เรียกคืน - Recall รถยนต์ มันคืออะไรนะ

การ Recall รถยนต์

ว่าด้วยการ Recall รถยนต์ (ยานยนต์)

          อันที่จริงเรื่องการ Recall รถหรือเรียกรถที่จำหน่ายไปแล้วกลับมาเปลี่ยนอะไหล่ บางชิ้นที่มีปัญหาหรืออาจจะเกิดปัญหาในการทำงานนั้นมีมานมนานมากแล้ว เพียงแต่สมัยก่อนข่าวสารยังไม่รวดเร็วแพร่หลาย ก็เลยไม่ค่อยจะรู้กัน แถมบางทีก็เป็นการแอบเปลี่ยนเงียบ ๆ ตอนที่รถกลับเข้ามาเซอร์วิสตามระยะทาง ต่างกับสมัยนี้ที่ข่าวสารรวดเร็ว ใครขยับตัวหน่อยเดียวก็รู้กันไปทั่วแล้ว มีทั้งเรื่องจริง เรื่องจริงผสมผสานกับเรื่องไม่จริง และเรื่องไม่จริงที่เกิดจาก "มโน" ล้วน ๆ เต็ม 100

          ผู้ผลิตรถยนต์จะเรียก Recall รถของตน กลับมาเปลี่ยนชิ้นส่วนที่คาดว่าอาจจะก่อให้เกิดปัญหาการ Recall นั้น หมายถึงการแจ้งลูกค้าให้นำรถเข้ามาตรวจสอบ แก้ไข หรือมีการเปลี่ยนอะไหล่ที่ผู้แทนจำหน่าย แต่ไม่ได้หมายถึงการเรียกรถคืนแต่อย่างใด เพราะเป็นไปไม่ได้ที่ขายแล้วจะมารับคืน

          ขนาดรับคืนฟรี ๆ ยังมีปัญหาให้ต้องคิดว่าจะเอารถมาเก็บไว้ที่ไหน ค่าพื้นที่ในการจอดการเก็บไม่ใช่เล็ก ๆ น้อย ๆ โดยทางบริษัทจะมีการส่งจดหมายเชิญลูกค้าในกลุ่มรถที่มีปัญหา เพื่อให้นำรถเข้ารับการแก้ไขที่ศูนย์บริการโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ ซึ่งถือว่าเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์

 รถดี ๆ ทำไม่เป็น หรืออย่างไร?

          เจ้าของรถจำนวนไม่น้อยที่เจอกับรถ Recall แล้วเกิดความวิตกกังวล อาจเกิดคำถามขึ้นมาว่าทำไมรถถึงมีปัญหาทำให้ต้อง Recall กันด้วย ก่อนจะทำรถออกมาขายทำไมไม่ตรวจสอบให้ดีก่อนหรือตอนทดสอบรถก่อนจะเข้าไลน์ผลิตนั้นไม่เคยเจอปัญหามาก่อนไง แล้วส่วนอื่นนอกเหนือจากการ Recall นี้จะวางใจได้หรือเปล่า

          ถ้าคนใช้รถรู้จักขั้นตอน และขบวนการผลิตรถจะไม่แปลกใจเลยว่าเหตุใดถึงต้องมีรายการ Recall รถกันด้วย บางทีถ้าไม่มีการ Recall กลับเป็นเรื่องแปลกกว่า...!!

          อันที่จริงเรื่องของการ Recall นี้เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์และเป็นกันทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นรถยี่ห้ออะไรล้วนแต่มีรายการ Recall กันถ้วนหน้า เพียงแต่มากบ้างน้อยบ้าง ซึ่งบางทีต้องเรียกรถกลับมากันเป็นล้าน ๆ คัน เมื่อใดก็ตามพอมีการทำรถออกมาขายสักรุ่น โอกาสที่จะผิดพลาดจากการผลิตชิ้นส่วน หรือเกิดจากการประกอบก็ย่อมมีด้วยกัน เพียงแต่จะมากหรือน้อยเท่านั้นเอง ทั้งนี้ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับการใส่ใจในเรื่องของคุณภาพ การประเมิน และการติดตามผล

