ไขข้อข้องใจ แบตเตอรี่รถยนต์ ใช้งานได้กี่ปี พร้อมวิธีสังเกตอาการแบตเตอรี่รถยนต์หมดง่าย ๆ มีสัญญานอะไรที่บ่งบอกเราได้บ้าง ไปหาคำตอบกันเลย
แบตเตอรี่รถยนต์ คืออุปกรณ์ที่มีความสำคัญสำหรับรถยนต์ ทำหน้าที่ตั้งแต่ในการสตาร์ตเครื่องยนต์ และคอยจ่ายกระแสไฟฟ้าให้อุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในรถ ซึ่งผู้ใช้รถต้องคอยดูแลและบำรุงรักษาเป็นประจำ เพราะแบตเตอรี่รถยนต์นั้นมีอายุการใช้งาน และจะใช้ได้ยาวนานเท่าไหร่ยังแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งาน รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ด้วย ดังนั้นการศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของแบตเตอรี่ ย่อมช่วยให้เจ้าของรถและผู้ขับขี่ทุกคน สามารถใช้งานรถยนต์ รวมถึงดูแลรักษาในส่วนต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง โดยไม่กลายเป็นปัญหาสร้างความเสียหายโดยที่ไม่จำเป็น
แบตเตอรี่รถยนต์ใช้ได้กี่ปี
หากจะถามว่าแบตเตอรี่รถยนต์จะใช้งานได้นานแค่ไหนนั้น คงเป็นเรื่องยากที่จะบอกคำตอบที่ชัดเจนออกไป เพราะปัจจัยที่ส่งผลต่ออายุการใช้งานของแบตเตอรี่นั้นมีมากมายหลายส่วนด้วยกันแม้เราจะบำรุงดูแลรักษาเป็นประจำ เนื่องจากมีบางกรณีที่ไม่สามารถควบคุมได้อย่างสภาพอากาศและอุณหภูมิ ทว่าโดยเฉลี่ยแล้วแบตเตอรี่จะมีอายุการใช้งานอย่างน้อย 2 ปีขึ้นไป จนมากที่สุดได้ถึง 5 ปี
สิ่งที่มีผลต่ออายุการใช้งานของแบตเตอรี่
-
สภาพอากาศ และอุณหภูมิ
แบตเตอรี่รถยนต์ส่วนใหญ่จะมีโอกาสเสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติในสภาพอากาศที่หนาวจัดหรือร้อนจัด และยิ่งถ้าต้องจอดรถในสภาพแวดล้อมดังกล่าวเป็นเวลานานก็ส่งผลให้แบตฯ เสื่อมสภาพเร็วได้ เพราะที่แผ่นตะกั่วอาจจะเกิดตะกอนทำให้มีการกักเก็บไฟได้ไม่ดีนั่นเอง
-
ความผิดปกติของระบบชาร์จไฟ หรือการดัดแปลงไดชาร์จ
หากไดชาร์จเกิดการเสื่อมสภาพ มีการปล่อยกระแสไฟฟ้าที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยไปยังแบตเตอรี่ ทำให้มีโอกาสที่ไฟในแบตเตอรี่จะรั่วไหลและไม่สามารถเก็บไฟได้แม้ในขณะที่สตาร์ตเครื่องยนต์ นอกจากนี้หากมีการดัดแปลงไดชาร์จให้ชาร์จกระแสไฟได้เร็วยิ่งขึ้นจะทำให้มีกระแสไฟไหลเข้าสู่แบตเตอรี่มากกว่าปกติ ส่วนใหญ่พบได้ในรถที่ดัดแปลงเครื่องเสียง
-
การต่อขั้วแบตฯ ไม่ดี
ในส่วนของการติดตั้งแบตเตอรี่นั้นหากมีการต่อขั้วแบตฯ ไม่ดี หลวม หรือบริเวณขั้วต่อมีสนิม ก็อาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การไหลของกระแสไฟและระบบการชาร์จไฟกลับเข้ายังแบตเตอรี่นั้นทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ส่งผลให้แบตฯ เสื่อมเร็วนั่นเอง
-
