ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ 2565 หากเกิดอุบัติเหตุแล้วเราเป็นฝ่ายถูกสามารถเรียกร้องได้จากประกันของคู่กรณี กำหนดอัตราเคลมขั้นต่ำไว้ที่ 500 บาทต่อวัน
หากเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน สิ่งหนึ่งที่คนใช้รถต้องทำก็คือติดต่อหาบริษัท ประกันภัยรถยนต์ของตัวเอง เพื่อให้เจ้าหน้าที่มาประเมินความเสียหาย เจรจาไกล่เกลี่ยว่าใครเป็นฝ่ายถูกหรือผิด และออกใบเคลม ซึ่งหลายคนอาจเข้าใจว่าขั้นตอนทุกอย่างจบลงเพียงแค่นี้ แต่จริง ๆ แล้วยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่บริษัทประกันรถยนต์มักไม่ค่อยบอก โดยเฉพาะสำหรับคู่กรณีที่เป็นฝ่ายถูก นั่นคือเรื่อง “ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ”
ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ คือ เงินสินไหมที่ทางบริษัทประกันภัยของผู้ขับขี่ที่เป็นฝ่ายผิดจะมีหน้าที่รับผิดชอบแทนตัวผู้ขับขี่ต่อคู่กรณีที่เป็นฝ่ายถูก ในระหว่างที่รถยนต์ต้องเข้าซ่อม หรือไม่สามารถใช้งานรถยนต์ได้ โดยผู้ที่เป็นฝ่ายถูกสามารถนำบิล ใบเสร็จค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เช่น ค่าแท็กซี่, ค่ารถเมล์ หรือค่ารถไฟฟ้า ในระหว่างที่ใช้งานรถยนต์ไม่ได้ มาทำเรื่องเบิกกับบริษัทประกันของคู่กรณีที่เป็นฝ่ายผิดได้ ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้กำหนดอัตราค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ 2565 ของรถยนต์แต่ละประเภทไว้ ซึ่งหากเราเป็นฝ่ายถูกสามารถเรียกร้องจากประกันภาคสมัครใจ (ประกันชั้น 1-3) ได้ดังนี้
กำหนดอัตราขั้นต่ำเท่าไร ?
1. รถยนต์ส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง กำหนดอัตราไม่น้อยกว่าวันละ 500 บาท
2. รถยนต์รับจ้างสาธารณะขนาดไม่เกิน 7 ที่นั่ง กำหนดอัตราไม่น้อยกว่าวันละ 700 บาท
3. รถยนต์ขนาดเกินกว่า 7 ที่นั่ง กำหนดอัตราไม่น้อยกว่าวันละ 1,000 บาท
4. รถประเภทอื่น ๆ ที่ไม่ได้เป็นไปตามข้อ 1-3 เช่น "รถจักรยานยนต์" ให้เป็นไปตามข้อเรียกร้องและตกลงกันได้ โดยพิจารณาหลักฐานเป็นกรณีไป
- เอกสารใบเคลม
- เอกสารนำรถยนต์เข้าซ่อมที่กำหนดวันส่งรถ-รับรถไว้ชัดเจน
- สำเนาทะเบียนรถยนต์
- สำเนาตารางกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์
- สำเนาบัตรประชาชน
- สำเนาใบขับขี่รถยนต์
- เอกสารประกอบการใช้รถยนต์แต่ละวัน (ถ้ามี)
- ใบเสร็จค่าเช่ารถ หรือค่าใช้จ่ายการเดินทางในระหว่างที่ใช้รถไม่ได้ (ถ้ามี)
- สำเนาหน้าบัญชีธนาคาร
- หนังสือเรียกร้องค่าขาดประโยชน์ระหว่างซ่อมรถ
หมายเหตุ บริษัทประกันภัยบางที่อาจใช้หรือไม่ใช้เอกสารบางอย่าง แต่ในเบื้องต้นควรเตรียมไปให้พร้อมทุกอย่าง จะได้ไม่เป็นการเสียเวลาในการติดต่อดำเนินการ
มีขั้นตอนดำเนินการอย่างไร ?