          นับวันรถที่มีรายการ Recall จะเพิ่มจำนวนมากขึ้น ทั้งนี้ไม่ได้เป็นเพราะปัญหาในเรื่องคุณภาพของรถที่ด้อยลง แต่เป็นเพราะปริมาณรถที่ผลิตขึ้นมามีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เท่านั้นเอง จึงทำให้ดูเหมือนกับว่าตัวเลขการ Recall สูง แต่ถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของจำนวนการผลิตทั้งหมดจะพบว่ามีการลดลงทุกปี

          คุณภาพของรถที่มีจำหน่ายในปัจจุบัน ก็ยังคงวางใจได้ในเรื่องของคุณภาพ แม้จะมีการ Recall ให้ได้ยินกันเป็นระยะก็ตาม เพราะนั่นอาจหมายความถึงการติดตามและเอาใจใส่ของทางบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ก็ได้ ทำให้ตรวจพบรถที่มีปัญหาขึ้นมา และทางบริษัทได้แสดงความรับผิดชอบ โดยการ Recall รถที่คาดว่าอาจจะเกิดปัญหาให้เข้ามาแก้ไข

          อันที่จริงการ Recall รถนั้นไม่น่ากลัว เมื่อมีอะไรบกพร่องก็จัดการแก้ไขหรือแก้ปัญหานั้นเสีย กลัวแต่ทางบริษัทรถทำเฉยซะมากกว่า แบบนี้อันตรายกว่ากันเยอะเลย...

การ Recall รถยนต์

ปัจจัยที่ทำให้รถมีปัญหา

          ปัจจัยที่ทำให้รถมีปัญหาจนต้องมีการ Recall นั้นมีได้มากมายสารพัดเรื่องเลยทีเดียว แต่ถ้าพูดถึงสาเหตุหลักของการ Recall แล้ว ก็น่าจะมาจากปัญหาเรื่องควบคุมต้นทุนในการผลิต เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดได้

          สิ่งสำคัญประการหนึ่งในการผลิตรถยนต์ คือ เรื่องของต้นทุนในการผลิต ถ้ามีต้นทุนต่ำก็หมายความว่าสามารถทำราคาถูกกว่าคู่แข่งขันได้ หรือสามารถสร้างผลกำไรได้มากขึ้น การลดต้นทุนจึง นับเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการผลิต ดังจะเห็นได้ว่าเหล่าบรรดาบริษัทรถยนต์มักจะนิยมไปเปิดโรงงานผลิตตามประเทศต่าง ๆ ที่เห็นว่าใช้ต้นทุนในการผลิตต่ำกว่าการผลิตในประเทศของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแรงงานราคาถูก อัตราภาษีส่วนลด การยกเว้นภาษี และค่าใช้จ่ายในเรื่องของการควบคุมมลภาวะอันเกิดจากการผลิตด้วย

          ชิ้นส่วนประกอบรถก็เป็นต้นทุนที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง หากราคาส่วนประกอบต่ำก็พลอยทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำลงด้วย จึงมีการสรรหาชิ้นส่วนประกอบรถที่มีราคาต่ำ มีการประมูลหรือสู้กันในบริษัทที่ส่งชิ้นส่วนให้กับทางบริษัทรถยนต์ ซึ่งบางครั้งก็จำเป็นต้องลดคุณภาพลงมา ประเภทผ่านข้อกำหนดแต่ไม่ถึงกับโอเวอร์สเป็ค หรือบางทีหากเป็นชิ้นส่วนที่ชัวร์เรื่องคุณภาพและประสิทธิภาพเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ ราคาของชิ้นส่วนก็ 100 เปอร์เซ็นต์ เช่นกัน แต่ถ้าเป็นชิ้นส่วนที่มีคุณภาพ และประสิทธิภาพลดลงมาหน่อย เหลือเพียงแค่ 95 เปอร์เซ็นต์ ราคาของชิ้นส่วนจะลดลงมาเหลือแค่ 60-70 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ดังนั้นแน่นอน ว่าทางบริษัทรถย่อมเลือกของถูกเอาไว้ก่อน แล้วพวกชิ้นส่วนที่มีปัญหาอีก 5 เปอร์เซ็นต์ค่อยคุยกันทีหลัง