การใช้งาน เปิดไฟหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในรถทิ้งไว้
หลักปฏิบัติโดยทั่วไปก็คือผู้ใช้รถควรตรวจสอบไฟภายในห้องโดยสารหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าอื่น ๆ ในรถทุกครั้งก่อนลงจากรถ เพราะอาจทำให้แบตเตอรี่ต้องจ่ายไฟจนหมด ส่งผลให้รถสตาร์ตไม่ติด และเป็นสาเหตุของการเสื่อมสภาพของแบตเตอรี่ได้
อาการแบตเตอรี่รถยนต์เสื่อม ดูยังไง
1. เครื่องยนต์สตาร์ตติดยากหรือสตาร์ตไม่ติด - การสตาร์ตรถยนต์นั้นจะใช้ไฟจากแบตเตอรี่มากที่สุด และหากเครื่องยนต์มีการหมุนช้าลงและสตาร์ตติดได้ยาก สาเหตุหนึ่งก็มาจากการที่แบตเตอรี่เริ่มเก็บประจุไฟไม่อยู่ และจ่ายไฟได้น้อยลง กับอีกกรณีหากทำการสตาร์ทเครื่องยนต์แล้วมีเสียงการหมุนของเครื่องยนต์แต่รถก็ยังสตาร์ตไม่ติด ปัญหานี้มักเกิดจากกำลังไฟในแบตเตอรี่ไม่พอแล้วนั่นเอง
2. ไฟหน้าสว่างน้อยลง - ทุกครั้งที่ต้องขับรถในเวลากลางคืนแล้วต้องเปิดไฟหน้า ให้ลองสังเกตดูว่าแสงไฟมีความสว่างลดลงไม่สว่างเหมือนก่อน ก็สันนิษฐานได้ว่าแบตเตอรี่กำลังมีปัญหา
3. ได้กลิ่นเหม็นผิดปกติ - หากแบตเตอรี่มีกลิ่นเหม็นเหมือนไข่เน่านั่นเป็นสัญญาณบอกอย่างหนึ่งว่าแบตเตอรี่กำลังรั่วและเกิดการชำรุด หากยังฝืนใช้งานต่ออาจเป็นอันตรายและสร้างความเสียหายหรือกัดกร่อนส่วนประกอบอื่น ๆ ในรถของคุณได้ ควรเปลี่ยนแบตเตอรี่ในทันที
4. ต้องพ่วงแบตเตอรี่อยู่เป็นประจำ - สาเหตุนี้ไม่ได้แยกว่าจะต้องเป็นรถใหม่หรือรถเก่าเพราะสามารถพบเจอได้ทั้งหมด เนื่องจากการลืมปิดไฟหน้ารถหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าบางอย่างทำให้แบตฯ หมด จึงจำเป็นต้องใช้วิธีการพ่วงแบตฯ เป็นประจำ แต่การพ่วงแบตฯ บ่อย ๆ นั้นไม่ใช่เรื่องดีแต่อย่างใด อาจทำให้แบตฯ เสื่อมเร็วกว่าปกติได้
5. ความผิดปกติของแบตเตอรี่ - ปัญหาของแบตเตอรี่หมดไวหรือเสื่อมนอกจากเกิดจากการใช้งานของเราแล้ว ยังเกิดได้จากคุณภาพและมาตรฐานการผลิตของแบตเตอรี่นั้น ๆ ได้ เช่น แบตเตอรี่มีอุณหภูมิที่สูง, แบตเตอรี่มีการสะสมความเป็นกรด และแบตเตอรี่บวม
6. สัญลักษณ์บนแบตเตอรี่เปลี่ยนไป - ปัจจุบันผู้ผลิตแบตเตอรี่จะทำช่องไว้สำหรับสังเกตแบตเตอรี่ว่ายังอยู่ในระดับการใช้งานปกติหรือไม่ โดยจะมีแถบให้เปรียบเทียบสัญลักษณ์อยู่บนแบตฯ ซึ่งเราสามารถสังเกตและตรวจสอบได้ด้วยตัวเอง
ทั้งนี้ คงต้องย้ำอีกครั้งว่า ผู้ใช้รถควรหมั่นตรวจสอบสังเกตการทำงานของแบตเตอรี่อยู่เสมอ รวมถึงต้องตรวจเช็กอุปกรณ์อื่น ๆ ว่ายังทำงานได้ดี เพื่อเป็นการยืดอายุการใช้งานให้ยาวนานมากยิ่งขึ้น ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้งานแบตเตอรี่ที่เสื่อมสภาพ
ขอบคุณข้อมูลจาก autotrader.ca, thedrive.com, paautoinspection.com