x close

รู้จักกับหมวกกันน็อก ไอเทมประจำตัวของเหล่านักบิด แต่ละแบบแตกต่างกันอย่างไร ?

ทำความรู้จักกับ หมวกกันน็อก อุปกรณ์เสริมความปลอดภัยสำหรับผู้ขับขี่รถ มอเตอร์ไซค์ พาไปดูกันว่าหมวกกันน็อกมีกี่แบบ หมวกกันน็อกเต็มใบ และหมวกกันน็อกครึ่งใบ รวมถึงหมวกกันน็อกแบบอื่น ๆ มีอะไรบ้าง แตกต่างกันอย่างไร

หมวกกันน็อก

มอเตอร์ไซค์ นับเป็นพาหนะที่ได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศไทย ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องสำคัญที่ผู้ขับขี่ควรคำนึงถึงก็คือสิ่งที่ช่วยในเรื่องของความปลอดภัยอย่าง หมวกกันน็อก ไอเทมที่นอกจากจะช่วยป้องกันอันตรายต่อร่างกายและชีวิตแล้ว ยังเป็นอุปกรณ์ที่กฎหมายกำหนดให้ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ต้องสวมใส่ทุกครั้งด้วย

ทั้งนี้ หมวกกันน็อก ไม่ใช่เพียงแค่อุปกรณ์ที่ช่วยเซฟร่างกายของผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์เท่ากัน แต่ยังเป็นไอเทมที่ช่วยเสริมลุค สร้างความมั่นใจ และมีดีไซน์รูปแบบต่าง ๆ มากมาย ซึ่งหมวกกันน็อกแต่ละแบบแต่ละประเภทก็ย่อมมีลักษณะการใช้งานแตกต่างกัน

หมวกกันน็อกมีกี่แบบ

หมวกกันน็อกที่ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์สวมใส่กันอยู่ทุกวันนี้ แบ่งตามมาตรฐานสากลได้เป็น 6 ประเภทหลัก ๆ ดังนี้

1. หมวกกันน็อกแบบเต็มใบ (Full Face)

หมวกกันน็อก

หมวกกันน็อกแบบเต็มใบ เป็นหมวกกันน็อกที่ออกแบบมาให้รับกับกะโหลกศีรษะของมนุษย์ ปกป้องครอบคลุมตั้งแต่ท้ายทอยไปจนถึงปลายคาง

หมวกกันน็อกแบบนี้ จะมีช่องเจาะบริเวณตา และจมูกเพื่อให้มองเห็น และหายใจได้สะดวก ปิดด้วยกระจกบังลม ซึ่งอาจมีสีที่แตกต่างกันออกไป แต่กฎหมายไทยระบุว่ากระจกบังลมต้องใสพอจะมองเห็นใบหน้าผู้ขับขี่ได้ ไม่เช่นนั้นก็อาจโดนปรับเช่นกัน

นอกจากนี้ หมวกกันน็อกชนิดเต็มใบหน้ายังมีผลการวิจัยชี้ว่าสามารถปกป้องผู้ขับขี่ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากผู้เสียชีวิตจากรถจักรยานยนต์มักบาดเจ็บที่บริเวณคางมากถึง 35 เปอร์เซ็นต์

2. หมวกกันน็อกแบบโมดูลา (Modular)

หมวกกันน็อก

หมวกกันน็อกแบบโมดูลา เป็นหมวกกันน็อกรูปร่างแบบเดียวกับแบบเต็มใบ แต่สามารถพับส่วนคางขึ้นมาได้ พัฒนามาจากแบบเต็มใบซึ่งไม่มีที่ปิดคาง

โดยหมวกชนิดนี้ได้รับความนิยมมากในหมู่ตำรวจในต่างประเทศ เพราะสามารถเปิดบริเวณปากเพื่อพูดคุยหรือแม้กระทั่งกินอาหารได้ทันทีโดยไม่ต้องถอดหมวก และยังให้การปกป้องบริเวณคางเช่นเดียวกับแบบเต็มหน้าอีกด้วย

แต่อย่างไรก็ตามหมวกชนิดนี้ยังมีมาตรฐาน 2 แบบได้แก่ –P ซึ่งแปลว่าออกแบบให้ปกป้องบริเวณคาง กับ –NP แปลว่าไม่ได้ออกแบบเพื่อรองรับบริเวณคางนั่นเอง

