มิชลิน ไกด์ (Michelin Guide) ที่โด่งดังในวงการอาหารกับการแจกดาว “มิชลิน สตาร์” ซึ่งหลายคนอาจสงสัยว่า ทำไม Michelin แบรนด์ยางรถยนต์ของฝรั่งเศสไปเกี่ยวข้องกับของกินได้อย่างไร ?
ยางรถยนต์ กับ อาหาร ฟังดูแล้วไม่น่าจะมีอะไรเชื่อมโยงของทั้ง 2 สิ่ง ที่เหมือนเส้นขนานให้บรรจบกันได้ นั่นอาจเป็นความสงสัยในใจของใครหลาย ๆ คนว่า ทำไม Michelin แบรนด์ยางรถยนต์ (ของฝรั่งเศส) ถึงสนใจในเรื่องของอาหารและจัดทำ มิชลิน ไกด์ (Michelin Guide) เพื่อแนะนำร้านอาหาร รวมถึงการแจกดาว Michelin Star ทั้งที่ดูเผิน ๆ แล้วไม่น่าจะมีเกี่ยวข้องกันเลย
"หนังสือมิชลิน ไกด์ เกิดจากรากฐานอันถ่อมตัวจากไอเดียเพื่อกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปตามถนนโดยใช้หนังสือแนะนำสีแดงเล็ก ๆ" นี่คือคำอธิบายอย่างคร่าว ๆ ใน Official เว็บไซต์ของ Michelin Guide ประเทศไทย ซึ่งก็ไม่มีอะไรผิดไปจากความเป็นจริง...แต่
สิ่งที่ Michelin Guide ไม่ได้บอกออกมาตรง ๆ (ส่วน Michelin Guide Global ระบุไว้อย่างชัดเจน) ว่าทำไมสองพี่น้องตระกูล Michelin (Édouard Michelin และ André Jules Michelin) ซึ่งขายยางรถยนต์ถึงคิดทำ Michelin Guide ออกมาขายในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เพื่อ “กระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเดินทาง” ด้วยรถยนต์ โดยการแนะนำร้านอาหารอร่อย
นั่นก็คือ “ยิ่งผู้คนเดินทางมากเท่าไร Michelin ก็ขายยางได้มากขึ้นเท่านั้น” ซึ่งเป็นกลยุทธ์การตลาดที่แท้ทรู เพราะสมัยนั้นรถยนต์ในฝรั่งเศสมีไม่มาก ราว 3,000 คัน ต่างจากปัจจุบันที่ใคร ๆ ก็ใช้รถยนต์ การกระตุ้นให้ผู้คนเดินทางมากขึ้น บ่อยขึ้น จึงสำคัญ (ต้องไม่ลืมว่ายางสมัยก่อน ในปี 1900 ไม่ได้ทนทานนานปีเท่ากับปัจจุบัน ลองสังเกตจะเห็นว่ารถโบราณจะมีล้ออะไหล่ เหน็บไว้ด้านข้าง ยิ่งรถใหญ่วิ่งไกล ยิ่งพกเยอะ)
อย่างไรก็ตามการแจกดาวหรือ Michelin Star ของ Michelin Guide นั้นแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ความหมายแตกต่างกัน ดังนี้
- 1 ดาว หมายถึง ร้านอาหารร้านนั้น ๆ ควรค่าแก่การหยุดแวะกรณีเป็นทางผ่าน ยังไม่ใช่ Destination
- 2 ดาว หมายถึง ควรค่าแก่การวิ่งออกนอกเส้นทาง หรือวิ่งอ้อมเพื่อแวะกิน แต่ Michelin Star 2 ดาวนี้ก็ยังไม่ใช่ Destination
- 3 ดาว หมายถึง เลอเลิศ คุ้มค่าที่จะเดินทางมาเพื่อกินยังร้านนี้โดยเฉพาะแบบตั้งใจ เป็น Destination ไม่ใช่แค่อยู่ในทางผ่านหรือออกนอกเส้นทางหลักแบบ 1-2 ดาว พูดง่าย ๆ ว่า “แนะนำ” ให้ขับรถยนต์มาเพื่อกินได้เลย “อร่อยเลิศ”
และทั้งหมดคือที่มาและที่ไปของ Michelin Guide แบบคร่าว ๆ ซึ่งมีอิทธิพลสำหรับวงการอาหารมาก เพราะทำกันอย่างจริงจัง เช่น การส่งนักชิมไปตรวจสอบและประเมินแบบลับ ๆ อย่างไรก็ตาม ร้านอาหารที่ได้ Michelin Star ก็แตกต่างกันตามจำนวน “ดาว” ได้รับ ตามที่ได้กล่าวไปในข้างต้น
ส่วนแนวคิดคล้าย ๆ กันที่ได้รับมาจาก Michelin Guide และคนไทยคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีก็มี เช่น เชลล์ ชวนชิม ซึ่งเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2504 เป็นการตลาดรูปแบบหนึ่งเช่นกัน แค่หลายคนอาจไม่แปลกใจนักเนื่องจากตอนนั้น Shell เริ่มจำหน่ายก๊าซหุงต้มในไทย แต่ส่วนของ Michelin นั้นห่างไกลกับเรื่องในครัวและอาหารมากเหลือเกิน
ภาพจาก Michelin Guide