อัปเดต เมาแล้วขับ ล่าสุด ปี 2568 ทั้งรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ มีบทลงโทษอย่างไรบ้าง เสียค่าปรับกี่บาท

อุบัติเหตุจากรถยนต์และมอเตอร์ไซค์บนท้องถนน นอกจากความประมาทแล้ว อีกสาเหตุหนึ่งที่จัดอยู่ในลำดับต้น ๆ คือ เมาแล้วขับ เพราะการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ล้วนส่งผลต่อความสามารถในการขับขี่หรือควบคุมยานพาหนะ อาจสร้างความเสียหายแก่ชีวิต ทรัพย์สิน ทั้งของตนเองและของผู้อื่น จึงต้องมีการกำหนดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดและบทลงโทษไว้อย่างชัดเจน
คดีเมาแล้วขับเป็นคดีอะไร
ตามกฎหมาย การขับขี่ยานพาหนะในขณะที่มึนเมาถือเป็นความผิดทางอาญา โดยบทลงโทษแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด พฤติกรรม และระดับความเสียหาย
กรณีทั่วไป (ไม่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ)
-
ทำผิดครั้งแรก จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่
-
ทำผิดซ้ำภายใน 2 ปี จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่
กรณีทำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ
-
จำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท
-
พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่
กรณีทำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บสาหัส
-
จำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 6 ปี และปรับตั้งแต่ 40,000-120,000 บาท
-
พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่
กรณีทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต
-
จำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 60,000-200,000 บาท
-
เพิกถอนใบอนุญาตขับขี่
ระดับแอลกอฮอล์ไม่เกินเท่าไหร่ห้ามขับรถ
ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่กฎหมายกำหนดคือไม่เกิน 0.05% สำหรับผู้ที่มีใบอนุญาตขับขี่เกิน 5 ปี และไม่เกิน 0.02% สำหรับผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปี หรือมีใบอนุญาตขับขี่ชั่วคราว

เมาแล้วขับ เมื่อเกิดอุบัติเหตุประกันจ่ายไหม
ประกันภัยที่คุ้มครองอุบัติเหตุทางรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่ ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (พ.ร.บ.) กับประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ โดยรายละเอียดต่างกัน ดังนี้
- ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ
ประกันภัยภาคบังคับจะให้ความคุ้มครองเงินค่ารักษาพยาบาลกรณีที่บาดเจ็บหรือค่าปลงศพกรณีเสียชีวิตแก่ทั้งสองฝ่ายทันที ส่วนความเสียหายในส่วนของทรัพย์สินต่าง ๆ ไม่อยู่ในความคุ้มครอง
- ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ
หากมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดไม่เกิน 50 มิลลิกรัม จะให้ความคุ้มครองทั้งตัวของผู้เอาประกันภัยและคู่กรณี แต่ถ้ามีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่า 50 มิลลิกรัม ประกันภัยจะให้ความคุ้มครองแก่ผู้เสียหายหรือคู่กรณีเท่านั้น โดยจะไม่คุ้มครองผู้เอาประกันภัย
อย่างไรก็ตาม หากดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ เพื่อความปลอดภัยของตนเองและผู้อื่น หากจำเป็นต้องเดินทาง ควรใช้บริการขนส่งสาธารณะหรือให้ผู้อื่นที่ไม่ได้ดื่มเป็นผู้ขับขี่แทนจะดีที่สุด