3. หมวกกันน็อกแบบเปิดหน้า (Open face)

หมวกกันน็อก

ในต่างประเทศเรียกหมวกชนิดนี้ว่าแบบ 3/4 ซึ่งก็เรียกตามรูปร่างของมันคือครอบคลุมหัวเพียง 3 ใน 4 เท่านั้น แต่ก็เป็นหมวกที่ได้รับความนิยมมากที่สุด แม้ว่าจะไม่สามารถปกป้องได้ทั้งใบหน้า และไม่มีการป้องกันบริเวณคางก็ตาม

หมวกชนิดนี้ จะมีกระจกบังลมครอบ ซึ่งช่วยป้องกันฝุ่น และแมลงที่อาจรบกวนการขับขี่ของเราได้

4. หมวกกันน็อกแบบครึ่งใบ (Half face)

หมวกกันน็อก

หมวกกันน็อกแบบครึ่งใบมีลักษณะครอบเพียงด้านบนของหัวเท่านั้น ซึ่งเป็นส่วนที่หน่วยงานมาตรฐานทั้ง SNELL และ DOT กำหนดเป็นขั้นต่ำสุดสำหรับผ่านมาตรฐาน

โดยหมวกชนิดนี้ได้รับความนิยมช่วงยุค 1960 ปัจจุบันหลายหน่วยงานในต่างประเทศยกเลิกมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับหมวกชนิดนี้แล้ว เนื่องจากไม่สามารถปกป้องส่วนท้ายทอยซึ่งมีความสำคัญได้

5. หมวกกันน็อกแบบออฟโรด, มอเตอร์ครอส (Off-road, Dirt, Motocross)

หมวกกันน็อก

หมวกกันน็อกชนิดนี้ดัดแปลงมาจากแบบเต็มหน้าเพื่อใช้ขี่มอเตอร์ไซค์วิบากโดยเฉพาะ มีความปลอดภัยเช่นเดียวกับแบบเต็มหน้า

โดยเพิ่มส่วนบังแดด และยืดบริเวณที่ปิดคางออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน เพื่อป้องกันโคลนที่ปลิวมาขณะขับขี่ แต่ได้ถอดกระจกบังลมออกเพื่อให้อากาศผ่านได้สะดวก ซึ่งผู้ขับขี่ส่วนใหญ่จะเลือกสวมแว่นตาครอบเพื่อป้องกันโคลนที่ปลิวเข้ามาด้วย

6. หมวกกันน็อกแบบกึ่งวิบาก (Dual-sport)

หมวกกันน็อก

หมวกกันน็อกชนิดนี้จะมีความคล้ายคลึงกับแบบออฟโรด แต่จะมีการติดกระจกบังลมเข้าไปเหมือนกับหมวกกันน็อคเต็มใบแทน

ซึ่งหมวกกันน็อกแบบกึ่งวิบากนี้จะนิยมใช้งานกับผู้ขี่ในระยะทางไกลกับรถสไตล์ Touring Adventure

หมวกกันน็อก

ทั้งหมดก็คือรูปแบบมาตรฐาน ของหมวกกันน็อกประเภทต่าง ๆ โดยแต่ละแบบ แต่ละประเภทล้วนมีจุดเด่นในการใช้งานที่แตกต่างกัน ซึ่งผู้ขับขี่สามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสม และรูปทรงที่ชอบได้ตามต้องการ

แต่สิ่งที่สำคัญสำหรับการเลือกใช้หมวกกันน็อกก็คือ ต้องใช้หมวกกันน็อกที่มีมาตรฐานได้รับรองจาก มอก. เลือกหมวกให้พอดีกับศีรษะ ไม่หนักจนเกินไป ถอดมาทำความสะอาดได้ และไม่ใช้หมวกใบเดิมหลังจากกระแทกหรือเกิดอุบัติเหตุแล้ว เพียงเท่านี้เราก็จะได้หมวกกันน็อกสุดเท่ที่ทั้งถูกใจ และปลอดภัยต่อการขับขี่อีกด้วย

ขอบคุณข้อมูลจาก motorcyclelegalfoundation.com
motorcycleid.com

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รู้จักกับหมวกกันน็อก ไอเทมประจำตัวของเหล่านักบิด แต่ละแบบแตกต่างกันอย่างไร ? อัปเดตล่าสุด 6 มิถุนายน 2566 เวลา 15:08:44 17,505 อ่าน
TOP