รถพวงมาลัยล็อก คืออะไร สามารถเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ หากขับรถอยู่แล้วไม่สามารถควบคุมพวงมาลัยรถได้ มีวิธีแก้ไขอย่างไร มาหาคำตอบกัน
จากกรณีอุบัติเหตุสลดของครอบครัวหนึ่งที่ขับรถชนขอบทางด่วนบางพลี-สุขสวัสดิ์ จนทำให้ลูกชายวัย 6 ขวบ ที่โดยสารอยู่เบาะหลัง กระเด็นทะลุกระจกรถตกลงมาเสียชีวิตด้านล่าง โดยคนขับซึ่งเป็นพ่ออ้างว่าสาเหตุเกิดจากพวงมาลัยล็อกจนไม่สามารถควบคุมทิศทางรถได้นั้น (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ : แม่กอดศพลูก 6 ขวบทั้งน้ำตา ขับรถบนทางด่วนพุ่งชนขอบทางร่วงดับ อ้างพวงมาลัยล็อก)
จากเหตุการณ์นี้ทำให้ผู้ขับขี่รถยนต์ต่างเกิดความกังวล และสงสัยว่าอาการพวงมาลัยล็อก สามารถเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ หากเกิดขึ้นแล้วจะมีวิธีแก้ไขสถานการณ์อย่างไรบ้าง หรือในความเป็นจริงแทบไม่มีโอกาสเกิดขึ้นเลย วันนี้เราจะพาไปหาคำตอบ
พวงมาลัยรถยนต์ คืออะไร
หากจะพูดถึงกลไกการทำงานของรถยนต์ หลายคนอาจนึกถึงเครื่องยนต์และระบบไฟฟ้าต่าง ๆ แต่อีกส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กันนั่นก็คือ ระบบบังคับเลี้ยว หรือพวงมาลัย ปัจจุบันด้วยความทันสมัยและความก้าวหน้าทางยานยนต์ ระบบบังคับเลี้ยวหรือพวงมาลัยถูกปรับปรุงพัฒนาให้มีการควบคุมได้ง่ายขึ้นด้วยระบบผ่อนแรง หรือที่เราเรียกกันว่าพวงมาลัยพาวเวอร์ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่ พวงมาลัยเพาเวอร์แบบไฮดรอลิก และ พวงมาลัยเพาเวอร์แบบไฟฟ้า
- พวงมาลัยเพาเวอร์แบบไฮดรอลิก จะประกอบการทำงานด้วยชุดปั๊ม น้ำมัน และระบบไฮดรอลิก คอยทำหน้าที่ช่วยผ่อนแรงของคนขับในการหมุนหรือเลี้ยวพวงมาลัย โดยจะมีลักษณะที่เบา หมุนได้ง่าย ไม่ต้องออกแรงเยอะ
- พวงมาลัยเพาเวอร์แบบไฟฟ้า ประกอบด้วยชุดมอเตอร์ไฟฟ้าแทนระบบไฮดรอลิก เข้ามาทำหน้าที่ช่วยผ่อนแรงในการเลี้ยว หมุนพวงมาลัย โดยมีเซ็นเซอร์คอยตรวจจับและปรับระดับน้ำหนักของพวงมาลัยให้เหมาะสมกับความเร็วที่เราใช้
รถพวงมาลัยล็อก คืออะไร
รถพวงมาลัยล็อกหลายคนอาจจะนึกถึงตอนที่จอดรถดับเครื่องและดึงกุญแจออก ซึ่งนั่นเป็นระบบความปลอดภัยของตัวรถ ถือเป็นการทำงานของระบบล็อกที่ถูกต้อง แต่ถ้าจู่ ๆ ขณะที่เราขับรถอยู่พวงมาลัยจะสามารถล็อกได้ไหม ในทางข้อมูลวิศวกรรมยานยนต์นั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากมาก เพราะต่อให้ขณะขับแล้วเกิดเครื่องยนต์ดับ พวงมาลัยจะยังสามารถใช้บังคับทิศทางของรถได้อยู่ เพียงแต่จะรู้สึกหนักขึ้น หมุนได้ยากกว่าเดิม เนื่องจากระบบไฮดรอลิก หรือมอเตอร์ไฟฟ้า ที่ช่วยผ่อนแรงจะหยุดการทำงาน