          ด้วยความรวดเร็วของข่าวสารและความเป็นไปในปัจจุบันทางบริษัทรถยนต์ก็ต้องมีความรวดเร็วตามไปด้วย ซึ่งทำให้เกิดปัญหาตามมาคือแบบรถเปลี่ยนกันเร็วมาก เป็นเหตุให้ต้นทุนในการผลิตแม่แบบแต่ละชิ้นก็พลอยสูงตามไปด้วย เพราะระยะเวลาในการใช้งานแม่แบบลดลง ดังนั้นแทนที่ทางบริษัทรถจะเอาเวลาไปทำ R&D กลับต้องมาวุ่นวายทุ่มเทให้กับการลดต้นทุนแทน ซึ่งบางครั้งเราจะพบว่ารถรุ่นใหม่มีหน้าตาไม่แตกต่างกับรถรุ่นเก่าซักเท่าไหร่เลย

          นอกจากนี้เมื่อรถมีการเปลี่ยนแบบเร็วขึ้น ระยะเวลาและขั้นตอนในการทดลองและทดสอบรถก็ย่อมสั้นลงเป็นธรรมดา ทำให้การทดสอบไม่สมบูรณ์หรือแน่นอนเท่าที่ควร ซึ่งอาจจะทำให้เกิดปัญหากับคุณภาพและประสิทธิภาพบางอย่างของรถได้

          อีกกรณีหนึ่งซึ่งหนีไม่พ้นเรื่องของต้นทุนในการผลิต ก็คือการใช้อะไหล่ร่วมกันให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นรถต่างยี่ห้อหรือยี่ห้อเดียวกันแต่ต่างรุ่น ซึ่งนิยมเรียกกันเล่น ๆ ว่า "สหกรณ์" ซึ่งเป็นแนวคิดที่ดี เพราะชิ้นส่วนชิ้นเดียวกันที่ผลิตออกมาจำนวนแสนชิ้น ถ้าสมารถผลิตออกมาได้เป็นจำนวนล้านชิ้นหรือหลาย ๆ ล้านชิ้น ค่าใช้จ่ายต่อชิ้นย่อมลดลงอย่างมากมาย เพียงแต่ว่ามันเกิดมีปัญหาในเรื่องของการใช้งานขึ้นมา เช่นชิ้นส่วนชิ้นนี้ใช้กับรถรุ่นหนึ่งซึ่งมีพลัง 150 แรงม้านั้นสามารถใช้งานได้ดีมีอายุการใช้งานยืนยาว

          แต่พอนำไปใช้กับรถอีกรุ่นที่มีกำลัง 200 แรงม้า หรือเป็นรถคันโตกว่ามีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้นอายุใช้งานอาจจะสั้นลงหรือสร้างปัญหากับการใช้งานได้ โดยเฉพาะการใช้ชิ้นส่วนร่วมกันแบบนี้ เมื่อผู้ประกอบได้รับชิ้นส่วนมาทดสอบการใช้งานในรถรุ่นหนึ่ง พบว่าสามารถใช้งานได้ดี แต่พอเอามาใช้กับรถอีกรุ่นก็ถือว่าผ่านการทดสอบและทดองใช้งานมาแล้ว จึงไม่ได้ทดสอบกันอย่างละเอียดจึงอาจเกิดปัญหาที่ไม่คาดคิดตามมาภายหลังได้ จึงเกิดมีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของผู้ผลิตชิ้นส่วนรถ

          โดยจะเลิกการใช้ชิ้นส่วนร่วมกันแล้ว คือชิ้นส่วนก็จะใช้เฉพาะในรถรุ่นนั้น ๆ ไปเลย ซึ่งก็ถือว่าน่าจะเป็นเรื่องดี เพราะการทดสอบก็จะทำได้ละเอียดมากขึ้น เพียงแต่งานนี้เกรงว่าจะทำให้บริษัทรถมีต้นทุนเพิ่มขึ้น และแน่นอนว่าความซวยก็จะมาเยือนผู้บริโภคอีกเช่นเคย เพราะทางบริษัทรถคงไม่แบกรับไว้เอง ต้องมาผ่อนถ่ายให้ทางผู้บริโภคควักกระเป๋าแทน

