ค่าออกเทนคืออะไร สำคัญแค่ไหน ทำไมต้องมีหลายค่า และถ้าหากเติมสลับกันจะเกิดผลเสียกับรถยนต์หรือไม่ หากใครยังไม่รู้เรามีคำตอบ

ถึงจะเป็นรถยนต์เครื่องยนต์เบนซินเหมือนกัน แต่รถแต่ละรุ่นก็ต้องการน้ำมันเบนซินที่มีค่าออกเทนต่างกัน โดยสังเกตได้จากคู่มือติดรถ หรือป้ายด้านในของฝาถังน้ำมัน เพื่อให้ผู้ใช้รถทราบว่าควรต้องเติมน้ำมันแบบใด แต่จริง ๆ แล้วค่าออกเทน คืออะไร สำคัญขนาดไหน ทำไมต้องแยกค่าออกเทนมากมาย ไม่ว่าจะเป็น 91 95 หรือ 97 หากจำเป็นต้องเติมสลับกันจะมีผลเสียไหม หากใครสงสัยไปหาคำตอบกัน
ค่าออกเทนคืออะไร
ค่าออกเทนของน้ำมันเบนซินจะถูกระบุเป็นตัวเลข เอาไว้บอกถึงความสามารถในการต้านทานต่อการจุดระเบิด ยิ่งค่าออกเทนสูง น้ำมันจะถูกจุดระเบิดได้ยากขึ้น หากค่าออกเทนต่ำ น้ำมันจะถูกจุดระเบิดได้ง่ายกว่า ซึ่งเครื่องยนต์แต่ละแบบต้องการค่าออกเทนต่างกัน
เครื่องยนต์ที่กำลังอัดสูงจะต้องการน้ำมันเบนซินที่จุดติดยาก เพราะจะได้ไม่ชิงจุดระเบิดได้ก่อนที่ลูกสูบเคลื่อนตัวไปถึงจุดบนสุดของกระบอกสูบ (ศูนย์ตายบน) อันเป็นตำแหน่งที่เหมาะสมต่อการจุดระเบิด
หากน้ำมันเบนซินมีค่าออกเทนต่ำกว่าที่เครื่องยนต์ต้องการจะชิงจุดระเบิดจากแรงอัดก่อนที่ลูกสูบเคลื่อนไปถึงตำแหน่งศูนย์ตายบน ทำให้เกิดอาการที่เรียกว่าเครื่องน็อก หรือจุดระเบิดผิดจังหวะ ส่งผลให้เครื่องยนต์ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ กำลังลด เผาไหม้ไม่สะอาด
แต่ถ้าในกรณีที่ใช้น้ำมันมีค่าออกเทนสูงเกินกว่าที่เครื่องยนต์ต้องการจะไม่มีผลต่อการจุดระเบิด แค่สิ้นเปลืองกว่า เนื่องจากน้ำมันที่มีค่าออกเทนสูงนั้นแพงกว่าน้ำมันค่าออกเทนต่ำ
น้ำมันแต่ละชนิดมีค่าออกเทนเท่าไหร่
ปกติแล้วน้ำมันเบนซินที่จำหน่ายทั่วไปส่วนใหญ่จะมีตัวเลขกำกับต่อท้ายเพื่อบอกค่าออกเทน ยกเว้นน้ำมันบางประเภท เช่น E20 E85 โดยแต่ละประเภทจะมีค่าออกเทน ดังนี้
-
แก๊สโซฮอล์ 91 ค่าออกเทน 91
-
แก๊สโซฮอล์ 95 ค่าออกเทน 95
-
แก๊สโซฮอล์ 97 ค่าออกเทน 97
-
แก๊สโซฮอล์ E20 ค่าออกเทน 95
-
แก๊สโซฮอล์ E85 ค่าออกเทน 95
-
เบนซิน 95 ค่าออกเทน 95
น้ำมันดีเซลมีค่าออกเทนไหม
น้ำมันดีเซลใช้ค่าตัวเลขซีเทน (Cetane Number) เพื่อบอกค่าคุณภาพของน้ำมันดีเซล ยิ่งค่าซีเทนมากก็จะทำให้จุดระเบิดได้ง่ายขึ้น ส่วนเหตุผลที่น้ำมันดีเซลไม่มีการระบุค่าซีเทนเหมือนค่าออกเทนในน้ำมันเบนซิน เพราะค่าซีเทนถูกกำหนดไว้ตามมาตรฐานขั้นต่ำอยู่แล้ว (ห้ามต่ำกว่า 50) ดังนั้น น้ำมันแต่ละยี่ห้อหากมีค่าซีเทนไม่เท่ากันก็ไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อการทำงานของเครื่องยนต์แบบน้ำมันเบนซิน
บทความที่เกี่ยวข้องกับเรื่องน่ารู้รถยนต์
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมธุรกิจพลังงาน