x close

ต่อ พ.ร.บ. กับต่อภาษีประจำปี ใช่อันเดียวกันหรือไม่

พ.ร.บ. กับภาษีอันเดียวกันไหม เพราะทุกครั้งที่ต่อภาษีประจำปีก็จะต้องมี พ.ร.บ. รวมอยู่ด้วยทุกครั้ง สรุปว่าสองอย่างนี้เกี่ยวข้องกันไหม ใช่เรื่องเดียวกันหรือเปล่า

พรบ. กับต่อภาษีอันเดียวกันไหม

ภาพจาก : shutterstoc.com / retirementbonus

สรุปข้อสงสัย พ.ร.บ. กับภาษีอันเดียวกันไหม โดยเฉพาะผู้ที่ใช้บริการต่อภาษีผ่านบริการของเอกชน ซึ่งทุกครั้งที่ไปต่อภาษีประจำปีรถยนต์ หรือมอเตอร์ไซค์ ก็จะต้องมี พ.ร.บ. รวมอยู่ด้วยเสมอ เมื่อชำระเงินก็เท่ากับว่าต่อภาษีประจำปีเรียบร้อย แต่จริง ๆ แล้ว พ.ร.บ. กับการต่อภาษีเป็นเรื่องเดียวกันหรือไม่ แล้วทำไมต้องมาคู่กันเสมอ

พ.ร.บ. กับภาษีอันเดียวกันไหม

พ.ร.บ. รถยนต์ รวมถึง พ.ร.บ. รถจักรยานยนต์ เป็นคนละเรื่องเดียวกันกับภาษีรถประจำปี แต่มีความเกี่ยวข้องกันจากข้อกำหนดที่ทุกครั้งเมื่อต่อภาษีรถประจำปี รถทุกคันจะต้องทำประกันภัยภาคบังคับ หรือ พ.ร.บ. จึงจะสามารถต่อภาษีรถประจำปีได้ เพื่อเป็นหลักประกันให้กับผู้ใช้รถใช้ถนนในการได้รับสิทธิความคุ้มครองจากเงินกองกลางที่รถทุกคันได้ทำ พ.ร.บ. เมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือประสบภัยจากรถ

ดังนั้น พ.ร.บ. กับภาษีรถยนต์ จึงเป็นคนละส่วนกัน แต่มีความเกี่ยวข้องกันโดยข้อกำหนด ส่วนใหญ่จึงหมดอายุพร้อมกัน นอกจากนี้เจ้าของรถยังสามารถต่อ พ.ร.บ. โดยไม่ต้องต่อภาษีรถประจำปีได้ เช่น ภาษีขาด ก็สามารถต่อ พ.ร.บ. ได้ แต่ในทางกลับกัน หากไม่ต่อ พ.ร.บ. จะต่อภาษีรถประจำปีอย่างเดียวนั้นทำไม่ได้ 

พ.ร.บ. รถยนต์ / พ.ร.บ. รถจักรยานยนต์ คืออะไร

พ.ร.บ. ในที่นี้คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ก็คือประกันอุบัติเหตุภาคบังคับที่รถทุกคันต้องทำเพื่อคุ้มครองผู้ประสบเหตุกรณีได้รับบาดเจ็บ เช่น ค่ารักษาพยาบาล สูญเสียอวัยวะ เสียชีวิต ตลอดจนค่าชดเชยรายวันตามความคุ้มครองที่กำหนด เมื่อต่อ พ.ร.บ. แล้วสิ่งที่ต้องได้คือ กรมธรรม์ ซึ่งจะระบุความคุ้มครองในนั้นทั้งหมด

พรบ. กับต่อภาษีอันเดียวกันไหม

ภาษีรถประจำปี คือ

ส่วนภาษีรถประจำปี คือ ค่าใช้จ่ายที่เจ้าของรถทุกคนต้องดำเนินการชำระทุกปี เพื่อนำเงินไปดูแลรักษาระบบคมนาคมและส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ส่วนระยะเวลาที่ผู้ขับขี่ต้องต่อภาษีจะระบุไว้ที่ป้ายภาษีหน้ารถ ซึ่งรถแต่ละประเภทต้องจ่ายภาษีแตกต่างกัน โดยกรมการขนส่งทางบกจะจัดเก็บภาษีตาม พ.ร.บ. รถยนต์ พ.ศ. 2522 เช่น รถยนต์ส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน จัดเก็บตามความจุกระบอกสูบ (ซี.ซี.) และรถยนต์ประเภทอื่นจัดเก็บเป็นรายคัน เป็นต้น เมื่อต่อภาษีประจำปีแล้วจะได้ป้ายภาษีเป็นกระดาษสี่เหลี่ยม ผู้ขับขี่ต้องติดป้ายภาษีในจุดที่สามารถมองเห็นได้ หากฝ่าฝืนไม่แสดงป้ายภาษีถือว่ามีความผิดเช่นกัน

พรบ. กับต่อภาษีอันเดียวกันไหม

ภาพจาก : shutterstock.com / SKT Studio

ไม่ต่อภาษีรถ รวมถึง พ.ร.บ. โดนตำรวจจับปรับเท่าไหร่

แม้ทั้ง พ.ร.บ. และภาษีรถประจำปี จะต้องต่อพร้อมกัน แต่โทษปรับกรณีปล่อย พ.ร.บ. กับภาษีรถขาดนั้นต่างกันมาก โดยการขาดต่อภาษีประจำปีจะมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท แต่หาก พ.ร.บ. ขาด จะมีโทษปรับสูงสุด 10,000 บาท

ดังนั้น พ.ร.บ. กับภาษีรถประจำปี จึงเป็นคนละส่วนกัน จุดประสงค์ในการจัดเก็บก็ต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่การจะต่อภาษีรถประจำปีจะต้องมี พ.ร.บ. ทุกครั้ง หลายคนอาศัยความสะดวก มักเลือกใช้บริการรับต่อภาษี ซึ่งจะดำเนินการให้ตั้งแต่ตรวจสภาพ (ถ้าอายุรถถึงกำหนด) พ.ร.บ. และภาษี จึงอาจดูเหมือนว่าทั้งหมดเป็นเรื่องเดียวกันได้

บทความที่เกี่ยวข้องกับการขับขี่รถยนต์

ขอบคุณข้อมูลจาก : portal.info.go.th

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ต่อ พ.ร.บ. กับต่อภาษีประจำปี ใช่อันเดียวกันหรือไม่ อัปเดตล่าสุด 18 กันยายน 2566 เวลา 11:57:13 19,545 อ่าน
TOP