การ Recall รถยนต์

ความรับผิดชอบจากบริษัทรถ

          การ Recall รถนั้น นับว่ามีผลต่อความมั่นใจในการซื้อและใช้รถต่อผู้บริโภคมากพอสมควร ถึงแม้ตัวเลขจากการสำรวจคุณภาพของรถยนต์หลายค่ายยังคงดีอยู่ แต่พบว่าจิตใจของผู้บริโภค เมื่อได้รับข่าวการ Recall บ่อย ๆ ก็เริ่มโดนบั่นทอนลงไปบ้างแล้ว

          สำหรับเรื่องการ Recall รถในบ้านเราอาจจะไม่ค่อยได้รับความใส่ใจซักกี่มากน้อย ทั้งจากบริษัทรถคนใช้รถ หรือแม้แต่ทางราชการเองอาจเป็นเพราะดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องไกลตัว คนไม่โดนก็ไม่รู้สึกอะไร บ้านเราไม่มีการวิเคราะห์อุบัติเหตุ หรือให้ความสำคัญว่ารถที่เกิดอุบัติเหตุนั้นเป็นเพราะเหตุใด และส่วนหนึ่งยอดจำหน่ายรถในบ้านเรายังมีตัวเลขไม่สูงเท่าไหร่ ซึ่งเมื่อเทียบเป็นตัวเลข แล้วดูเหมือนจะไม่มาก ดังนั้นความสนใจหรือใส่ใจจึงมีน้อยตามไปด้วย

          ต่างกับในต่างประเทศหลาย ๆ ประเทศ การคุ้มครองผู้บริโภคมีความเข้มงวดและใส่ใจมากกว่าบ้านเราเยอะ ประชาชนพลเมืองก็รู้สิทธิ์ของตัวเองดี หากมีการฟ้องร้องขึ้นมา บริษัทผู้จำหน่ายอาจเจอถึงกับหมดเนื้อหมดตัวกันได้เลยทีเดียว ดังนั้นอะไรที่ป้องกันก่อนได้เค้าก็จะประพฤติ ไม่ได้เป็นลักษณะวัวหายแล้วล้อมคอก หรือวัวหายก็ปล่อยให้มันหายไปทั้งคอกแบบบ้านเรา

          คนบ้านเราอาจมองเห็นเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องธรรมดา แต่ในหลาย ๆ ประเทศไม่ใช่ โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับความปลอดภัยและความรับผิดชอบ ซึ่งไม่ใช่คนบ้านเราจะเฉยโดยไม่เข้าสิทธิ์ของตัว เพียงแต่รู้กันดีอยู่แล้วว่าคนบ้านเราไม่มีสิทธิ์มากกว่าคนขับรถตกทางซ่อมที่ไม่มีสัญญาณเตือนหรือสัญญาณไฟ คนเดินตกท่อที่ไม่มีฝาปิด ก็ไม่สามารถฟ้องร้องอะไรได้ อย่างมากก็ได้แค่บ่นว่าเป็นความซวยของตัวเอง หรือยามไปเจอเข้ากับรถคันที่มีปัญหาก็แค่บ่นว่าดวงซวยเท่านั้น

          ยกตัวอย่าง แบรนด์ XX โดนเรียกสอบในกรณีสวิทช์จุดระเบิด หรือ Ignition Switch โดยคณะกรรมการไต่สวนเรื่องความปลอดภัยและคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งงานนี้มีโอกาสสูงที่จะตกที่นั่งลำบากเมื่ออาจจะต้องเจอกับคดีอาญา เมื่อพบรายงานย้อนหลังว่ารถที่เคยเกิดอุบัติเหตุเมื่อปี 2006 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปกว่า 10 รายอาจจะเกี่ยวข้องกับกรณีความบกพร่องนี้ด้วย เนื่องจากเครื่องยนต์ดับเองขณะเร่งแซง

