วิธีแก้ง่วงตอนขับรถ ป้องกันอาการหลับในขณะขับขี่

วิธีแก้ง่วงตอนขับรถ ด้วย 7 เคล็ดลับที่ช่วยให้กระฉับกระเฉง หลีกเลี่ยงอาการหลับในโดยเฉพาะเมื่อต้องขับขี่ระยะไกล ให้ปลอดภัยตื่นตัวตลอดเส้นทาง

ขับรถแล้วเกิดอาการง่วง หรือถึงขั้นเผลอหลับใน เป็นอาการที่ผู้ขับขี่ส่วนใหญ่น่าจะเคยเป็นหากพักผ่อนไม่เพียงพอ โดยเฉพาะเมื่อต้องเดินทางไกลยาว ๆ ช่วงเทศกาลที่มีการเดินทางพร้อมกันเป็นจำนวนมากและต่างเร่งรีบไปให้ถึงจุดหมาย ดังนั้น เพื่อให้การเดินทางปลอดภัย เป็นไปอย่างราบรื่น เราจึงได้รวบรวม 7 วิธีแก้ง่วงขณะขับรถ ลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการหลับในให้ผู้ขับขี่ได้ลองนำไปใช้กัน

วิธีแก้ง่วงตอนขับรถ ป้องกันหลับในขณะเดินทาง

1. พักผ่อนให้เพียงพอก่อนเดินทาง

วิธีแก้ง่วงตอนขับรถให้ตรงจุดที่สุดคงหนีไม่พ้น การนอนหลับพักผ่อนให้เต็มอิ่มอย่างน้อย 7-8 ชั่วโมง ก่อนจะเดินทาง ซึ่งช่วยให้ร่างกายสดชื่นกระปรี้กระเปร่า สมองทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ และมีสมาธิในการขับรถมากยิ่งขึ้น โดยผู้ขับขี่ที่นอนน้อยกว่า 5 ชั่วโมงต่อวัน ไม่ว่าจะด้วยกังวล หรือมีเวลาจำกัดแล้วต้องขับขี่ทางไกลนั้น มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอาการหลับในมากกว่าปกติหลายเท่า

2. ปรับตารางนอนล่วงหน้าให้เหมาะสม

ในบางครั้งการนอนพักผ่อนก่อนเดินทาง 7-8 ชั่วโมง ก็อาจไม่เพียงพอสำหรับบางคน ที่มีพฤติกรรมนอนดึก หรือนอนน้อยติดต่อกันเป็นประจำ ซึ่งมีโอกาสเกิดอาการง่วงซึม ตอบสนองช้า และเสี่ยงต่อการหลับในระหว่างขับรถอยู่ ดังนั้นผู้ขับขี่กลุ่มนี้ ควรปรับตารางนอนในชีวิตประจำวันให้เหมาะสมเพียงพอ หรืออย่างน้อยควรพักผ่อนให้เต็มที่ติดต่อกัน 3-4 วันต่อสัปดาห์ก่อนเดินทาง

3. แวะพักระหว่างทาง

วิธีแก้ง่วง

ในระหว่างขับรถสมองและร่างกายของผู้ขับขี่ต้องทำงานหนักไปพร้อม ๆ กัน ส่งผลให้เกิดอาการเมื่อยล้า อ่อนเพลีย ยิ่งตอนกลางคืนยิ่งเสี่ยงต่ออาการหลับใน ทางที่ดีควรหยุดพักทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง หรือทุก 150 กิโลเมตร เพื่อล้างหน้าล้างตาด้วยน้ำเย็น ยืดเส้นยืดสายให้ร่างกายตื่นตัวตลอดเวลา หรือหากผู้ขับขี่รู้สึกง่วง แนะนำว่าควรตั้งนาฬิกาปลุกแล้วงีบหลับสัก 20-30 นาที วิธีนี้จะช่วยป้องกันการหลับในได้ดีมาก ๆ

4. งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือยาที่มีผลข้างเคียง

          ทั้งก่อนขับรถและขณะเดินทาง ควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดอย่างเด็ดขาด ! เพราะปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายเพียงนิดเดียว นอกจากจะทำให้ความสามารถในการขับขี่ลดลงและผิดกฎหมายแล้ว ยังเกิดอาการง่วงนอนได้ง่ายขึ้น และอาจนำไปสู่การหลับในได้

          นอกจากนี้ควรงดกินยาระงับประสาท ยาแก้ปวด ยาแก้ หรือยาที่ออกฤทธิ์ทำให้ง่วงซึมด้วย อย่างไรก็ตามหากเป็นยารักษาโรคที่ต้องกินเป็นประจำ ให้ขอคำปรึกษากับแพทย์โดยตรง หรือขอปรับยาเป็นตัวที่ไม่มีผลข้างเคียงแทน