- แจ้งบริษัทประกันของคู่กรณีที่เป็นฝ่ายผิด เพื่อแจ้งความประสงค์ขอเบิกค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ
- รวบรวมใบเสร็จ เอกสารค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ค่ารถเมล์ ค่ารถแท็กซี่ และค่ารถไฟฟ้า ที่เกิดขึ้นระหว่างที่ใช้งานรถยนต์ไม่ได้ เพื่อเป็นหลักฐานในการขอรับค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ
- จัดเตรียมเอกสารต่าง ๆ ให้เรียบร้อย ตรวจสอบรายละเอียดความถูกต้อง และยื่นเอกสารกับบริษัทประกันภัย
รวบถาม-ตอบหลายประเด็นที่หลายคนสงสัย
ถ้าทำเฉพาะประกันภัย พ.ร.บ. จะเรียกค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถได้ไหม ?
- ประกันภัย พ.ร.บ. คุ้มครองคน ไม่คุ้มครองทรัพย์สิน ดังนั้นจะเรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถไม่ได้
เพราะเหตุใด คปภ. ถึงต้องกำหนดค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถขั้นต่ำ ?
- เพื่ออำนวยความสะดวกให้การเรียกร้องของประชาชนรวดเร็วยิ่งขึ้น และลดปัญหาการร้องเรียน
ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถขั้นต่ำ หมายถึง ?
- ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถที่บริษัทประกันภัยต้องชดใช้เป็นจำนวนไม่น้อยกว่าที่กำหนดขั้นต่ำ เพื่อไม่ให้บริษัทประกันภัยเจรจาจ่ายในจำนวนที่ต่ำเกินไป
ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถอยู่ในกฎหมายใด พ.ร.บ. อะไรและมาตราไหน ?
- ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ลักษณะมูลละเมิด บรรพ 2 (หนี้) > ลักษณะ 5 > หมวด 1 (ความรับผิดเพื่อละเมิด)
รถใช้เวลาในการซ่อมอู่ในเครือบริษัทเป็นเวลาทั้งหมด 107 วัน แต่ได้รับชดเชยเพียง 25 วัน ?
- หลักเกณฑ์การเรียกร้องค่าขาดประโยชน์รถยนต์เกิดจากบริษัทประวิงการซ่อมหรือซ่อมล่าช้าเกินกว่าที่ควรจะเป็นโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร โดยปกติทั่วไปซ่อม 15-30 วัน แต่บริษัทซ่อมล่าช้าหรือส่งอะไหล่ล่าช้า ทำให้การซ่อมเกินเวลาถึง 45 วัน จะเรียกร้องเฉพาะส่วนที่เกินกว่าการสั่งซ่อมจริง แต่หากเป็นฝ่ายถูกสามารถเรียกร้องได้นับแต่วันทำละเมิด หากคิดว่าท่านไม่ได้รับความเป็นธรรมสามารถร้องเรียนได้ที่สำนักงาน คปภ. ทุกจังหวัด
ตัวอย่างแบบฟอร์มคำร้อง
ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถระหว่างซ่อม
อย่างไรก็ตาม การเรียกร้องต้องไม่ลืมว่าค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถสามารถดำเนินการได้สำหรับผู้ที่เป็นฝ่ายถูกเมื่อเกิดอุบัติเหตุเท่านั้น ผู้ที่เป็นฝ่ายผิดไม่สามารถเรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากบริษัทประกันภัยของอีกฝ่ายได้ และหากใครที่แจ้งความประสงค์เรียกร้องค่าขาดประโยชน์จาการใช้รถ แล้วถูกบริษัทประกันภัยบ่ายเบี่ยงหรือปฏิเสธการจ่ายสินไหม สามารถร้องเรียนได้ที่สำนักงาน คปภ.
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : คปภ.