x close

ไทยเดินหน้ารถยนต์พลังไฟฟ้าเมื่อ ปตท. จับมือค่ายรถยนต์ทำสถานีชาร์จเพียบ



          เผยความเคลื่อนไหวประเทศไทยก้าวเข้าสู่รถยนต์พลังไฟฟ้า ปตท. จับมือลงนามบันทึกความร่วมมือการให้บริการสถานีบริการชาร์จรถยนต์พลังไฟฟ้า กับ 6 ค่ายรถใหญ่

          เมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา มีพิธีลงนาม ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำ 6 ราย ได้แก่ บริษัท บีเอ็มดับเบิลยู (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด, ปอร์เช่ ประเทศไทย โดยบริษัท เอเอเอส ออโต้ เซอร์วิส จำกัด และ บริษัท วอลโว่ คาร์ (ประเทศไทย) โดยได้พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็น ประธานในพิธี


          เป็นการตอบสนองนโยบายของกระทรวงพลังงานที่ได้วางกรอบแผนบูรณาการพลังงาน แห่งชาติ ในเรื่องมาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศให้ได้  1,200,000 คัน ภายในปี 2579 เพื่อขับเคลื่อนให้แผนอนุรักษ์พลังงานสามารถลดการใช้พลังงานร้อยละ 30 ให้ได้ในปี 2579 เมื่อเทียบกับปี 2553
 
          โดยภาครัฐได้ให้การสนับสนุนในเชิงนโยบาย อาทิ สิทธิประโยชน์ภาษีเงินได้และสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอื่น ๆ ให้กับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่ได้รับสิทธิ์การลดหย่อน หรือยกเว้นอากรขาเข้าในรุ่นรถยนต์ที่จะผลิต รวมถึงสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนหรือยกเว้นอากรขาเข้าชิ้นส่วนสำคัญซึ่งยัง ไม่สามารถมีการผลิตในประเทศ
 
           ฝั่งปตท. ในฐานะหน่วยงานของรัฐได้กล่าวไว้ว่า ยินดีและพร้อมที่จะสนองนโยบายของรัฐ ได้เริ่มศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี 2555 เพื่อสร้างองค์ความรู้และเตรียมความพร้อมรองรับธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า



           ปัจจุบัน ปตท. มี PTT EV Station ที่มีเครื่องชาร์จไฟที่ได้มาตรฐานยุโรป (IEC) และมาตรฐานญี่ปุ่น (CHAdeMO) ทั้งหมด 4 แห่ง ได้แก่

           อาคาร ปตท. สำนักงานใหญ่
           สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา
           สถานีบริการน้ำมัน ปตท. สาขาแหลมฉบังขาออก จ.ชลบุรี
           สถานีบริการน้ำมัน ปตท. สาขา The Crystal PTT ถ.ชัยพฤกษ์

           โดยมีแผนที่จะขยายเพิ่ม 2 สถานีภายในสิ้นปีนี้ และเพิ่มเป็น 20 สถานี ภายในปี 2560
 
           ปตท. จะเป็นผู้ก่อสร้างสถานีบริการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าตามแผนธุรกิจของ ปตท. และบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ทั้ง 6 ราย จะเป็นผู้ศึกษาและพัฒนารถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าตามแผนธุรกิจของ แต่ละบริษัทต่อไป ทั้งนี้ เพื่อสร้างการรับรู้และความมั่นใจสู่สาธารณะในการใช้ไฟฟ้าในรถยนต์



           และจากการแถลงข่าว และเผยวิสัยทัศน์ประจำปีแต่ละค่ายรถยนต์ก็เริ่มมุ่งไปรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดเป็นอันดับแรกอย่าง เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย เองก็เคยแจ้งว่ารถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดกำลังจะก้าวเข้ามาทำตลาดครบทุกเซ็กเมนต์

