5 สิ่งที่ต้องระวังกับการโอนลอย ป้องกันความเสี่ยงให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย

โอนลอยรถยนต์อาจสะดวกแต่แฝงด้วยความเสี่ยง และ 5 สิ่งที่คุณต้องระวังก่อนทำสัญญาโอนลอย ทั้งผู้ซื้อ-ผู้ขาย ป้องกันปัญหาโดนฟ้องหรือรับผิดชอบภายหลัง

โอนลอยรถยนต์

การ "โอนลอย" คือรูปแบบการซื้อ-ขายรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ที่ได้รับความนิยมในการรถมือสอง เนื่องจากสะดวกทั้งผู้ซื้อ-ผู้ขาย โดยผู้ขาย (หรือผู้ซื้อ) จะเตรียมและเซ็นเอกสารชุดโอนและมอบอำนาจให้ผู้ซื้อไปดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ที่กรมการขนส่งทางบกด้วยตนเอง ซึ่งทำให้ผู้ขายได้รับเงินทันที ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปโอน ผู้ซื้อสามารถนำรถกลับได้เลย

แต่ถึงแม้จะดูง่าย ประหยัดเวลา และทำการอย่างแพร่หลายกลายเป็นเรื่องปกติ แต่ความจริงแล้วการโอนลอยก็มี "ความเสี่ยง" ต่อผู้ซื้อและผู้ขายที่ต้องระวัง เพราะอาจนำไปสู่ปัญหาทางกฎหมายและภาระความรับผิดชอบที่ไม่คาดคิดได้ 

5 สิ่งที่คุณต้องระวัง
ในการโอนลอยรถยนต์/มอเตอร์ไซค์

เราจะมาเจาะลึก 5 สิ่งที่คุณต้องระวังในการโอนลอยรถยนต์ เพื่อช่วยให้การซื้อขายเป็นไปอย่างราบรื่นและปลอดภัยที่สุด

1. ภาระความรับผิดชอบยังตกอยู่กับเจ้าของเดิม

ตราบใดที่ยังไม่มีการโอนเสร็จสิ้นตามกฎหมาย ชื่อในเล่มทะเบียนรถก็ยังคงเป็นชื่อของผู้ขายอยู่ หากผู้ซื้อนำรถไปก่อเหตุหรือกระทำความผิด เจ้าของรถตามทะเบียนจะต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์นั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็น

  • ใบสั่งจราจรและค่าปรับ ซึ่งอาจต้องเสียเวลาไปชี้แจงกับเจ้าหน้าที่

  • การก่ออาชญากรรม เช่น ชนแล้วหนี ขนยาเสพติด หรือปล้นจี้ ตำรวจจะติดตามตัวจากข้อมูลเจ้าของรถตามทะเบียน

  • ไม่ยอมต่อภาษีประจำปี เจ้าของรถเดิมก็ยังต้องรับผิดชอบค่าปรับที่เกิดขึ้น

2. เสี่ยงต่อการถูกฉ้อโกงสำหรับผู้ซื้อ

ทางด้านผู้ซื้อการใช้วิธีโอนลอยก็มีความเสี่ยง ถ้าไม่ได้ตรวจสอบประวัติรถได้อย่างละเอียดก่อนการโอน เช่น รถถูกโขมยมา รถดัดแปลง หรือนำเข้าอย่างไม่ถูกต้อง เช่น

  • ผู้ขายบางรายอาจใช้เอกสารปลอมในการทำธุรกรรม ทำให้ไม่สามารถโอนรถได้

  • รถติดไฟแนนซ์ที่ผู้ขายยังผ่อนไม่หมด คุณอาจถูกยึดรถคืน

  • โอนไม่ได้เนื่องจากรถมีปัญหา เช่น เลขเครื่อง เลขตัวถัง ไม่ตรง นำเข้าอย่างไม่ถูกต้อง 

3. เอกสารไม่ครบถ้วนหรือกรอกข้อมูลไม่สมบูรณ์

แม้การโอนลอยจะสะดวกทั้งสองฝ่าย แต่หากเอกสารไม่ครบถ้วนหรือไม่สมบูรณ์ ก็ไม่สามารถโอนได้  โดยเฉพาะเอกสารสำคัญ เช่น "แบบคำขอโอนและรับโอน" รวมถึง "หนังสือมอบอำนาจ" ต้องมีลายเซ็นครบถ้วน เล่มทะเบียนต้องมีลายเซ็นเจ้าของรถ หากขาดไปหรือผิดพลาด ก็ไม่สามารถโอนได้และต้องเสียเวลาตามหาผู้ขายเพื่อแก้ไขเอกสาร

