยุดสายการผลิตด้วยเช่นกันด้วยเหตุผลที่ว่า หยุดเพื่อปรับปริมาณการผลิต แต่กลับไม่มีข้อมูลว่าเลิกจ้างพนักงานด้วยหรือไม่

COVID-19

ภาพจาก subaru-sia.com

โรงงาน Subaru รัฐอินเดียนา สหรัฐอเมริกา

8. Tesla

สำหรับแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าอย่าง Tesla พนักงานที่ไม่จำเป็นจะถูกพักงาน และพนักงานอื่น ๆ จะถูกลดเงินเดือน มีผลตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน เป็นต้นไป โดยพนักงานจะถูกลดเงินเดือนลง 10% ผู้บริหาร 20% และ 30% สำหรับตำแหน่งรองประธานขึ้นไป โดยมาตรการจะมีผลไปจนถึงเดือนมิถุนายน โดยทางบริษัทได้ส่งอีเมลให้แก่พนักงานว่า “เสียสละร่วมกันกับบริษัท” 

Tesla ได้ปิดโรงงานไปตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม และหวังว่าจะกลับมาทำงานได้ในวันที่ 4 พฤษภาคม ตามกำหนดการเดิม

COVID-19

ภาพจาก tesla.com

โรงงาน Tesla เมืองฟรีมอนต์ รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

9. Toyota

โรงงาน Toyota ทั้งหมดในโซนอเมริกาเหนือที่หยุดสายงานผลิตไป มีกำหนดเปิดอีกครั้งในวันที่ 1 พฤษภาคม และวันที่ 4 พฤษภาคม ในส่วนของการผลิต 

พนักงานประจำทั้งหมด 23,000 คน (เฉพาะโรงงานในอเมริกา) จะได้รับค่าแรง 4 วันต่อสัปดาห์ โดยค่าแรงสำหรับวันที่ 5 นั้น ต้องระบุเวลาเข้า-ออกงานเพื่อเบิกจ่ายค่าแรงด้วย หมายความว่าจะหยุดก็ได้ แต่ถ้ามาทำงานก็ให้ส่งเอกสารยืนยันการทำงานจึงจะได้ค่าแรง โดยการคิดค่าแรงแบบนี้ จะใช้ในสัปดาห์ของวันที่ 20 เมษายน และ วันที่ 27 เมษายน 

สำหรับลูกจ้างชั่วคราวอีก 5,000 คน จะถูกเลิกจ้างแต่ก็จะได้รับค่าตอบแทนเต็มจำนวนเพื่อรักษาความสัมพันธ์อันดี เผื่อในวันที่ขาดแคลนแรงงานอีกก็สามารถกลับมาทำงานกันต่อได้

COVID-19

ภาพจาก toyotaky.com

โรงงาน Toyota เมืองจอร์จทาวน์ รัฐเคนทักกี สหรัฐอเมริกา

จากข่าวทั้งหมดที่นำเสนอไปนั้นจะพบว่า รถยนต์ทุกแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นรถหรูหรือรถตลาดต่างก็ได้รับผลกระทบทั้งสิ้น รายได้ที่หายไปส่งผลต่อรายรับของพนักงานและผู้บริหารในรูปแบบต่าง ๆ กันไป ไม่ว่าจะเป็นการลดเงินเดือน หรือเลิกจ้าง แต่หลาย ๆ บริษัทก็ยังช่วยเหลือในส่วนของสวัสดิการของพนักงานอยู่

หากวิกฤตครั้งนี้ผ่านพ้นไป เชื่อว่าจะต้องเกิดความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมรถยนต์เป็นอย่างมากแน่นอน เพียงแต่ว่าจะเปลี่ยนไปในทิศทางใดเรายังไม่อาจคาดเดาได้ 

ข้อมูลจาก : caranddriver.com

บทควาที่เกี่ยวข้อง
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อัปเดตสถานการณ์โรงงานรถยนต์ในสหรัฐฯ หลังเผชิญวิกฤตหนักจาก COVID-19 โพสต์เมื่อ 22 เมษายน 2563 เวลา 14:25:50 20,172 อ่าน
TOP