           ด้าน บีเอ็มดับเบิลยู ประเทศไทย, ปอร์เช่ ประเทศไทย โดยบริษัท เอเอเอส ออโต้ เซอร์วิส จำกัด และวอลโว่ คาร์ ประเทศไทย ทั้ง 3 ค่ายมีรถยนต์ประเภทปลั๊กอินไฮบริดจัดจำหน่าย

           ฝั่งนิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย เป็นรายเดียวที่มุ่งไปรถยนต์พลังไฟฟ้าเต็มรูปแบบอย่าง Nissan Leaf ที่ใช้ร่วมกิจกรรมและโชว์ตัวตามงานต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

           สุดท้ายคือ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย ที่น่าสนใจสุด เพราะปัจจุบันยังไม่มีรถยนต์ที่เกี่ยวเนื่องกับพลังไฟฟ้ามาโชว์ในประเทศไทย ซึ่งหลังจากเข้าร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือครั้งนี้ เราอาจได้เห็นรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดจากมิตซูบิชิในเร็ววันนี้

           ก่อนหน้านี้นายโมะริคาซุ ชกกิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย เคยให้ทัศนะวิสัยแก่สื่อมวลชนเรื่องรถยนต์ไฮบริดไว้ว่า เป็นรถที่ไม่ได้ช่วยประหยัดและรักษาสิ่งแวดล้อมจริง ไม่คุ้มค่าแก่การทำเพื่อจำหน่าย

           จากข้อมูลทั้งหมดทำให้เห็นทิศทางประเทศไทยที่เด่นชัดมาก ๆ เรื่องรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดว่ามีศักยภาพสูงสุดในการเข้ามาแทนที่รถยนต์สันดาปปรกติ



ทำไมประเทศไทยยังไม่เข้าสู่รถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ ?

           คำถามนี้ผู้อ่านหลายท่านคงสงสัย ซึ่งในช่วงผู้บริหารค่ายรถยนต์ตอบคำถามสื่อได้แจ้งถึงข้อจำกัดรถยนต์พลังไฟฟ้าล้วน (EV) ไว้ดังนี้

           - เทคโนโลยีแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ยังอยู่ในช่วงพัฒนาซึ่งเมื่อประจุแบตเต็มก็สามารถวิ่งได้เพียง 100-200 กม. แล้วแต่ขนาดของแบต

           - ประเทศไทยยังไม่มีองค์ความรู้ระดับสูงในการผลิตแบตเตอรี่เพื่อรถยนต์ ปัจจุบันรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดทั้งหมด ต้องนำเข้าอุปกรณ์ในส่วนของแบตฯ จากต่างประเทศ ทำให้มีราคาสูง

           - การกระจายพลังงานไฟฟ้าของประเทศยังไม่เพียงพอ จะเห็นได้จากต่างจังหวัดพื้นที่ไม่มีไฟฟ้าเข้าถึงอยู่อีกจำนวนมาก ประเทศไทยเองยังต้องนำเข้าพลังงานไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านร่วมด้วย

           - สถานีชาร์จไฟฟ้าแบบด่วน เพื่อเดินทางยังไม่คลอบคลุมพอ หรือหากชาร์จแบบธรรมดาจะใช้เวลาขั้นต่ำ 4 ชม. ขึ้นไป

           หากประเทศไทยจะเปลี่ยนเป็นรถยนต์พลังไฟฟ้าล้วน (EV) ให้ผลักดันเต็มที่ก็อาจใช้ระยะเวลาอย่างน้อยอีก 20 ปี ข้างหน้า แต่ ณ เวลานี้รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดจึงเหมาะสมที่สุดสำหรับก้าวต่อไปของยานยนต์เประเทศไทยครับ 

ภาพจาก pttplc.com
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไทยเดินหน้ารถยนต์พลังไฟฟ้าเมื่อ ปตท. จับมือค่ายรถยนต์ทำสถานีชาร์จเพียบ อัปเดตล่าสุด 5 สิงหาคม 2564 เวลา 16:08:13 9,376 อ่าน
TOP