ประเทศไทยกำลังผันเปลี่ยนจากหน้าร้อนเข้าสู่หน้าฝนในความเชื่อเดิม ๆ ว่าจะเริ่มนับตั้งแต่เดือนหกนั้น ในยุคนี้เดือนหกอาจยังแล้งอยู่ อีกทั้งเชื่อว่าหลังหน้าร้อนผ่านพ้นเมษายน เจ้าของรถยนต์และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุบัติเหตุ เฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์เกือบหมื่นราย คงได้มีโอกาสเรียนรู้ระบบประกันภัยกันอย่างลึกซึ้ง ทั้งในฐานะไปละเมิดและถูกละเมิด และแน่นอนได้พิสูจน์ศักยภาพของบริษัทประกันภัยที่เราใช้บริการอยู่...เจ๋งหรือยัง
อย่างไรก็ดีเรื่องความรู้ด้านประกันภัยนั้น จะรู้มาก รู้สึก รู้น้อย หรือไม่รู้เลย มีอยู่ประเด็นหนึ่งที่เจ้าของรถยนต์ผู้เอาประกันภัยมักจะลืม รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ฝ่ายสินไหมทดแทนของบริษัทประกันภัยมักจะลืมด้วยความไม่บริสุทธิ์ใจเช่นเดียวกัน
ประเด็นที่ว่านี้คือสิทธิอันพึงได้พึงเสีย ในเรื่องการเรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ ซึ่งต้องตอกย้ำขีดเส้นใต้ตัวใด ๆ กันอีกครั้งว่า ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถกับค่าขาดรายได้จากการทำงาน มันไม่ใช่เรื่องเดียวกัน และมีสิทธิเรียกร้องได้ทั้งสองรายการ
แต่เพื่อป้องกันความสับสนก็ต้องแยกอธิบายถึง "ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ" ก่อน เพราะรายการนี้มีทั้งได้สิทธิและหมดสิทธิ
คู่มือตีความกรมธรรม์ประกันรถยนต์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ระบุในหมวดการยกเว้นความเสียหายต่อตัวรถยนต์ที่กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ไม่คุ้มครอง ซึ่งมีอยู่ 9 ข้อด้วยกัน เฉพาะข้อที่ 5 ระบุชัดเจน กรมธรรม์ประกันภัยไม่คุ้มครองในความเสียหายอันเกิดจากการใช้รถยนต์
อ้าว! ท่านผู้อ่านคงนึกว่ารายการนี้คงจบข่าว
ยังไม่จบข่าวครับ เพราะคู่มือได้ห้อยดิ่งเอาไว้ว่า ถ้าความเสียหายจากการขาดการใช้รถยนต์นั้นเกิดจากบริษัทประวิงการซ่อม หรือซ่อมล่าช้าเกินกว่าที่ควรจะเป็น โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ผู้เอาประกันภัยสามารถเรียกค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์การใช้รถได้
อีกทั้งการเรียกค่าเสียหายนั้น ท่านบอกว่าให้คิดคำนวณจากวันที่ขาดประโยชน์จากการล่าช้า ไม่ใช่นับจากวันที่การขาดใช้ประโยชน์ หมายความว่า รถยนต์เกิดอุบัติเหตุเมื่อวันที่ 1 และบริษัทประกันหรืออู่ซ่อมรถยนต์ในสังกัดนัดหมายว่ารถยนต์จะซ่อมแล้วเสร็จภายในวันที่ 25
ดังนั้นการนับว่าการขาดผลประโยชน์จากการใช้รถต้องเริ่มนับจากวันที่ 25 จนถึงวันรับรถ ไม่ใช่เริ่มนับจากวันที่ 1
ที่สำคัญคู่มือฉบับนี้ระบุไว้ชัดเจนว่า ปัญหาว่าอย่างไรถึงจะล่าช้า จะต้องพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป โดยพิจารณาจากขนาดความเสียหาย เปรียบเทียบกับกรณีทั่วไป ความเสียหายขนาดนั้น โดยทั่วไปจะซ่อมเสร็จภายในกี่วัน หากบริษัทซ่อมแล้วเสร็จช้ากว่านั้นก็ให้ถือว่าล่าช้าแล้ว