          ซึ่งหากทางต้นสังกัดโดนคดีอาญาจะถือว่าเป็นหนึ่งในคดีใหญ่ของวงการอุตสาหกรรมรถยนต์ เพราะก่อนหน้าจะมีคดีความมากมาย แต่ยังไม่มีค่ายรถยนต์ไหนจะมีผู้บริหารเจอคดีอาญามาก่อน นอกจากจะเป็นการชำระความทางแพ่ง อันเป็นเพราะครั้งนี้เค้าถือว่าบริษัทประดุจดั่งบุคคล หากบุคคลทำให้คนตายต้องโทษคดีอาญา ดังนั้น (ผู้บริหาร) บริษัทรถก็สมควรโดนด้วยเช่นกัน

          นี่ถ้าเป็นบ้านเราขนาดเจ้าองรถเอารถเข้าซ่อม ช่างศูนย์ยังไม่เชื่อว่ารถเสีย บอกว่าเจ้าของคิดไปเอง ดีไม่ดียังบอกประโยคอมตะให้ช้ำใจอีกว่า... "รถรุ่นนี้ก็เป็นแบบนี้แหละ"

การ Recall รถยนต์

ผลการ Recall กับผู้ผลิตชิ้นส่วน

          เป็นเรื่องผิดความคาดหมาย เมื่อคาดว่าผลจากการ Recall ทำให้เกิดผลเสียกับอุตสาหกรรมผู้ผลิตชิ้นส่วนในบ้าน เราที่จะไม่ยอมพัฒนาตัวเอง

          ทางสถาบันยานยนต์ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องของการ Recall ว่าอาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย เนื่องจากผู้ผลิตชิ้นส่วนจะไม่ยอมพัฒนาตัวเองขึ้นไปเป็น "ลำดับชั้นที่ 1" ทั้งนี้เพราะมีข้อตกลงจากทางโรงงานประกอบรถ ตั้งเป็นสัญญาขึ้นมาใหม่ว่า ถ้าเกิดมีการ Recall เกิดขึ้นมาจากชิ้นส่วนของ "ลำดับชั้นที่ 1" ทางบริษัทรถจะให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย แทนผู้ที่เป็นเจ้าของรถยี่ห้อนั้น ๆ คราวนี้สมมติว่ามีประตู 1 บานจะส่งไปยังโรงงานประกอบรถยนต์ ซึ่งประตูนี้จะเป็นผลงานซึ่งประกอบไปด้วย ลำดับชั้นที่ 2, 3, 4 โดยเริ่มตั้งแต่ชิ้นส่วน น็อต ไปจนรวมกันเป็นประตู

          ซึ่งผู้ที่ส่งชิ้นส่วนประตูรถไปให้ทางโรงงานประกอบเป็น ลำดับชั้นที่ 1 ซึ่งต้องเป็นผู้รับผิดชอบยามชิ้นส่วนมีปัญหา Recall ขึ้นมา ด้วยเหตุนี้เอง ทางโรงงานผลิตชิ้นส่วน ลำดับชั้นที่ 2, 3, 4 จึงไม่อยากพัฒนาตัวเองขึ้นมาเป็น ลำดับชั้นที่ 1 เพราะไม่อยากรับผิดชอบ อันจะเป็นผลให้ไม่เกิดการพัฒนาตลาดชิ้นส่วนในบ้านเราเท่าที่ควร

          งานนี้คิดว่าคงไม่เป็นปัญหาเท่าไหร่ เพราะคงจะมีการ "ไล่เบี้ย" เกิดขึ้น หากบริษัทรถให้ทาง ลำดับชั้นที่ 1 รับผิดชอบแทน ทางลำดับชั้นที่ 1 ก็สามารถให้ทางลำดับชั้นที่ 2, 3, 4 มาช่วยรับผิดชอบได้เหมือนกันแหละ






ขอขอบคุณข้อมูลจาก
หนังสือยานยนต์
ปีที่ 46 เล่มที่ 577 มิถุนายน 2557



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เรียกคืน - Recall รถยนต์ มันคืออะไรนะ อัปเดตล่าสุด 29 สิงหาคม 2557 เวลา 16:04:19 7,265 อ่าน
TOP
x close