x close

ภาษีรถกระบะ คิดอย่างไร เสียปีละกี่บาท

ภาษีรถกระบะ 4 ประตู และภาษีรถกระบะแค็บ 2 ประตู มีวิธีการคำนวณภาษีอย่างไรในแต่ละปี และต้องเสียปีละกี่บาท พร้อมวิธีตรวจเช็กภาษีรถยนต์ออนไลน์ ง่ายเพียงแค่กรอกรายละเอียด

ภาษีรถกระบะ

รถกระบะ พาหนะที่ได้รับความนิยมมากในไทย ซึ่งปัจจุบันมีหลายรูปแบบ สำหรับการใช้งานหลากหลาย ทั้งบรรทุกของตลอดจนใช้เป็นรถยนต์ส่วนบุคคลเพื่อการโดยสารแทนรถเก๋งด้วยความอเนกประสงค์ แต่รถกระบะแต่ละประเภทต้องเสียภาษีประจำปีกี่บาท ภาษีรถกระบะ 4 ประตู กับภาษีรถกระบะ 2 ประตู ที่เอาไว้ใช้งานส่วนบุคคลต่างกันหรือไม่ มีวิธีคิดอย่างไรในแต่ละปี

ภาษีรถกระบะ 4 ประตู

หากเป็นรถกระบะ 4 ประตู จะจดทะเบียนและคิดภาษีประจำปีแบบรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง (ป้ายทะเบียนพื้นขาว ตัวหนังสือสีดำ) ตามความจุของเครื่องยนต์ที่ระบุไว้ในเล่มทะเบียนเป็นช่วงอัตราก้าวหน้าแบบขั้นบันได ดังนี้

600 ซี.ซี. แรก จะคิดที่อัตรา 0.50 บาท/ซี.ซี. บวกกับส่วนเกินช่วง 600-1,800 ซี.ซี. คิดด้วยอัตรา 1.50 บาท/ซี.ซี. และส่วนที่เกิน 1,800 ซี.ซี. ขึ้นไป ด้วยอัตรา 4 บาท/ซี.ซี.

ตัวอย่าง : รถกระบะ 4 ประตู เครื่อง 3,000 ซี.ซี. อายุ 1 ปี จะแบ่งคิดตามช่วง ซี.ซี. ดังนี้

  • 600 ซี.ซี. แรก คิดอัตรา 0.50 บาท/ซี.ซี. = 300 บาท

  • ส่วนเกิน 600-1,800 ซี.ซี. คิดอัตรา 1.50 บาท/ซี.ซี. = 1,800 บาท

  • ส่วนที่เกินจาก 1,800 ซี.ซี. (600 ซี.ซี.) คิดอัตรา 4 บาท/ซี.ซี. = 2,400 บาท

ภาษีรถกระบะ 4 ประตู ที่ต้องจ่ายในปีแรกนับจากวันจดทะเบียน = 4,500 บาท (หรือ 300+1,800+2,400 บาท)

โดยในช่วง 5 ปี แรก (นับตั้งแต่วันจดทะเบียน) จะคิดอัตราภาษีประจำปีคงที่ แต่หลังจากนั้นจะมีส่วนลดสำหรับรถเก่าอายุ 6 ปีขึ้นไป ตามอัตราส่วนดังนี้

  • รถอายุ 6 ปี ส่วนลด 10%

  • รถอายุ 7 ปี ส่วนลด 20%

  • รถอายุ 8 ปี ส่วนลด 30%

  • รถอายุ 9 ปี ส่วนลด 40%

  • รถอายุ 10 ปีขึ้นไป ส่วนลดคงที่ 50%

ตัวอย่างเช่น รถกระบะ 4 ประตู อายุ 8 ปี ขนาดความจุ 3,000 ซี.ซี. จะเสียภาษีประจำปี 3,150 บาท (4,500 บาท ลด 30%)

ภาษีรถกระบะแค็บ 2 ประตู

สำหรับรถกระบะแค็บ 2 ประตู รวมถึงรถกระบะ 2 ประตู ตอนเดียว ที่จดทะเบียนเป็นรถบรรทุกส่วนบุคคล (ป้ายทะเบียนพื้นขาว ตัวหนังสือสีเขียว) จะคิดภาษีประจำปีตามน้ำหนักรถ ดังนี้

  • น้ำหนัก 0-500 กิโลกรัม ภาษี 300 บาท

  • น้ำหนัก 501-750 กิโลกรัม ภาษี 450 บาท

  • น้ำหนัก 751-1,000 กิโลกรัม ภาษี 600 บาท

  • น้ำหนัก 1,001-1,250 กิโลกรัม ภาษี 750 บาท

  • น้ำหนัก 1,251-1,500 กิโลกรัม ภาษี 900 บาท

  • น้ำหนัก 1,501-1,750 กิโลกรัม ภาษี 1,050 บาท

  • น้ำหนัก 1,751-2,000 กิโลกรัม ภาษี 1,350 บาท

  • น้ำหนัก 2,001-2,500 กิโลกรัม ภาษี 1,650 บาท

  • น้ำหนัก 2,501-3,000 กิโลกรัม ภาษี 1,950 บาท

  • น้ำหนัก 3,001-3,500 กิโลกรัม ภาษี 2,250 บาท

  • น้ำหนัก 3,501-4,000 กิโลกรัม ภาษี 2,550 บาท

  • น้ำหนัก 4,001-4,500 กิโลกรัม ภาษี 2,850 บาท

  • น้ำหนัก 4,501-5,000 กิโลกรัม ภาษี 3,150 บาท

  • น้ำหนัก 5,001-6,000 กิโลกรัม ภาษี 3,450 บาท

  • น้ำหนัก 6,001-7,000 กิโลกรัม ภาษี 3,750 บาท

ทั้งนี้ ปัจจุบันกรมการขนส่งทางบกได้เปิดบริการเช็กภาษีรถประจำปีแบบออนไลน์ ให้เจ้าของรถสามารถตรวจสอบเองได้ผ่านเว็บไซต์ eservice.dlt.go.th เพียงแค่กรอกประเภทรถที่จดทะเบียน จังหวัด เลขทะเบียนรถ และเลขบัตรประจำตัวประชาชน ก็จะสามารถเช็กยอดภาษีที่ต้องจ่ายได้เลยทันทีโดยไม่ต้องคำนวณเอง

บทความที่เกี่ยวข้องกับเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับภาษีรถยนต์

ขอบคุณข้อมูลจาก : krisdika.go.th

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ภาษีรถกระบะ คิดอย่างไร เสียปีละกี่บาท อัปเดตล่าสุด 6 กันยายน 2566 เวลา 11:07:45 120,533 อ่าน
TOP