น้ำเข้ารถยนต์เกิดจากอะไร ทั้งที่ไม่ได้ลุยน้ำลึก จุดไหนเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อย ควรรีบตรวจสอบและแก้ไขก่อนปัญหาจะบานปลายได้มากกว่าที่คิด
ถึงรถยนต์จะไม่ใช่เรือ ไม่สามารถกันน้ำได้ 100% แต่ในการขับขี่ใช้งานปกติไม่ควรมีน้ำเข้ารถยนต์จนเล็ดลอดจากภายนอกเข้ามาสู่ภายในห้องโดยสาร ต่อให้จอดรถตากฝน ขับรถฝ่าฝน หรือผ่านจุดที่มีน้ำท่วมขังไม่เกินขอบประตู แต่ถ้าพบว่ามีน้ำเข้ารถควรรีบตรวจสอบบริเวณที่พบว่าน้ำเข้ารถ ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุเหล่านี้เป็นอันดับต้น ๆ
1. ยางขอบประตู ยางกรอบกระจกรอบคัน
เมื่อรถอายุมากขึ้น ยางกรอบกระจกบังลม ยางขอบประตู และยางกรอบหน้าต่างรถ จะเสื่อมสภาพตามการใช้งานได้ แต่ในรถที่ตากแดด ตากฝน รวมถึงรถที่ไม่ได้ใช้งาน ยางต่าง ๆ เหล่านี้มีโอกาสเสียหายได้เร็วกว่า ทำให้มีน้ำรั่วซึมเข้ามาในห้องโดยสาร หากเป็นรถแบบ Frameless หรือไร้กรอบกระจก อาจพบปัญหานี้ได้มากขึ้น ทั้งจากตัวยางหรือตัวกระจกที่หลวมคลอน ยกขึ้นไม่แนบสนิทกับขอบยาง
2. ยางกรอบไฟท้าย
หากพบว่าท้ายรถมีน้ำขังในช่องเก็บยางอะไหล่ พรมท้ายรถเหม็นอับ มีราขึ้น มีความเป็นไปได้ว่ามีน้ำไหลเข้าไปจากจุดใดจุดหนึ่งของท้ายรถ ซึ่งรถที่มีอายุมากอาจเกิดจากยางขอบไฟท้ายเสื่อมสภาพ ทำให้เวลาล้างรถ ฉีดน้ำแรง ๆ รวมถึงเมื่อฝนตกหนัก น้ำอาจไหลเข้าไปด้านในท้ายรถโดยที่ไม่สามารถสังเกตจุดรั่วซึมได้
3. แผ่นกรองอากาศภายในห้องโดยสาร
ตัวแผ่นกรองห้องโดยสารของรถบางรุ่นอาจอยู่ในห้องเครื่องยนต์และมีฝาปิดรวมถึงซีลป้องกันไม่ให้น้ำเข้าไปในห้องโดยสาร หากการซีลนี้เสื่อมสภาพ หรือติดตั้งไม่เหมาะสม น้ำอาจรั่วซึมผ่านเข้าไปยังระบบระบายอากาศในรถได้
4. ตู้แอร์
บางครั้งช่องระบายน้ำของตู้แอร์ตันก็เป็นสาเหตุที่ทำให้มีน้ำอยู่ในรถได้ เมื่อน้ำตู้แอร์ที่เกิดจากการควบแน่นไม่สามารถระบายตามท่อออกไปใต้ท้องรถได้ก็จะล้นออกมาบนพรมบริเวณที่วางขาด้านหน้ารถ
5. ซันรูฟและมูนรูฟ
ซันรูฟรวมถึงมูนรูฟเป็นสาเหตุหนึ่งที่มีโอกาสทำให้น้ำซึมเข้ามาในห้องโดยสาร โดยเฉพาะในกรณีรถที่มีอายุมาก ขอบยางเสื่อมสภาพหรือปิดได้ไม่สนิท น้ำอาจรั่วไหลเข้าภายในรถของคุณได้ จุดที่รั่วมักจะอยู่บริเวณรอบ ๆ ซันรูฟ
อย่างไรก็ตาม อาจมีสาเหตุอื่นที่ทำให้น้ำซึมเข้ามาในรถได้มากเช่นกัน คือ รถที่เกิดอุบัติเหตุและได้รับการซ่อมแซมมาไม่ดี หรือใส่อุปกรณ์ต่าง ๆ ไม่เข้าที่ เช่น กระจกบังลมหน้า จุกยางกันน้ำบนพื้นรถ เป็นต้น ปัญหาเหล่านี้ทำให้น้ำเข้ารถได้ด้วยเช่นกัน
บทความที่เกี่ยวข้องกับเรื่องน่ารู้รถยนต์
ขอบคุณข้อมูลจาก : ridetime.ca และ cars.com