4. มีปัญหากับการต่อทะเบียน ต่อ พ.ร.บ. และอื่น ๆ

หากตกลงซื้อ-ขายด้วยการโอนลอย ถ้าผู้ซื้อซื้อไปแล้วไม่ไปโอนกรรมสิทธิ์และไม่ต่อทะเบียน ตามกฎหมายถือว่าผู้ที่ยังมีชื่อในเล่มทะเบียนจะต้องรับผิดชอบ แม้จะไม่เกิดขึ้นบ่อยแต่อาจเกิดขึ้นได้ หรือแม้กระทั่งผู้ซื้อไม่โอน ไม่ต่อทะเบียนจนทะเบียนขาดเกินกำหนด 3 ปี เช่น กรณีรถพังแล้วไม่ซ่อม เลิกใช้งาน ทางกรมการขนส่งจะแจ้งให้เจ้าของรถคืนทะเบียนพร้อมชำระภาษีรวมถึงค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ทั้งหมด หรือในทางกลับกันถ้าผู้ซื้อปล่อยทะเบียนขาดเกิน 3 ปี และติดต่อเจ้าของเดิมไม่ได้ ก็ไม่สามารถจดทะเบียนใหม่ได้ เช่นกัน 

โอนลอยรถยนต์

5. หมดอายุการโอนกรรมสิทธิ์

ตามกฎหมายการโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 15 วัน นับจากวันที่มีการซื้อ-ขาย หากเกินกำหนดจะมีการปรับ แต่ในกรณีการโอนลอยส่วนมากมักมีการเซ็นเอกสารไว้ก่อนโดยยังไม่ได้กรอกชื่อผู้รับโอน แต่หากบัตรประชาชนผู้ขายหมดอายุ จะทำให้ผู้ซื้อต้องกลับไปตามหาผู้ขายเพื่อขอเอกสารใหม่อีกครั้ง

จริงอยู่ว่าการโอนลอยเป็นทางเลือกที่สะดวกและบางครั้งเราไม่มีโอกาสเลือกได้มากนักเนื่องจากการโอนลักษณะนี้ทำกันโดยทั่วไป แต่ต้องเข้าใจว่ามีความเสี่ยงสูงกว่าการโอนกรรมสิทธิ์ ณ กรมการขนส่งฯ พร้อมกันทั้งผู้ซื้อและผู้ขายเสมอ ดังนั้น การนัดหมายไปดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ที่กรมการขนส่งทางบกด้วยกันทั้งสองฝ่าย เพื่อให้การซื้อขายเสร็จสิ้นสมบูรณ์ในครั้งเดียวและไม่มีภาระผูกพันใด ๆ เหลืออยู่จึงเป็นการโอนที่ดีที่สุด

การโอนรถเปลี่ยนเจ้าของต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง

  1. ใบคู่มือจดทะเบียนรถ

  2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน กรณีเป็นนิติบุคคลใช้หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของกรรมการผุ้มีอำนาจลงนาม

  3. สัญญาซื้อขายหรือใบเสร็จรับเงินหรือใบกำกับภาษี

  4. สำเนาใบมรณะบัตรเจ้าของรถ และคำสั่งศาลหรือพินัยกรรมพร้อมสำเนา (กรณีโอนรับมรดก)

  5. แบบคำขอโอนและรับโอน กรอกรายการและลงลายมือชื่อผู้โอนและผู้รับโอนเรียนร้อยแล้ว

  6. หนังสือมอบอำนาจพร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนผู้รับมอบ กรณีผู้โอน และ/หรือผู้รับโอนมิได้มาดำเนินการด้วยตัวเอง

การโอนรถมีขั้นตอนอย่างไร

  1. นำรถเข้ารับการตรวจสอบ ที่งานตรวจสภาพรถยนต์ (ยกเว้นกรณีโอนปิดบัญชีจากผู้ให้เช่าซื้อไปยังผู้เช่าซื้อ ซึ่งเป็นผู้ครอบครองรถตามรายการจดทะเบียน ไม่ต้องตรวจสอบรถ)

  2. ยื่นเรื่องโอนกรรมสิทธิ์และชำระค่าธรรมเนียม ที่งานทะเบียนรถ

  3. รับใบคู่มือจดทะเบียนรถคืน

  4. รับใบเสร็จ ใบคู่มือจดทะเบียนรถ เครื่องหมายการเสียภาษี และแผ่นป้ายทะเบียนรถ

อย่างไรก็ตาม หากมีความจำเป็นต้องใช้วิธีโอนลอยจริง ๆ ควรทำ สัญญาซื้อขายรถยนต์ ที่ระบุรายละเอียดชัดเจน พร้อมเก็บสำเนาเอกสารสำคัญทั้งหมดไว้เป็นหลักฐานเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจตามมาในอนาคต

บทความที่เกี่ยวข้องกับเรื่องน่ารู้รถยนต์

ขอบคุณข้อมูลจาก : dlt.go.th

เรื่องน่าสนใจอื่นๆ
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
5 สิ่งที่ต้องระวังกับการโอนลอย ป้องกันความเสี่ยงให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย อัปเดตล่าสุด 1 กรกฎาคม 2568 เวลา 21:51:08
TOP
x close