อย่างไรก็ตามกรณีรถยนต์ของเราเป็นฝ่ายถูกละเมิดหรือภาษาประกันเขาเรียกว่าเป็นฝ่ายถูก กรณีอย่างนี้ ไม่ต้องคิดถึงว่าจะเข้าข่ายข้อยกเว้น เข้าข่ายประวิงซ่อมช้าหรือไม่ เพราะเจ้าของรถยนต์สามารถเรียกค่าขาดประโยชน์จาการใช้รถจากบริษัทประกันภัยได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ตามประมวลกฎหมายแห่งและ พาณิชย์มาตรา 240 ลักษณะมูลละเมิด
อีกทั้งการนับวันเวลาในการเรียกค่าเสียหาย ขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ในกรณีที่เป็นฝ่ายถูกสามารถนับตั้งแต่วันเกิดอุบัติเหตุจนไม่สามารถใช้รถได้
แต่อย่างว่าล่ะครับ ทั้งสองลักษณะ เหตุเกิดจากการประวิงหรือสิทธิอันชอบธรรม 100 เปอร์เซ็นต์ จากถูกละเมิดกฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ว่า ค่าขาดประโยชน์จากการขาดการใช้รถนั้นจะต้องชดใช้กันอย่างไรเป็นมูลค่าหรือเป็นตัวเลขเท่าไหร่ต่อวัน
นั่นก็หมายความว่าถ้าอยากจะได้มากกว่าวันละ 300 บาท เรา ๆ ท่าน ๆ จำต้องหาหลักฐานมายืนยันให้ได้ว่าเราใช้จ่ายในการเดินทางจริงวันละเท่าไหร่ อย่างเช่น ถ้าได้ใช้บริการรถแท็กซี่รุ่นใหม่ที่มีใบเสร็จให้กับผู้โดยสาร หลักฐานอย่างนี้รับประกันซ่อมฟรีบริษัทเถียงไม่ออก หรือใช้กรณีเทียบเคียงเอาจากอัตราค่าโดยสารที่ติดประกาศอยู่ในรถแท็กซี่ หรืออัตราค่าเช่ารถจากบริษัทรถเช่า
แต่อย่างไรก็ดีถ้าตกลงกันไม่ได้ ผู้เอาประกันภัยสามารถเรียกใช้บริการจากสำนักงาน คปภ. มาเป็นตัวกลางในการเจรจาให้
เรื่องของการเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดจากการขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่ว่าจะเป็นลักษณะที่เราเป็นฝ่ายถูกเรียกร้องได้ 100 เปอร์เซ็นต์ หรือเกิดจากความล่าช้าในการจัดซ่อมนับเป็นเรื่องที่เรา ๆ ท่าน ๆ มักจะลืมแบบรู้เท่าไม่ทันเหลี่ยม
จำเพียงแค่ว่าถ้ารถยนต์เรามีประกันภัย เมื่อเกิดความเสียหายอะไรขึ้นมาบริษัทประกันรับผิดชอบซ่อมรถยนต์ให้เท่านั้นเอง ทั้ง ๆ ที่ผู้เอาประกันภัยยังมีสิทธิอะไรอีกมากมายที่จะสามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์ในการใช้ทรัพย์นั้น ๆ ที่เสียหายส่วนจะหวังว่าบริษัทประกันภัยจะช่วยรักษาสิทธิให้กับเรานั้น เลิกคิดไปได้เลย เพราะแกล้งลืมกันเป็นส่วนใหญ่
สุดท้ายนี้นอกจากสิทธิที่พึงได้ในการเรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์แล้ว อย่าลืมว่ายังมีอีกสิทธิหนึ่งที่สามารถเรียกร้องได้ แต่คนส่วนใหญ่นึกว่าสิทธิตัวเดียวกัน นั่นก็คือสิทธิในการเรียกร้องในเรื่องของการขาดประโยชน์ในการทำมาหากิน ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นนั่นเอง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
หนังสือ GM CAR
Vol.19 No.250 พฤษภาคม 2557