5. หลีกเลี่ยงการขับขี่ในช่วงเวลาที่มักเกิดอาการง่วงนอน

ช่วงเวลาที่ผู้ขับขี่มักจะง่วงนอนและเกิดอาการหลับใน ซึ่งควรหลีกเลี่ยง คือ ประมาณเที่ยงคืน ถึง 6 โมงเช้า รวมถึงช่วงหลังบ่าย เพราะเป็นช่วงที่เสี่ยงต่อการง่วงนอนมากกว่าปกติ แต่ถ้าจำเป็นต้องขับขี่ในช่วงเวลาดังกล่าวควรใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ สังเกตอาการตัวเอง หรือแวะพัก หาของขบเคี้ยว หรือเปิดกระจกรถให้อากาศถ่ายเท หากต้องเดินทางคนเดียว

6. พาเพื่อนร่วมเดินทางไปด้วย

วิธีแก้ง่วง

การมีผู้โดยสารร่วมเดินทาง ไม่เพียงแต่จะช่วยพูดคุยกระตุ้นสมองให้ทำงานตลอดเวลาเท่านั้น แต่ยังช่วยจับตาดูการขับขี่ของคุณและเตือนคุณเมื่อมีอาการอ่อนเพลีย อีกทั้งยังสามารถสลับกันขับแบ่งเวลาพักผ่อนได้อีกด้วย

7. กินอาการแก้ง่วง

อาหารบางอย่างช่วยปลุกให้สดชื่นหรือแก้ง่วงระหว่างขับรถได้ เช่น น้ำเปล่า จะช่วยให้ระดับออกซิเจนในเลือดเพิ่มขึ้น ร่างกายเราก็จะรู้สึกตื่นตัวได้ทันที รวมถึงดาร์กช็อกโกแลต ช็อกโกแลต กาแฟ หรือเครื่องดื่มแก้ง่วงที่มีคาเฟอีนสูง, ผลไม้รสเปรี้ยว กระตุ้นประสาทของเราให้ตื่นและเพิ่มความสดชื่นให้ร่างกาย

อาการและสาเหตุของการหลับใน

ภาวะหลับใน หรือ อาการหลับใน คืออะไร ?

ภาวะหลับใน คือ การเผลอหลับเฉียบพลันโดยไม่รู้ตัวในช่วงเวลาสั้น ๆ ประมาณ 1-2 วินาที หรือบางคนอาจเป็นนานกว่านั้น แม้ฟังดูเหมือนแป๊บเดียว แต่ถ้าหากขับรถมาด้วยความเร็ว 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตัวรถสามารถเคลื่อนที่ไปได้ไกลถึง 25 – 50 เมตรเลยทีเดียว ซึ่งอาจนำไปสู่อุบัติเหตุร้ายแรงบนท้องถนนได้

สาเหตุของการหลับใน

สาเหตุหลัก ๆ ของการหลับในมักมาจาก การพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือ นอนน้อย นอกจากนี้ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต ผลข้างเคียงจากการกินยา เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และโรคประจำตัว ก็มีส่วนเพิ่มความเสี่ยงของการหลับในได้เช่นกัน

สัญญาณเตือน หลับใน สังเกตอย่างไร

          เมื่อผู้ขับขี่เกิดอาการง่วงนอนและเสี่ยงต่อการหลับในมักจะแสดงอาการ เช่น หาวบ่อย หรือกระพริบตาบ่อยครั้ง, หนักหนังตา ตาปรือ ลืมตาไม่ขึ้น, ใจลอย จำไม่ได้ว่าผ่านอะไรมาบ้างในระยะที่วิ่งผ่านมา 3-5 กิโลเมตร ไม่ได้ หรือขับรถส่ายไป ส่ายมา ออกนอกเลน และมองข้ามสัญญาณไฟหรือป้ายจราจร เป็นต้น 
          ทั้งหมดนี้ เป็นวิธีแก้ง่วง ป้องกันไม่ให้เผลอวูบหลับระหว่างขับรถ ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมเมื่อต้องขับรถทางไกล เพื่อให้เดินทางถึงที่หมายได้อย่างปลอดภัยไร้อุบัติเหตุ

บทความที่เกี่ยวข้องกับการขับขี่รถยนต์

ขอบคุณข้อมูลจาก : nhtsa.gov และ moph.go.th
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิธีแก้ง่วงตอนขับรถ ป้องกันอาการหลับในขณะขับขี่ อัปเดตล่าสุด 31 มีนาคม 2566 เวลา 13:59:25 93,768 อ่าน
TOP
x close