กระจกหน้ารถร้าว ขับต่อได้ไหม เคลมประกันได้หรือเปล่า

กระจกหน้ารถร้าวเกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง และถ้าเกิดรอยร้าวเพียงเล็กน้อยยังไม่เปลี่ยนกระจกบานใหม่ได้ไหม สามารถขับรถต่อไปหรือเคลมประกันได้หรือเปล่า

กระจกหน้ารถร้าว

อยู่ดี ๆ กระจกหน้ารถร้าวเฉย ! เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้บ่อยจากหลายสาเหตุ และหลายคนก็คงเคยผ่านประสบการณ์นี้มาครั้งแล้วครั้งเล่า ครั้นจะเพิกเฉยทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นก็ไม่ได้ เนื่องจากกระจกหน้ารถเป็นส่วนสำคัญสำหรับรถยนต์ เพราะคงยากที่จะขับรถโดยไร้กระจกบังลมกั้นเดินทางไปไหนต่อไหนบนถนนในชีวิตประจำวัน จึงนำมาซึ่งคำถามที่ว่ากระจกหน้ารถร้าวเกิดจากอะไร ร้าวแล้วขับต่อไปได้ไหม รวมถึงเคลมประกันรถยนต์ได้หรือเปล่า ซึ่งเรามีคำตอบมาให้แล้ว

กระจกหน้ารถร้าว เกิดจากอะไร

1. ถนนลูกรัง

เพราะเศษกรวด เศษหิน บนถนนลูกรังและกรวด สามารถกระเด็นขึ้นมาและปะทะกับกระจกหน้ารถของคุณขณะขับตามรถคันหน้าจนร้าวได้ ดังนั้นเมื่อต้องขับรถบนถนนลูกรัง ถนนกรวด ตามรถคันอื่น ควรเว้นระยะห่างเพื่อความปลอดภัย หรือหลีกเลี่ยงการขับบนถนนในลักษณะนี้หากเป็นไปได้

2. กระจกหน้ารถที่ไม่ได้คุณภาพ

หากกระจกหน้ารถของคุณเป็นกระจกคุณภาพต่ำ ไม่ได้มาตรฐาน เช่น อาจถูกเปลี่ยนมาก่อนและไม่ใช่สเปกโรงงาน แค่เพียงเจอแรงกด แรงกระแทก หรือการบิดตัวของรถเพียงเล็กน้อย อาจทำให้กระจกแตกร้าวได้เลย ดังนั้นในการเปลี่ยนกระจกรถยนต์ต้องเช็กให้แน่ใจว่ากระจกนั้นมีคุณภาพและมาตรฐานการผลิตสูงพอ

3. การติดตั้งกระจกหน้ารถที่ไม่ได้มาตรฐาน

หากกระจกหน้ารถไม่ได้รับการติดตั้งอย่างถูกต้องเหมาะสม หรือไม่เข้ากับโครงสร้างของรถ (ไม่ตรงรุ่น) กระจกบังลมอาจหลวมและเป็นเรื่องอันตรายร้ายแรง เพราะขณะขับด้วยความเร็วจะทำให้เกิดการสั่นหรือบิดตัวของโครงสร้าง อันส่งผลให้กระจกรถร้าวหรือแตกได้เอง

4. ขับรถตามหลังรถบรรทุก

การขับรถตามหลังรถบรรทุกโดยเฉพาะรถบรรทุกเศษหิน ดิน ทราย อาจมีสิ่งสกปรก เศษหิน เศษดิน รวมถึงวัสดุอื่น ๆ ติดอยู่ ซึ่งสามารถร่วงหล่น กระเด็น มาใส่กระจกหน้ารถอันบางใสของเราได้ ทางที่ดีควรรักษาระยะห่างเมื่อขับตามหลังรถบรรทุกเหล่านี้ หรือเปลี่ยนเลนหลบ หรือไม่ก็แซงไปเลยจะดีกว่า

กระจกหน้ารถร้าว

5. จากอุบัติเหตุ

อุบัติเหตุในที่นี้หมายถึงการที่กระจกหน้ารถโดนกระแทกจากวัสดุจากบริเวณที่จอดรถ เช่น การจอดรถในบริเวณเด็กเล่นฟุตบอล หรือเสี่ยงต่อการมีเศษวัสดุจากกิจกรรมอื่น ๆ ปลิวมากระแทกกับกระจกหน้ารถโดยเราไม่ทราบ กรณีนี้การจอดรถที่ในปลอดภัยจะลดความเสี่ยงลงไปได้เยอะ

6. การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิอย่างรวดเร็ว

การที่อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากร้อนไปเย็น อาจทำให้กระจกหน้ารถร้าวหรือแตกได้ เหมือนแก้วที่ร้อนจัดแล้วนำไปใส่น้ำเย็น แม้โอกาสเกิดขึ้นจะไม่ได้บ่อยแต่ก็ควรต้องระมัดระวัง เช่น หากรถจอดตากแดดจนร้อนจัด ควรรอให้อุณหภูมิลดลงก่อนจะล้างรถด้วยน้ำเย็น

7. แสงแดด

ความร้อนจากแสงแดดจัดสามารถทำให้ขอบด้านนอกของกระจกรถยนต์ขยายตัวได้เร็วกว่าศูนย์กลางของแผ่นกระจก และมีโอกาสแตกร้าวได้เอง หากเป็นไปได้ควรจอดรถหลบแดดหรือไม่โดนแดดตรง ๆ จะดีกว่า ซึ่งดีกับชิ้นส่วนอื่น ๆ ทั้งสีหรือวัสดุภายในรถด้วย

8. ลูกเห็บตก

ถือเป็นเหตุการณ์ทางธรรมชาติที่อาจไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะเมื่อขับรถด้วยความเร็ว ลูกเห็บก็ไม่ต่างอะไรจากเศษกรวด เศษหิน ที่ทำให้กระจกหน้ารถร้าวได้ หากพบปรากฏการณ์เช่นนี้ ควรลดความเร็วและขับอย่างระมัดระวังจะปลอดภัยกว่า

9. การจอดรถใต้ต้นไม้

แม้จะปลอดภัยจากแสงแดดและความร้อน แต่การจอดรถใต้ต้นไม้นั้นอาจเสี่ยงต่อการถูกกิ่งไม้ ลูกไม้ ตกลงมากระแทกกระจกหน้ารถจนแตกร้าวได้เช่นกัน

กระจกหน้ารถร้าวขับต่อได้ไหม

กระจกหน้ารถร้าวควรขับต่อหรือไม่ คงต้องขึ้นอยู่กับความเสียหายที่เกิดขึ้นว่ามากน้อยเพียงใด หากเสียหายมากก็ไม่ควรฝืนขับต่อเพราะมีโอกาสที่จะแตกและเศษกระจกเข้าตาได้ แม้กระจกหน้ารถมักจะเป็นแบบ 2 ชั้น (Laminated Glass) ซึ่งมีฟิล์มอยู่ตรงกลางคอยยึดเศษกระจกที่แตกก็ตามที

ส่วนกรณีที่กระจกหน้ารถมีรอยร้าวเพียงเล็กน้อยก็ยังพอสามารถขับต่อไปได้ แต่มีโอกาสที่รอยร้าวจะขยายตัวมากขึ้นขณะขับ ควรนำรถเข้าซ่อมแซมหรือเปลี่ยนกระจกบานใหม่โดยเร็วที่สุดจะดีกว่า

กระจกหน้ารถร้าวเคลมประกันได้หรือไม่

หากรถยนต์มีประกันชั้น 1 คุ้มครอง และมีวัตถุกระเด็นหรือตกใส่จนกระจกหน้ารถร้าวหรือแตกซึ่งกระทบต่อความปลอดภัยในการขับรถ สามารถเคลมประกันได้โดยไม่ต้องเสียค่า Excess แต่จะมีการบันทึกประวัติการเคลมเท่านั้น

ดังนั้น เมื่อกระจกหน้ารถร้าวไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใด จอดอยู่เฉย ๆ หรือโดนวัตถุตกหรือกระเด็นใส่ ควรรีบนำรถไปซ่อมแซม (ซึ่งบางกรณีสามารถทำได้) หรือเปลี่ยนกระจกบานใหม่โดยเร็ว เพื่อความปลอดภัยขณะขับรถจะดีที่สุด

ขอบคุณข้อมูลจาก : glassusa.com, clearestglass.com และ windshieldexperts.com
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กระจกหน้ารถร้าว ขับต่อได้ไหม เคลมประกันได้หรือเปล่า อัปเดตล่าสุด 9 พฤษภาคม 2565 เวลา 09:48:14 39,126 อ่าน
TOP
x close