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าอาการพวงมาลัยล็อกจะไม่มีทางเกิดขึ้นเลย เพียงแต่ว่าโอกาสที่จะเกิดนั้นค่อนข้างน้อยมาก สำหรับสาเหตุที่อาจจะนำไปสู่อาการพวงมาลัยล็อกนั้นมีปัจจัยหลายอย่างด้วยกัน อาทิ
-
แร็คพวงมาลัยชำรุด
แร็คพวงมาลัย คือ ชิ้นส่วนอุปกรณ์บังคับเลี้ยวที่ติดตั้งเชื่อมต่อกับระบบกันสะเทือนเสื่อมสภาพหรือชำรุด แต่ส่วนใหญ่จะมีอาการนำมาก่อน เช่น เลี้ยวลำบากขึ้น หรือมีเสียงดังเวลาเลี้ยว คนขับหรือเจ้าของจึงมักแก้ไขซ่อมแซมได้ทันก่อนจะเกิดปัญหาที่ร้ายแรง แต่ถ้าแร็คพวงมาลัยเกิดชำรุดขณะขับ พวงมาลัยก็ยังสามารถควบคุมรถได้อยู่เพียงแต่จะหนักขึ้นเท่านั้น
-
แร็คพวงมาลัยรั่ว หรือปั๊มไฮดรอลิกเสีย
ในรถยนต์พวงมาลัยเพาเวอร์แบบไฮดรอลิก จะมีส่วนประกอบของปั๊มน้ำมันไฮดรอลิกทำหน้าที่สร้างแรงดันเพื่อช่วยผ่อนแรงของพวงมาลัย หากแร็คหรือปั๊มรั่วจะทำให้แรงดันตก พวงมาลัยจะมีน้ำหนักมากขึ้น บังคับรถได้ยาก แต่ก็ยังสามารถควบคุมรถได้เช่นกัน
-
อุปกรณ์อื่น ๆ เกี่ยวกับระบบบังคับเลี้ยวชำรุด หรือทำงานผิดปกติ
หากเกิดเหตุสุดวิสัย หรือเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น แกนพวงมาลัย แร็คพวงมาลัย หรือชิ้นส่วนอื่น ๆ เกิดชำรุด แตกหัก เสียหายจริง ๆ ขณะขับขี่ การบังคับ ควบคุมรถ ก็ยังจะสามารถทำได้อยู่เช่นเดียวกับกรณีอื่น ๆ
วิธีแก้ไขเมื่อพวงมาลัย หรือระบบบังคับเลี้ยวมีปัญหาขณะขับขี่
ใครที่กำลังขับรถแล้วพวงมาลัยมีอาการหนัก หมุน หรือเลี้ยวได้ยาก อย่าเพิ่งตกใจ ให้ตั้งสติ พยายามแตะเบรกลดความเร็ว จับพวงมาลัยให้มั่นคงและพยายามออกแรงให้มากกว่าเดิม นำรถเข้าจอดข้างทางหรือพื้นที่ปลอดภัย
วิธีป้องกันพวงมาลัย หรือระบบบังคับเลี้ยวมีปัญหาขณะขับขี่
คนขับควรตรวจสอบและสังเกตพวงมาลัย ระบบบังคับเลี้ยว ทุกครั้งที่ขับรถ หากมีอาการพวงมาลัยหนัก เลี้ยวยาก เบื้องต้นให้ตรวจสอบปริมาณลมยางว่าอาจจะเติมลมอ่อนเกินไป หรือถ้าขณะเลี้ยวแล้วมีเสียงดัง ควรนำรถเข้าตรวจสอบที่ศูนย์บริการ หรืออู่ซ่อมรถทันที เพราะอาจมีชิ้นส่วนบางอย่างแตก หัก หรือชำรุดนั่นเอง
ทั้งนี้ จากอุบัติเหตุสลดที่เกิดขึ้นแม้จะยังไม่มีการพิสูจน์อย่างแน่ชัดว่าเกิดจากสาเหตุใด แต่ก็ทำให้เราได้ตระหนักว่า คาร์ซีตสำหรับเด็ก หรือการคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งที่โดยสารรถยนต์ เป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะอย่างน้อยก็จะช่วยลดโอกาสเกิดความสูญเสียได้
บทความที่เกี่ยวข้องกับเรื่องพวงมาลัยรถยนต์
ขอบคุณข้อมูลจาก : motorbiscuit.com, jdpower.com