เปิดสาเหตุ ไฟไหม้รถ เรื่องที่เจ้าของรถทุกคันไม่อยากเจอ พร้อมวิธีป้องกันและรับมือเมื่อต้องเผชิญกับเหตุการณ์ไม่คาดคิด !
ทุกวันนี้การขับขี่รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ หรือยานพาหนะอื่น ๆ ล้วนต้องใช้ความระมัดระวังเพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ เพราะนอกจากความเสียหายที่เกิดแก่ทรัพย์สินแล้ว หากรุนแรงอาจทำให้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต และยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่แม้เราจะระมัดระวังมากเพียงใดแต่ก็อาจเกิดขึ้นได้เช่นกัน นั่นก็คือ ไฟไหม้รถ ซึ่งวันนี้เราจะพาไปดูสาเหตุ วิธีป้องกัน และวิธีรับมือเกี่ยวกับเรื่องนี้กัน
รถยนต์ไฟไหม้ เกิดจากสาเหตุใด ?
1. ระบบเชื้อเพลิงรั่ว
สถิติส่วนใหญ่พบว่าการรั่วไหลของเชื้อเพลิงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้รถไฟไหม้ ซึ่งหากมีการรั่วไหลของเชื้อเพลิง และประกายไฟใด ๆ ก็อาจส่งผลให้เกิดเปลวไฟ โดยไม่จำเป็นต้องผ่านประกายไฟจากบุหรี่ก็เพียงพอที่จะทำให้เกิดไฟไหม้ได้
โดยการตรวจสอบเบื้องต้น หากได้กลิ่นน้ำมันเชื้อเพลิงจากรถยนต์ขณะขับรถให้รีบหาที่จอดในที่ปลอดภัย และออกไปจากรถในระยะที่ปลอดภัย รวมถึงเมื่อได้กลิ่นน้ำมันจากตัวรถอย่างผิดสังเกตในขณะที่รถจอดอยู่ ก็ควรรีบปรึกษาช่างผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจสอบ
2. ระบบไฟฟ้าขัดข้อง
ระบบไฟฟ้าที่ผิดปกติและการเดินสายไฟที่ไม่เหมาะสม เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดไฟไหม้รถยนต์ สายแบตเตอรี่และสตาร์ทเตอร์มีกระแสไฟเพียงพอที่จะจุดติดไฟได้ในกรณีที่เกิดความผิดพลาด แม้แต่หลอดไฟที่ชำรุดก็สามารถเป็นแหล่งกำเนิดประกายไฟได้
เมื่อเวลาผ่านไปนาน ๆ สายเคเบิลอาจหลุดลอก และอาจทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร รวมถึงตัวอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบไฟอื่น ๆ ก็มีโอกาสเสื่อมสภาพได้เช่นกัน เราควรหมั่นตรวจสอบและบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงไม่ควรดัดแปลงระบบไฟฟ้าเอง
3. เครื่องยนต์ร้อนจัด
หากเครื่องยนต์รถของคุณร้อนเกินไปอาจส่งผลให้ของเหลวเพิ่มขึ้นถึงอุณหภูมิที่เป็นอันตราย และทะลักเข้าสู่เครื่องยนต์หรือระบบไอเสีย รวมถึงน้ำหล่อเย็นที่ร้อนจัดเกินไปสามารถติดไฟได้อย่างรวดเร็ว
4. การบำรุงรักษาที่ไม่เหมาะสม
การตรวจเช็กสภาพรถตามกำหนดเวลามีความสำคัญมาก เหตุผลที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการบำรุงรักษารถยนต์เน้นเรื่องนี้กันมาก เพราะหากคุณไม่นำรถไปตรวจเช็กสภาพตามระยะก็อาจเกิดปัญหากับรถของคุณได้ แม้แต่การที่ของเหลวรั่วไหลเพียงเล็กน้อยก็อาจนำไปสู่ปัญหาที่ใหญ่กว่าและอาจทำให้เกิดไฟไหม้
5. ขวดน้ำพลาสติก
การทิ้งขวดน้ำไว้ในรถอาจฟังดูไม่อันตราย แต่อย่าประมาท เพราะการทิ้งขวดน้ำพลาสติกไว้ในรถที่ร้อนจัดในบริเวณที่แสงแดดส่องได้องศา และส่องกระทบโดยตรงถึงขวดน้ำ ก็จะกลายเป็นแว่นขยายรวมแสงไปจุดเดียว และหากไปตกกับวัตถุที่ติดไฟก็อาจทำให้เกิดไฟไหม้ได้ภายในไม่กี่นาที
6. ของอันตรายอื่น ๆ
ยังมีของอันตรายอื่น ๆ อีกที่อาจทำให้รถยนต์เกิดไฟไหม้ได้ เช่น การสูบบุหรี่ภายในรถ, ไฟแช็ก, ของที่มีประจุแบตเตอรี่อย่างพาวเวอร์แบงก์ โทรศัพท์มือถือ บุหรี่ไฟฟ้า สายชาร์จอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่ได้มาตรฐาน และสเปรย์กระป๋อง
รถไฟไหม้ มีวิธีป้องกันอย่างไร ?
สำหรับวิธีป้องกันรถไฟไหม้ในเบื้องต้นนั้น สิ่งที่เจ้าของรถสามารถทำได้มีดังนี้
-
ตรวจเช็กน้ำในหม้อน้ำให้อยู่ในระดับที่พอดี ไม่ต่ำจนเกินไป
-
ตรวจสอบท่อ สายยาง หรือสายไฟต่าง ๆ ภายในห้องเครื่องรถยนต์ ว่าอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ไม่มีร่องรอยการฉีก หรือขาด หากพบให้ทำการแก้ไขในทันที
-
ตรวจสอบบริเวณใต้ท้องรถว่ามีร่องรอยการหยดของน้ำมันเชื้อเพลิงหรือไม่ หากพบให้นำรถเข้าศูนย์บริการหรืออู่ซ่อมรถเพื่อทำการแก้ไข
-
หากเป็นรถติดแก๊สให้หมั่นตรวจสอบข้อต่อ ท่อ วาล์วต่าง ๆ ว่าอยู่ในสภาพที่ดี หรือนำรถเข้าตรวจสภาพกับศูนย์บริการหรืออู่ซ่อมรถเป็นประจำ
-
พกถังดับเพลิงขนาดเล็กหรืออุปกรณ์ป้องกันเหตุเพลิงไหม้ไว้ในรถยนต์
-
ทำประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองกรณีรถยนต์ไฟไหม้เพื่อความอุ่นใจ
รถไฟไหม้ ประกันคุ้มครองหรือไม่ ?
กรณีรถยนต์ไฟไหม้ ประกันภัยรถยนต์จะให้ความคุ้มครองเช่นเดียวกับกรณีอื่น ๆ แต่่ความคุ้มครองนี้จะมีเฉพาะประกันภัยรถยนต์ชั้น 1, ชั้น 2 และชั้น 2+ หรือขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทประกันภัยนั้น ๆ ส่วนประกันภัยรถยนต์ชั้น 3 และ 3+ จะไม่ให้ความคุ้มครอง ในส่วนของความเสียหายนั้นจะแบ่งออกเป็น 2 กรณี ได้แก่
- กรณีเสียหายบางส่วน
หากความเสียหายจากไฟไหม้รถที่ไม่รุนแรงมาก สามารถซ่อมแซมให้รถยนต์กลับมาใช้งานในสภาพเดิมได้ บริษัทประกันนั้น ๆ จะซ่อมแซมรถให้กลับมาอยู่ในสภาพเดิม หรือรับเงินชดเชยความเสียหาย (ขึ้นอยู่กับรายละเอียดที่ระบุในกรมธรรม์นั้น ๆ)
- กรณีเสียหายโดยสิ้นเชิง
หากความเสียหายจากไฟไหม้รถนั้นเกินกว่า 70% หรือไม่สามารถซ่อมแซมให้กลับมาอยู่ในสภาพเดิมได้ บริษัทประกันจะคืนทุนประกันภัยเต็มจำนวน หรือ 100% ตามทุนประกันที่มีอยู่ (เงินทุนประกันขึ้นอยู่กับประเภทของประกันหรือรายละเอียดที่ระบุในกรมธรรม์นั้น ๆ)
รถไฟไหม้ ต้องทำอย่างไร ?
สำหรับสัญญาณเตือน หรือสิ่งที่บ่งบอกว่าอาจจะเกิดไฟไหม้รถได้ ส่วนใหญ่จะมีกลิ่นไหม้ กลิ่นน้ำมันเชื้อเพลิง เข้ามาในห้องโดยสาร หรือมีกลุ่มควันบริเวณฝากระโปรงหน้ารถ หากเกิดขณะขับขี่ให้นำรถจอดข้างทางในจุดที่ปลอดภัย ดับเครื่องยนต์ หากเป็นรถที่ติดตั้งระบบก๊าซ ให้ปิดสวิตช์เพื่อตัดการทำงานของระบบก๊าซ
จากนั้นให้รีบลงจากรถแล้วสังเกตจุดที่เกิดประกายไฟ หากพบว่ามีไฟลุกเพียงเล็กน้อยให้ควบคุมเพลิงด้วยตนเองในเบื้องต้น โดยใช้ถังดับเพลิงเคมีฉีดพ่นบริเวณต้นเพลิงให้ดับสนิท ใช้น้ำเปล่าหรือผ้าชุบน้ำโปะบริเวณที่เกิดเพลิงไหม้ แต่หากไม่สามารถควบคุมได้ให้รีบถอยห่างจากตัวรถและโทร. แจ้งหมายเลขฉุกเฉิน เช่น 191, 199 หรือ 1784
ขอบคุณข้อมูลจาก : gulfnews.com, kelnerlaw.com, disaster.go.th