x close

พ.ร.บ. รถยนต์คุ้มครองอะไรบ้าง เบิกได้เท่าไหร่เมื่อเกิดอุบัติเหตุ

พ.ร.บ. รถยนต์คุ้มครองอะไรบ้างหากเกิดอุบัติเหตุ เบิกได้มากน้อยแค่ไหน รวมถึงหากเป็นฝ่ายผิด พ.ร.บ. คุ้มครองด้วยหรือไม่ และมีขั้นตอนการเบิก พ.ร.บ. อย่างไรบ้าง

พรบ.รถยนต์

ทุกครั้งที่ต่อภาษีรถยนต์ประจำปีจะต้องทำ พ.ร.บ. ก่อนเป็นข้อบังคับ ซึ่ง พ.ร.บ. ในที่นี้คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ หรือประกันอุบัติเหตุภาคบังคับที่รถทุกคันไม่ว่าจะรถยนต์ หรือมอเตอร์ไซค์ ต้องทำ เพื่อคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ส่วนจะคุ้มครองอะไรบ้าง แค่ไหน มีขั้นตอนการเบิกรักษาอย่างไรบ้าง เป็นสิทธิที่ผู้ใช้รถใช้ถนนควรรู้

พ.ร.บ. รถยนต์คุ้มครองอะไรบ้าง

ความคุ้มครองของ พ.ร.บ. รถยนต์ จะครอบคลุมผู้ประสบภัยจากรถทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นฝ่ายผิดหรือถูก แต่ความคุ้มครองจะไม่เท่ากัน โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน ดังนี้

1. ค่าเสียหายเบื้องต้น

ในส่วนของความคุ้มครองค่าเสียหายเบื้องต้น คือ จะคุ้มครองผู้ประสบภัยทุกฝ่าย ไม่ต้องรอพิสูจน์ว่าฝ่ายไหนถูก ฝ่ายไหนผิด รวมถึงเกิดอุบัติเหตุเองไม่มีคู่กรณี โดยบริษัทประกันจะต้องชดใช้ให้แก่ผู้ประสบภัย หรือทายาท (โดยสารคันไหนใช้สิทธิของคันนั้น) ภายใน 7 วัน นับจากที่บริษัทได้รับคำขอให้ชดเชยตามวงเงิน ดังนี้

  • กรณีบาดเจ็บ จะได้เงินชดเชยค่ารักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องตามจริง ไม่เกิน 30,000 บาท/คน

  • กรณีทุพพลภาพถาวร หรือสูญเสียอวัยวะ จะได้ค่าเสียหาย 35,000 บาท/คน

  • กรณีเสียชีวิต บริษัทประกันจะจ่ายเช็คแก่ทายาทโดยธรรมตามกฎหมายของผู้ประสบภัย จะได้รับการชดเชยจำนวน 35,000 บาท/คน

2. จำนวนเงินคุ้มครองผู้ประสบภัย (หลังการพิสูจน์แล้วว่าเป็นฝ่ายถูก)

หากผู้ประสบภัยเป็นฝ่ายถูกสามารถเบิกค่าชดเชยเพิ่มเติมจากค่าเสียหายเบื้องต้นกับบริษัทประกันคู่กรณี (ที่เป็นฝ่ายผิด) ได้ ดังนี้

  • กรณีบาดเจ็บ จะเบิกค่ารักษาพยาบาลตามจริงได้ไม่เกิน 80,000 บาท/คน (หากได้รับเงินชดเชยค่าเสียหายเบื้องต้นแล้ว 30,000 บาท ก็จะเบิกได้อีก 50,000 บาท)

  • กรณีทุพพลภาพถาวร หรือสูญเสียอวัยวะ จะได้รับเงินทดแทน 200,000-500,000 บาท/คน ขึ้นอยู่กับอวัยวะและลักษณะที่สูญเสียตามที่กฎหมายกำหนด (รวมกับค่าเสียหายเบื้องต้นแล้ว)

  • กรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพอย่างถาวรสิ้นเชิง ทายาทโดยธรรมตามกฎหมายของผู้ประสบภัยจะได้รับเงินชดเชยสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท/คน (รวมกับค่าเสียหายเบื้องต้นแล้ว)

  • กรณีต้องเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในของสถานพยาบาล จะได้รับค่าชดเชย 200 บาท/วัน สูงสุดไม่เกิน 20 วัน

สำหรับการทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง คือ เกิดอุบัติเหตุจนสูญเสียอวัยวะ หรือร่างกายไม่อยู่ในสภาวะที่ประกอบอาชีพใด ๆ ได้อีกตลอดไป ขณะที่ทุพพลภาพถาวร (บางส่วน) คือ สูญเสียอวัยวะ หรือร่างกายไม่อยู่ในสภาวะที่จะประกอบอาชีพเดิมได้ตลอดไป แต่ยังประกอบอาชีพอื่น ๆ ได้

นอกจากนี้ ความคุ้มครองสูงสุดที่ประกันจะจ่ายรวมกันไม่เกิน 504,000 บาท/คน หรือไม่เกิน 5,000,000 บาท สำหรับผู้ประสบภัยทั้งหมด หากเป็นรถยนต์ หรือรถบรรทุกไม่เกิน 7 ที่นั่ง และไม่เกิน 10,000,000 บาท ถ้าเป็นรถยนต์เกิน 7 ที่นั่ง หรือรถยนต์โดยสารเกิน 7 ที่นั่ง ต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้ง

พรบ.รถยนต์

ขันตอนการเบิกค่าสินไหมทดแทนจาก พ.ร.บ.

1. กรณีบาดเจ็บ เบิกค่ารักษาพยาบาล

  • สำเนาบัตรประชาชน หรือหนังสือเดินทาง หรือหลักฐานทางราชการที่ระบุได้ว่าเป็นผู้ประสบภัย

  • ใบเสร็จค่ารักษาพยาบาล

  • หลักฐานแสดงการเกิดอุบัติเหตุ หรือบันทึกประจำวันจากตำรวจ

2. กรณีทุพพลภาพถาวร หรือสูญเสียอวัยวะ

  • สำเนาบัตรประชาชน หรือหนังสือเดินทาง หรือหลักฐานทางราชการที่ระบุได้ว่าเป็นผู้ประสบภัย

  • ใบรับรองแพทย์

  • สำเนาบันทึกประจำวันของพนักงานสอบสวน

3. กรณีเบิกค่ารักษาตัวในโรงพยาบาล (ผู้ป่วยใน)

  • สำเนาบัตรประชาชน หรือหนังสือเดินทาง หรือหลักฐานทางราชการที่ระบุได้ว่าเป็นผู้ประสบภัย

  • ใบแจ้งหนี้ค่ารักษาพยาบาล หรือหนังสือรับรองการรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในจากโรงพยาบาล

4. กรณีเสียชีวิต

  • สำเนาบัตรประชาชน หรือหนังสือเดินทาง หรือหลักฐานทางราชการที่ระบุได้ว่าเป็นผู้ประสบภัย

  • ใบมรณบัตร

  • สำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านของทายาท รวมถึงบัตรประชาชนของทายาทโดยธรรมตามกฎหมาย

  • สำเนาบันทึกประจำวันของพนักงานสอบสวน และ/หรือหลักฐานอื่นที่แสดงว่าผู้นั้นถึงแก่ความตายเพราะประสบภัยจากรถ

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะมีประกัน พ.ร.บ. รถยนต์ หรือประกันรถยนต์ภาคสมัครใจ ประกันแต่ละประเภทจะมีความคุ้มครองจำกัด หรือแม้แต่ประกัน (ภาคสมัครใจ) ประเภทเดียวกัน ต่างบริษัท ก็อาจมีรายละเอียดความคุ้มครองในกรมธรรม์ต่างกันได้เพราะเบี้ยประกันต่างกัน ผู้ทำประกันภัยไม่ว่าประเภทไหนควรศึกษา ทำความเข้าใจในรายละเอียด โดยเฉพาะเนื้อหาที่สำคัญก่อนทุกครั้ง และควรขับรถอย่างไม่ประมาท เพราะบางอย่างก็ไม่สามารถชดเชยด้วยเงินได้ทั้งหมด

บทความที่เกี่ยวข้องกับการขับขี่รถยนต์

ขอบคุณข้อมูลจาก : rvp.co.th

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พ.ร.บ. รถยนต์คุ้มครองอะไรบ้าง เบิกได้เท่าไหร่เมื่อเกิดอุบัติเหตุ อัปเดตล่าสุด 14 กันยายน 2566 เวลา 15:32:25 31,517 อ่าน
TOP